กระเพาะปัสสาวะอักเสบ คือ การติดเชื้อแบคทีเรียที่ทางเดินปัสสาวะ หรืออาจเกิดจากการรับประทานอาหารที่เป็นกรดสูงทำให้เกิดความระคายเคือง ผู้ป่วยควรศึกษาว่า หากมีภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ห้ามกินอะไร เพื่อหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการ หันมารับประทานอาหารที่สมดุลและมาจากธรรมชาติให้มากที่สุด
[embed-health-tool-bmr]
กระเพาะปัสสาวะอักเสบ คืออะไร
กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่ทางเดินปัสสาวะ หรืออาจเกิดจากการรับประทานอาหารที่เป็นกรดสูง ปฏิกิริยาจากยาเคมีบำบัด การฉายรังสี หรือสัมผัสกับสารระคายเคือง เช่น เจลหล่อลื่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิว อาจทำให้มีอาการปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะบ่อยแต่ปริมาณน้อย รู้สึกแสบเมื่อปัสสาวะ เลือดออกเมื่อปัสสาวะ และปัสสาวะมีกลิ่นแรง หากไม่ทำการรักษาเชื้อสามารถแพร่กระจายไปยังไตและอาจทำลายไตได้
กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ห้ามกินอะไร
อาหารบางชนิดอาจมีส่วนกระตุ้นทำให้เกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ ทั้งนี้ อาจเกิดขึ้นกับบางคนเท่านั้น ผู้ที่ประสบปัญหากระเพาะปัสสาวะอักเสบจึงควรจดบันทึกรายการอาหารที่อาจมีส่วนทำให้เกิดอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบ อาหารที่อาจส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ มีดังนี้
- โปรตีน เช่น ถั่วเหลือง เนื้อแปรรูป
- ผลิตภัณฑ์นม เช่น โยเกิร์ต
- ผัก เช่น มะเขือเทศและผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศ ผักดอง พริก มะรุม
- ผลไม้ เช่น สตรอว์เบอร์รี่ สับปะรดและน้ำสับปะรด ส้มและน้ำส้ม เลมอน น้ำแครนเบอร์รี่ เกรพฟรุตและน้ำเกรพฟรุต
- เครื่องปรุงรส เช่น น้ำสมสายชู ซีอิ๊ว น้ำสลัด ซอสมะเขือเทศ
- เครื่องดื่ม เช่น โซดา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม กาแฟและชาทั้งที่มีคาเฟอีนและไม่มีคาเฟอีน
- สารปรุงแต่งหรือสารเติมความหวาน เช่น โมโนโซเดียมกลูตาเมต (Monosodium glutamate) สารให้ความหวานเทียม เช่น ขัณฑสกร (Saccharin)
- อาหารอื่น ๆ เช่น อาหารรสเผ็ด พิซซ่า ช็อคโกแลต
กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ควรกินอะไร
อาหารที่ดีต่อโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ คืออาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่ช่วยรักษาบาดแผล เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน กระตุ้นการส่งสัญญาณของเส้นประสาท และทำให้เลือดไหลเวียนได้ตามปกติ ดังนี้
- โปรตีนไม่ติดมัน เช่น เนื้อแกะ เนื้อหมู เนื้อวัว เนยถั่ว ไข่ ปลา กุ้ง
- ผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำ เช่น นม ชีส โยเกิร์ตไขมันต่ำไม่มีน้ำตาลหรือสารให้ความหวานเทียม
- ผักสดหลากสี เช่น บวบ ผักกาด ผักโขม หัวไชเท้า มันฝรั่ง มันเทศ ถั่ว เห็ด มะเขือ ผักชีฝรั่ง แครอท บรอกโคลี หัวผักกาด หน่อไม้ฝรั่ง อะโวคาโด
- ผลไม้สดที่มีเส้นใยและไม่หวาน หรือเลือกดื่มน้ำผลไม้คั้น 100% เช่น ลูกเกด ลูกพรุน แตงโม บลูเบอร์รี่ กล้วย แอปริคอต
- ธัญพืชเส้นใยสูง เช่น ข้าวซ้อมมือ ข้าวโอ๊ต
- เครื่องปรุงรส เช่น สมุนไพร กระเทียม น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนลา ผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากไขมันทรานส์
- เครื่องดื่ม เช่น น้ำเปล่า เครื่องดื่มธัญพืช
การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันกระเพาะปัสสาวะอักเสบ สามารถทำได้ดังนี้
- ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อล้างแบคทีเรียที่เป็นอันตรายออกจากกระเพาะปัสสาวะ โดยเฉพาะในผู้ที่กำลังรับรักษาเคมีบำบัดหรือการฉายรังสี
- ปัสสาวะบ่อย ๆ หากรู้สึกปวดปัสสาวะให้รีบเข้าห้องน้ำทันทีไม่ควรอั้นไว้
- หลังจากปัสสาวะหรืออุจจาระให้เช็ดอวัยวะเพศจากด้านหน้าไปด้านหลัง เพื่อป้องกันไม่ให้แบคทีเรียบริเวณทวารหนักแพร่กระจายไปยังช่องคลอดและท่อปัสสาวะ
- หลีกเลี่ยงการแช่ในอ่างน้ำ เพราะการแช่น้ำอาจทำให้เชื้อโรคที่สะสมอยู่ในน้ำหรือในอ่างอาบน้ำเข้าสู่ร่างกายทางช่องคลอดหรือท่อปัสสาวะได้
- ล้างผิวหนังบริเวณช่องคลอดและทวารหนักทุกวันอย่างเบามือ ด้วยสบู่สูตรอ่อนโยนปราศจากน้ำหอม และล้างอวัยวะเพศทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์
- หลีกเลี่ยงการใช้สเปรย์ระงับกลิ่นกายหรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ บริเวณอวัยวะเพศ เพราะอาจทำให้ท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะระคายเคืองได้
- สวมกางเกงชั้นในที่ทำจากผ้าฝ้ายโปร่งสบาย ไม่ระคายเคืองผิว และไม่ใส่กางเกงที่รัดแน่นจนเกินไป