ต่อมน้ำเหลืองโต คือ ภาวะบวมโตของต่อมน้ำเหลืองภายในร่างกายที่ประกอบด้วยเซลล์เม็ดเลือดขาว มีลักษณะบวมโตขนาดเท่าเมล็ดถั่ว มีผิวสัมผัสนุ่ม อักเสบ บวมแดง โดยอาการต่อมน้ำเหลืองโตมักเป็นสัญญาณเตือนว่าระบบภูมิคุ้มกันกำลังต่อสู้กับเชื้อโรค เชื้อไวรัส แบคทีเรีย
[embed-health-tool-heart-rate]
คำจำกัดความ
ต่อมน้ำเหลืองโต หมายถึงอะไร
ในร่างกายมีต่อมน้ำเหลืองประมาณ 600 ต่อม กระจายตามจุดต่าง ๆ ทั่วร่างกาย ซึ่งต่อมน้ำเหลืองมีหน้าที่ในการต่อสู่กับเชื้อโรค เชื้อไวรัส รวมถึงสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย เมื่อเกิดการติดเชื้ออาจทำให้ต่อมน้ำเหลืองโต ซึ่งสามารถสังเกตพบได้ในบริเวณลำคอ บริเวณขาหนีบ และใต้รักแร้
ต่อมน้ำเหลืองโต พบได้บ่อยแค่ไหน
ต่อมน้ำเหลืองโต อาจพบได้ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในช่วงที่มีภูมิต้านทานร่างกายต่ำ อาจพบได้ในบริเวณหลังใบหู ใต้คาง ใต้รักแร้ และขาหนีบ นอกจากนี้ ต่อมน้ำเหลืองโต เป็นภาวะที่สามารถพบได้ในวัยเด็ก โดยเด็กไทยเกือบร้อยละ 50 อาจพบภาวะต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณคอ แต่เป็นภาวะที่ไม่รุนแรง และสามารถหายเองได้
อาการ
อาการของต่อมน้ำเหลืองโต
อาการของต่อมน้ำเหลืองโต อาจแสดงถึงความผิดปกติบางอย่างในร่างกาย โดยอาจสังเกตอาการได้ดังต่อไปนี้
- ต่อมน้ำเหลืองบวมโต อาจมีขนาดเท่าเมล็ดถั่ว เช่น ถั่วลันเตา ถั่วแดง หรือมีขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร
- บริเวณต่อมน้ำเหลืองโต สัมผัสแล้วรู้สึกอุ่น
- กดแล้วรู้สึกเจ็บ หรือปวดบริเวณต่อมน้ำเหลือง
- มีไข้ เจ็บคอ น้ำมูกไหล
- เหงื่อออกตอนกลางคืน
- ปวดเมื่อยตามร่างกาย
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
ควรไปพบคุณหมอเมื่อไร
หากอาการบวมของต่อมน้ำเหลืองยังไม่ลดลง หรือมีอาการนานกว่า 2 สัปดาห์ รวมถึงต่อมน้ำเหลืองมีขนาดใหญ่กว่า 2 เซนติเมตร ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยเพิ่มเติม
ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดควรปรึกษาคุณหมอ เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์
สาเหตุ
สาเหตุของต่อมน้ำเหลืองโต
สาเหตุของภาวะต่อมน้ำเหลืองโต อาจมีดังนี้
- การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ
- การติดเชื้อ เช่น เชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง เชื้อโมโนนิวคลีโอซิส (Mononucleosis) เป็นเชื้อที่สามารถติดต่อผ่านการจูบ
- การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลิส เกิดจากเชื้อแบคทีเรียทรีโพนีมาพาลลิดัม (Treponema Pallidum) โรคหนองใน เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ไนซีเรีย โกโนเรียอี (Neisseria Gonorrhoeae)
- ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) ภาวะเม็ดเลือดขาวทำงานผิดปกติ จึงไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายได้อย่างปกติ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ภาวะอักเสบเรื้อรังบริเวณเนื้อเยื่อข้อต่อ
- โรคแมวข่วน ติดเชื้อแบคทีเรียจากการถูกแมวที่ติดเชื้อ Bartonella henselae ข่วนหรือกัด
- โรคมะเร็ง เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ที่ก่อกำเนิดในระบบน้ำเหลือง รวมถึงมะเร็งชนิดอื่น ๆ ที่อาจเป็นผลมาจากเซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง
โดยส่วนใหญ่ สาเหตุของต่อมน้ำเหลืองโต อาจเกิดจากการติดเชื้อโดยเฉพาะการติดเชื้อไวรัสโรคหวัด ไซนัสอักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ แต่หากต่อมน้ำเหลืองบวมเป็นเวลานานกว่า 3 สัปดาห์ และเกิดอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้สูง ปวดท้อง ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของต่อมน้ำเหลืองโต
หากต่อมน้ำเหลืองโตจากการติดเชื้อและไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดเป็นฝี หรือหนอง รวมถึงอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ และอีกปัจจัยเสี่ยงที่พบได้น้อยของต่อมน้ำเหลืองโต คือ มะเร็ง เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาว
การวินิจฉัยและการรักษา
การวินิจฉัยและการรักษาต่อมน้ำเหลืองโต
ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ ควรปรึกษาคุณหมอสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยต่อมน้ำเหลืองโต
เมื่อตรวจพบต่อมน้ำเหลืองโต คุณหมออาจวินิจฉัยตามอาการดังต่อไปนี้
- สอบถามประวัติ เช่น ต่อมน้ำเหลืองโตเกิดขึ้นเมื่อใด มีลักษณะรูปร่าง ขนาดเปลี่ยนไปหรือไม่ รวมถึงอาการทางร่างกายอื่น ๆ
- การตรวจเลือด โดยการตรวจนับเม็ดเลือดอย่างสมบูรณ์ (Complete Blood Count หรือ CBC) คือ การตรวจสอบเม็ดเลือดทุกชนิด ได้แก่ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด เพื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์และวินิจฉัย
- การตรวจตัวอย่างต่อมน้ำเหลือง โดยการตัดชิ้นเนื้อตัวอย่างจากต่อมน้ำเหลือง แล้วนำมาตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อหาสาเหตุของต่อมน้ำเหลืองโต
- การทดสอบด้วยภาพ คือการทำ CT Scan หรือ MRI เป็นการฉายภาพเพื่อดูบริเวณที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งการทำ CT Scan หรือ MRI นั้น ภาพที่ได้จะมีรายละเอียดที่ชัดเจนกว่า และคุณหมอสามารถวินิจฉัยข้อมูลเพิ่มเติมได้มากกว่าการเอกซ์เรย์
วิธีรักษาต่อมน้ำเหลืองโต
ต่อมน้ำเหลืองโตอาจเล็กลง หรือหายไปได้เอง อย่างไรก็ตาม การรักษาต่อมน้ำเหลืองโตอาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับแต่ละสาเหตุ โดยอาจมีวิธีการรักษาดังต่อไปนี้
- ใช้ยาต้านไวรัส หรือยาปฏิชีวนะ เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดและอาการอักเสบต่อมน้ำเหลืองโต
- ประคบร้อน อาจใช้ผ้าขนหนูจุ่มในน้ำอุ่น แล้วนำมาประคบบริเวณที่มีอาการเจ็บของต่อมน้ำเหลืองโต
- ดื่มน้ำมาก ๆ อาจช่วยขจัดของเสียและเชื้อโรคออกจากร่างกาย
- พักผ่อนให้เพียงพอ ช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวจากโรค
แต่หากต่อมน้ำเหลืองโตจากการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี หรือโรคมะเร็ง อาจต้องใช้วิธีรักษาเฉพาะ
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตนเอง
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตนเองที่อาจช่วยรับมือกับภาวะต่อมน้ำเหลืองโต
การลดปัจจัยเสี่ยงในการติดเชื้อด้วยวิธีดังต่อไปนี้ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะต่อมน้ำเหลืองโตจากเชื้อไวรัสบางชนิด
- ล้างมือด้วยสบู่เป็นประจำ
- หลีกเลี่ยงการใช้ของร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะของใช้ส่วนตัว
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ เช่น โรคหวัด
- หมั่นทำความสะอาดบ้าน ที่อยู่อาศัย อาจช่วยลดปัจจัยในการเกิดเชื้อโรคต่าง ๆ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายเป็นประจำ อาจช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย