backup og meta

ฟลาโวนอยด์ สุดยอดสารต้านอนุมูลอิสระจากธรรมชาติ ช่วยต้านแก่ ต้านโรค

ฟลาโวนอยด์ สุดยอดสารต้านอนุมูลอิสระจากธรรมชาติ ช่วยต้านแก่ ต้านโรค

อนุมูลอิสระ เป็นอีกหนึ่งตัวการทำลายเซลล์ ทำให้เราแก่ลงทุกวัน ยิ่งร่างกายเรามีอนุมูลอิสระมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งแก่เร็วขึ้น และเสี่ยงเกิดโรคต่างๆ มากขึ้นเท่านั้น แต่วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เราสามารถป้องกันการเกิดอนุมูลอิสระในร่างกายได้ ก็คือ การบริโภคสารอาหารที่มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ “ฟลาโวนอยด์” ที่พบได้ในพืชผักผลไม้หลากหลายชนิด และได้ชื่อว่าเป็น สารต้านอนุมูลอิสระ หรือ แอนตี้ออกซิแดนท์ (Antioxidant) ชั้นเลิศ

ฟลาโวนอยด์ สารจากพืชชั้นเลิศ

ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) เป็นสารพฤกษเคมีในกลุ่มสารประกอบโพลีฟีนอล (Polyphenols) ที่มีคุณสมบัติในการต่อต้านอนุมูลอิสระ มีอยู่ด้วยกันมากกว่า 6,000 ชนิด และสามารถแบ่งเป็นกลุ่มย่อยได้ 6 กลุ่ม ได้แก่

  1. ฟลาโวนอล (Flavonols)
  2. ฟลาวานอล (Flavanols) หรือ ฟลาวาน-3-ออล (Flavan-3-ols)
  3. ฟลาวาโนน (Flavanones)
  4. ฟลาโวน (Flavones)
  5. ไอโซฟลาโวน (Isoflavones)
  6. แอนโทไซยานิดิน (Anthocyanidin)

ฟลาโวนอยด์สามารถพบได้ในผักและผลไม้หลายชนิด ทั้งยังพบในไวน์ ชา ผงโกโก้ และช็อกโกแลตด้วย โดยอาหารแต่ละอย่างก็จะมีฟลาโวนอยด์แต่ละชนิดในความเข้มข้นแตกต่างกันออกไป

แหล่งฟลาโวนอยด์ที่คุณหาได้ง่ายๆ

คุณสามารถเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระอย่างฟลาโวนอยด์ให้กับร่างกายได้ ด้วยการกินอาหารต่อไปนี้

แอปเปิ้ล

ในแอปเปิ้ลอุดมไปด้วยสารฟลาโวนอยด์ที่ชื่อว่า เควอซิทิน (Quercetin) ที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง ภาวะหัวใจวาย โรคต้อกระจก ช่วยป้องกันการเกิดโรคเกาต์ซ้ำ ช่วยควบคุมอาการหอบหืด ทั้งยังบรรเทาอาการกรดไหลย้อนได้ด้วย

ชาเขียว

ชาเขียวมีสารฟลาโวนอยด์สำคัญที่ชื่อว่า เอพิกัลโลคาเทชิน กัลเลต (Epigallocatechin gallate หรือ ECGC) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ทรงพลังกว่าวิตามินซี และวิตามินเอถึง 100 เท่าและ 25 เท่าตามลำดับ ฟลาโวนอยด์ตัวนี้มีคุณสมบัติเด่นในการต่อสู้กับเซลล์มะเร็ง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า สามารถต่อสู้กับเซลล์มะเร็งได้ในทุกระยะ ตั้งแต่ช่วยยับยั้งสารก่อมะเร็ง หรือคาร์ซิโนเจน (Carcinogen) ไปจนถึงช่วยลดการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง

ช็อกโกแลต และผงโกโก้

ผงโกโก้และช็อกโกแลต โดยเฉพาะชนิดเข้มข้น หรือดาร์กช็อกโกแลตอุดมไปด้วยฟลาวานอยด์หลากหลายชนิด ยิ่งช็อกโกแลตเข้มข้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีฟลาโวนอยด์สูงขึ้นเท่านั้น หากคุณอยากกินช็อกโกแลตแบบดีต่อสุขภาพ ได้ฟลาโวนอยด์เต็มที่จริงๆ เราแนะนำให้คุณทำช็อกโกแลตกินเอง ทั้งในรูปแบบช็อกโกแลตแท่ง และช็อกโกแลตร้อน เพราะจะได้ควบคุมปริมาณส่วนประกอบอื่นๆ เช่น น้ำตาล นม ได้เอง ทั้งมีฟลาโวนอยด์มากกว่าและดีต่อสุขภาพกว่าด้วย หรือหากจะเลือกซื้อแบบสำเร็จรูปที่วางขายทั่วไปในท้องตลาด ก็ต้องไม่ลืมอ่านฉลากอาหารให้ดีก่อนซื้อ

ไวน์แดง

ประเทศฝรั่งเศสมีอัตราการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดต่ำกว่าประเทศอื่นที่นิยมบริโภคชีส นม เนย และไขมันอิ่มตัวเหมือนกัน ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าที่เป็นเช่นนี้ เพราะชาวฝรั่งเศสนิยมบริโภคไวน์แดงที่อุดมไปด้วยฟลาโวนอยด์ โดยเฉพาะสารในกลุ่มฟลาวานอลและแอนโทไซยานิดิน ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ แต่หากใครไม่สะดวกดื่มไวน์แดง การดื่มน้ำองุ่นแท้ 100% ก็ให้ฟลาโวนอยด์กับคุณได้เช่นกัน

ทับทิม

ทับทิมอุดมไปด้วยฟลาโวนอยด์หลากหลายชนิด เช่น แอนโทไซยานิน ( Anthocyanins) ฟลาโวนอล (Flavonols) ฟลาวาน-3-ออล (Flavan-3-ols) และหากเป็นน้ำทับทิมและเปลือกทับทิม ก็จะมีแคทิชิน (Catechin) ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้อย่างดี สามารถช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระได้มากกว่าชาเขียวและไวน์แดงถึง 3 เท่า

นอกจากอาหารข้างต้นแล้ว คุณยังสามารถหาฟลาโวนอยด์ได้จากพืช และผลิตภัณฑ์จากพืชอื่นๆ ได้ด้วย เช่น หอมหัวใหญ่ ผักคะน้า มะเขือเทศ ผักกาดขาว ต้นหอม บร็อคโคลี ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ คาโมมายล์ พืชตระกูลส้ม (ส้ม มะนาว เลมอน เกรปฟรุต) รวมถึงธัญพืช และถั่วชนิดต่างๆ (ถั่วเหลือง ถั่วปากอ้า)

ประโยชน์สุขภาพจากฟลาโวนอยด์

ฟลาโวนอยด์ได้ชื่อว่าเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชั้นยอด ที่มีคุณสมบัติต้านการอักเสบ ต้านมะเร็ง ช่วยไม่ให้เลือดจับตัวเป็นก้อนหรือเป็นลิ่ม ทั้งยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบประสาท จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพเรื้อรังได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ภาวะความดันโลหิตสูง โรคที่เกิดจากความเสื่อมของระบบประสาท (เช่น โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์) โรคหอบหืด โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคมะเร็งบางชนิด (เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก) อีกทั้งฟลาโวนอยด์ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการเมตาบอลิซึม การย่อยอาหาร และการดูดซึมสารอาหารด้วย

นอกจากนี้ งานวิจัยชิ้นใหม่ยังพบว่า ฟลาโวนอยด์ยังอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถควบคุมอาการของโรคได้ดีขึ้นด้วย เนื่องจากช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ในอยู่ในเกณฑ์ปกติ และช่วยลดภาวะดื้อต่ออินซูลิน (Insulin resistance) แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ยังต้องศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ด้านนี้เพิ่มเติม

แต่ถึงฟลาโวนอยด์จะขึ้นชื่อว่าเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และมีประโยชน์ต่อร่างกาย เราก็ควรบริโภคอาหารที่มีฟลาโวนอยด์ในปริมาณที่พอเหมาะ เพราะอาหารที่เป็นแหล่งฟลาโวนอยด์บางชนิดก็อาจมีแคลอรี่สูง เช่น ไวน์แดง ช็อกโกแลต หากกินมากไปจะส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ และคุณก็ต้องไม่ลืมกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพอื่นๆ ให้หลากหลาย ออกกำลังกายเป็นประจำด้วย หากใครอยากบริโภคฟลาโวนอยด์ในรูปแบบอาหารเสริม ก็ควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจ หากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม แนะนำให้สอบถามแพทย์หรือเภสัชกรจะปลอดภัยที่สุด

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What Are Flavonoids? Everything You Need to Know. https://www.healthline.com/health/what-are-flavonoids-everything-you-need-to-know#sources. Accessed February 11, 2020

Flavonoids: Antioxidants Help the Mind. https://www.psychologytoday.com/us/articles/200307/flavonoids-antioxidants-help-the-mind. Accessed February 11, 2020

Flavonoids’ Nutritional Benefits. https://www.todaysgeriatricmedicine.com/archive/070113p30.shtml. Accessed February 11, 2020

What Are Flavonoids?. https://www.livescience.com/52524-flavonoids.html. Accessed February 11, 2020

Flavonoids–food sources and health benefits. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/25272572. Accessed February 11, 2020

The truth about flavonoids, chocolate, red wine and diabetes. https://www.diabetesaustralia.com.au/news/13777?type=articles. Accessed February 11, 2020

Flavonoids. https://lpi.oregonstate.edu/mic/dietary-factors/phytochemicals/flavonoids. Accessed February 11, 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

การวางแผน โภชนาการผู้สูงอายุ สำคัญแค่ไหน มาดูกัน!

กระเทียมดำ กับประโยชน์ต่อร่างกาย และข้อควรระวังในการบริโภค


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา