กลัวการเป็นลม เป็นโรคโฟเบียชนิดหนึ่งที่เมื่อนึกถึงการเป็นลม หรือนึกถึงความอ่อนแอของร่างกาย ก็จะเกิดความวิตกกังวลขึ้นมาอย่างไม่มีเหตุผล และไม่สามารถควบคุมได้ หลาย ๆ คนคงสงสัยว่าโฟเบียสุดแปลกนี้คืออะไร วันนี้ Hello คุณหมอ มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ อาการกลัวการเป็นลม มาให้อ่านกันค่ะ
กลัวการเป็นลม (Asthenophobia) คืออะไร
โรคกลัวการเป็นลม หรือ กลัวการอ่อนแรง (Asthenophobia) เป็นอาการโฟเบียชนิดหนึ่ง ผู้ที่เป็นจะรู้สึกกลัวการเป็นลมหรือกลัวการที่ร่างกายอ่อนแออย่างไม่มีเหตุผล สำหรับผู้ที่มีอาการนี้จะเกิดความวิตกกังวลที่สูงมาก ๆ เมื่อพูดถึงเรื่องการเป็นลมหรือนึกถึงเรื่องที่ร่างกายอ่อนแรง ก็จะทำให้เกิดความวิตกกังวลมาก จนเกิดเป็นลมขึ้นมาจริง ๆ บางครั้งก็วิตกกังวลจนพัฒนากลายไปเป็น โรคแพนิค (Panic Attack)
อาการกลัวการเป็นลม มีอะไรบ้าง
อาการกลัวการเป็นลม เป็นโรคโฟเบียชนิดหนึ่ง ที่ยังไม่สามารถหาสาเหตุที่ชัดเจนได้ว่าเกิดขึ้นจากอะไร อาการก็จะมีความคล้ายคลึงกับอาการโฟเบียอื่น ๆ แต่อาการที่โดดเด่นที่สุด คือ ผู้ป่วยมักจะมีความวิตกกังวล ซึ่งความรุนแรงของความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นในผู้ที่มี อาการกลัวการเป็นลม นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ หลายปัจจัย บางคนมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเลยทีเดียว
สำหรับผู้ที่มี อาการกลัวการเป็นลม มักจะไม่เอาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการเป็นลม หรืออยู่ใกล้ ๆ กับตัวกระตุ้นที่ทำให้พวกเขาเป็นลม เช่น การเล่นกีฬาที่ผาดโผน อาการที่พบได้ทั่วไปสำหรับผู้ที่มี อาการกลัวการเป็นลม นั้นมีดังนี้
- อาการวิตกกังวลเมื่อนึกถึงการเป็นลมหรือความอ่อนแอ
- มีอาการหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธการเล่นกีฬาผาดโผนอย่างจริงจัง
- ไม่สามารถควบคุมความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นได้
- กล้ามเนื้อเกร็ง มีอาการสั่นและเหงื่อออก
- อาจมีอาการแพนิค
- ปากแห้ง
- อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มสูงขึ้น
- หายใจถี่หอบ
- ความดันโลหิตสูง
- ปวดหัวไมเกรน
อาการกลัวการเป็นลม รักษาได้หรือไม่
กลัวการเป็นลมก็เหมือนโฟเบียชนิดอื่น ๆ ที่ไม่มีวิธีการรักษาที่เฉพาะเจาะจง แต่ต้องใช้การบำบัดเข้าช่วย สำหรับ อาการกลัวการเป็นลม มีวิธีการบำบัด ดังนี้
การบำบัดความกลัวด้วยการเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัว
วิธีการเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวเป็นรูปแบบการบำบัดที่ใช้สำหรับผู้ที่มีอาการกลัวและวิตกกังวลต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ผู้ป่วยจะต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่ตนเองนั้นเจอ เพื่อเอาชนะความกลัว
การบำบัดด้วยการพูดคุย
การบำบัดด้วยวิธีการพูดคุย เป็นรูปแบบการบำบัดที่ผู้ป่วยจะต้องพูดคุยกับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อหาสาเหตุและทางออก ส่วนใหญ่แล้ววิธีนี้มักจะได้ผลน้อย เพราะต้องอาศัยทักษะและความเชี่ยวชาญของผู้ที่ทำการบำบัด
พฤติกรรมบำบัด
เป็นการบำบัดที่ผู้ป่วยพยายามจะเผชิญหน้ากับความกลัว โดนอาจจะเริ่มจากการดูรูปหรือนึกถึงเหตุการณ์ที่ทำให้กลัว เพื่อที่ผู้ป่วยจะได้เริ่มชินกับสิ่งที่ตนเองกลัว ในขณะเดียวกันแพทย์ก็จะทำการถามคำถามเพื่อพยายามหาเหตุผลและช่วยให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้กับสิ่งที่กลัวได้ดีขึ้น
การบำบัดทางความคิด
การบำบัดทางความคิด เป็นการบำบัดโดยการเปลี่ยนความคิด จิตแพทย์จะทำการบำบัด โดยพยายามให้ผู้ป่วยเริ่มเปลี่ยนความคิด พยายามทำให้พวกเขารับรู้และเข้าใจความกลัวของตัวเอง
[embed-health-tool-bmi]