backup og meta

ไทรอยด์ และโรคต่าง ๆ เกี่ยวกับไทรอยด์

ไทรอยด์ และโรคต่าง ๆ เกี่ยวกับไทรอยด์

ไทรอยด์ เป็นต่อมไร้ท่อที่อยู่บริเวณลำคอ มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเพื่อควบคุมการเผาผลาญพลังงานจากอาหารให้สอดคล้องกับระดับพลังงานที่ร่างกายควรได้รับ ทั้งนี้ เมื่อเป็นโรคบางอย่างหรือเมื่อร่างกายตกอยู่ในภาวะไม่ปกติ เช่น อยู่ในภาวะหลังคลอดบุตร หรือได้รับการฉายแสง อาจส่งผลให้ไทรอยด์ทำงานผิดปกติจนเป็นสาเหตุให้เกิดโรคต่าง ๆ เกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์

[embed-health-tool-bmi]

ไทรอยด์คืออะไร

ไทรอยด์ เป็นต่อมไร้ท่อที่อยู่บริเวณลำคอ หรือข้างใต้ลูกกระเดือก เรื่อยไปจนถึงหลอดลม มีลักษณะคล้ายปีกผีเสื้อแบ่งเป็นสองพูซึ่งเชื่อมกันตรงกลางด้วยส่วนที่เรียกว่าคอคอดหรืออิสมัส (Isthmus) โดยมีน้ำหนักรวมประมาณ 25 กรัม

ไทรอยด์ สำคัญต่อร่างกายอย่างไร

ไทรอยด์ เป็นต่อมไร้ท่อที่มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนไธรอกซิน (Thyroxine หรือ T4) และไธไอโอโดไธโรนีน (Triiodothyronine หรือ T3) เข้าสู่กระแสเลือด เพื่อควบคุมการเผาผลาญพลังงานจากอาหารที่รับประทานให้สอดคล้องกับระดับพลังงานที่ร่างกายต้องการ

ทั้งนี้ การทำงานของไทรอยด์ถูกควบคุมโดยต่อมใต้สมอง (Pituitary Gland) ผ่านฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์ (Thyroid-stimulating Hormone หรือ TSH) ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมไม่ให้ไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนออกมามากหรือน้อยเกินไป จนนำไปสู่ความผิดปกติภายในร่างกาย

นอกจากนั้น ฮอร์โมนไธรอกซินและไธไอโอโดไธโรนีน ยังมีความสำคัญต่อร่างกาย ดังนี้

  • เร่งหรือชะลอการเต้นของหัวใจ
  • เพิ่มหรือลดอุณหภูมิภายในร่างกาย
  • เสริมสร้างพัฒนาการให้สมองส่วนต่าง ๆ
  • ควบคุมการหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อ
  • รักษาความแข็งแรงของผิวหนังและกระดูก

โรคต่าง ๆ เกี่ยวกับ ไทรอยด์

หากต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ทั้งผลิตฮอร์โมนมากเกินไปหรือผลิตฮอร์โมนได้น้อยเกินไปอาจส่งผลกระทบให้เกิดโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ ดังต่อไปนี้

  1. ภาวะไทรอยด์ทำงานมากเกินไป (Hyperthyroidism)

ภาวะไทรอยด์ทำงานมากเกินไป หรือบางครั้งเรียกว่าภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (Thyrotoxicosis) เกิดขึ้นเมื่อต่อมไทรอยด์อักเสบ ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังจากคลอดบุตร หรืออาจเกิดจากต่อมใต้สมองทำงานผิดปกติจนมีเนื้อร้ายเติบโตบริเวณต่อมไทรอยด์ หรืออาจมีสาเหตุมาจากโรคเกรฟส์ (Graves’ Disease) ซึ่งเป็นโรคคอพอกที่แตกต่างจากโรคคอพอกทั่วไป คือ นอกจากผู้ป่วยจะมีอาการคอหอยบวมแล้วยังมีลักษณะตาโปนเพิ่มขึ้นมาด้วย นอกจากนั้น ยังอาจเกิดจากต่อมไทรอยด์อักเสบจากภูมิต้านทานตนเอง

เมื่อไทรอยด์ทำงานมากเกินไปหรือผลิตฮอร์โมนมากเกินไป มักส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ เช่น

  • น้ำหนักลด แม้จะรับประทานอาหารเท่าเดิมหรือมากขึ้น
  • หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ หรือมากกว่า 100 ครั้ง/นาที
  • ฉุนเฉียว วิตกกังวล
  • ตัวสั่น
  • ร่างกายไวต่อความร้อน
  • เหงื่อออกง่าย
  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ
  • เพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ผิวบางลง
  • เส้นผมเปราะ ขาดง่าย
  • คอพอก
  1. ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ (Hypothyroidism)

ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หมายถึง การที่ไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนได้น้อยกว่าความต้องการของร่างกาย โดยเป็นผลมาจากหลายปัจจัย เช่น การใช้ยาลิเทียม (Lithium) การฉายรังสีบริเวณศีรษะหรือคอเพื่อรักษามะเร็ง การผ่าตัดไทรอยด์ออกจากร่างกาย การเป็นโรคไทรอยด์อักเสบเรื้อรังจากภูมิคุ้มกัน (Hashimoto’s Thyroiditis)

โดยทั่วไป ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์มักพบในหญิงวัยกลางคนหรือวัยชรา และมักมีอาการต่าง ๆ ดังนี้

  • ไม่มีแรง
  • ร่างกายไวต่อความเย็น
  • ท้องผูก
  • ผิวแห้ง
  • น้ำหนักขึ้น
  • หน้าบวม
  • คอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น
  • ข้อต่อเจ็บ แข็ง หรือบวม
  • ประจำเดือนมามากผิดปกติ
  • ผมบางลง
  • ซึมเศร้า
  • คอพอก

ทั้งนี้ หากปล่อยไว้โดยไม่รักษา ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์อาจเป็นสาเหตุของภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

นอกจากนี้ หากพบทารกแรกเกิดเป็นภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แล้วไม่รีบรักษา จะส่งผลให้ทารกมีพัฒนาการทางร่างกายและสติปัญญาที่ผิดปกติ เช่น แคระแกร็น ฟันขึ้นช้า พัฒนาการทางสมองช้า ทั้งนี้ ทารกแรกเกิดควรได้รับการตรวจคัดกรองภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ทันทีภายใน 48-72 ชั่วโมงหลังคลอด หากพบอาการผิดปกติจะได้รักษาอย่างทันท่วงที

  1. มะเร็งไทรอยด์

มะเร็งไทรอยด์เป็นความผิดปกติของไทรอยด์ที่พบได้ไม่บ่อย หรือประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ของเนื้องอกทั้งหมดที่พบบริเวณไทรอยด์

ปกติแล้ว มะเร็งไทรอยด์ในระยะแรกเริ่มจะไม่แสดงอาการใด ๆ จนเมื่อมะเร็งโตขึ้น ผู้ป่วยจะสัมผัสได้ถึงเนื้องอกบริเวณลำคอ ซึ่งมักทำให้รู้สึกคับแน่นเมื่อสวมเสื้อมีปกหรือเสื้อที่ต้องติดกระดุมบริเวณลำคอ

นอกจากนี้ อาการอื่น ๆ ได้แก่ เสียงแหบ  กลืนอาหารหรือน้ำลายลำบาก ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอบวม

ทั้งนี้ มะเร็งไทรอยด์มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย อายุระหว่าง 25-65 ปี นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ได้แก่

  • ผู้ที่มีประวัติถูกฉายรังสีขณะเป็นทารกหรือเป็นเด็ก
  • ผู้ที่มีประวัติเคยเป็นคอพอก
  • ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวเคยเป็นโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์

วิธีดูแลตนเองเพื่อป้องกันโรคต่าง ๆ เกี่ยวกับ ไทรอยด์

การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์สามารถทำได้ดังนี้

  • งดสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่มีคุณสมบัติทำให้ระดับฮอร์โมนไธรอกซินในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น และยังลดฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์จากต่อมใต้สมอง
  • รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุอาหารซีลีเนียม (Selenium) เช่น อาหารทะเล เครื่องในสัตว์ เนื่องจากธาตุซีลีเนียมจำเป็นต่อการผลิตฮอร์โมนไธรอกซินและไธไอโอโดไธโรนีน รวมถึงมีคุณสมบัติช่วยปกป้องต่อมไทรอยด์ไม่ให้เสียหายจากภาวะเครียดออกซิเดชัน
  • รับประทานไอโอดีนในปริมาณที่เหมาะสม หรือ 140 ไมโครกรัม/วัน โดยอาหารที่มีไอโอดีนอยู่มาก เช่น อาหารทะเล นม โยเกิร์ต ไข่
  • รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ อย่างเบอร์รี่และผักต่าง ๆ เช่น บลูเบอร์รี่ สตรอว์เบอร์รี่ ผักบุ้ง แครอท ฟักทอง พริกหวาน คะน้า
  • เข้ารับการตรวจสุขภาพต่อมไทรอยด์เป็นประจำทุกปี

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Hypothyroidism (underactive thyroid). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hypothyroidism/symptoms-causes/syc-20350284. Accessed September 27, 2022

Hyperthyroidism (overactive thyroid). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hyperthyroidism/symptoms-causes/syc-20373659. Accessed September 27, 2022

What is thyroid stimulating hormone?.   https://www.yourhormones.info/hormones/thyroid-stimulating-hormone/#:~:text=What%20is%20thyroid%20stimulating%20hormone,cells%20in%20the%20thyroid%20gland. Accessed September 27, 2022

ต่อมไทรอยด์อยู่ที่ไหน. https://il.mahidol.ac.th/e-media/hormone/chapter4/where_thyroid.htm. Accessed September 27, 2022

Your thyroid gland. https://www.btf-thyroid.org/what-is-thyroid-disorder#:~:text=What%20is%20a%20thyroid%20gland,your%20body%20to%20work%20normally. Accessed September 27, 2022

Thyroid Problems. https://www.webmd.com/women/guide/understanding-thyroid-problems-basics. Accessed September 27, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

12/10/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ชนิดของมะเร็งต่อมไทรอยด์ กับสัญญาณเตือนเบื้องต้น

ไฮเปอร์ไทรอยด์ ไทรอยด์ทำงานเกิน อาการ สาเหตุ การรักษา


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 12/10/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา