ไขมันใต้คาง อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ส่งผลให้มีคางสองชั้น หรือที่นิยมเรียกว่า เหนียง ปรากฏขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม การศึกษาสาเหตุ และวิธี ลดเหนียงใต้คาง ที่ถูกต้อง อาจช่วยกำจัดไขมันใต้คางหรือเหนียงที่เกิดขึ้นได้
[embed-health-tool-bmr]
ไขมันใต้คางหรือเหนียง เกิดจากอะไร
ไขมันใต้คาง อาจเกิดจากไขมันส่วนเกินที่ได้รับจากอาหาร เพราะอาหารบางประเภทมีปริมาณพลังงานหรือแคลอรี่และไขมันสูง เช่น อาหารทอด หากรับประทานมากไป อาจส่งผลให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นและมีไขมันใต้ผิวหนังตามจุดต่าง ๆ ภายในร่างกาย รวมถึงบริเวณใต้คาง จนทำให้เกิดคางสองชั้น หรือที่บางครั้งเรียกว่า เหนียง นั่นเอง
ลดเหนียงใต้คาง กำจัดคางสองชั้น
แม้จะยังไม่มีหลักฐานมากพอยืนยันว่า การออกกำลังกายหรือบริหารใบหน้าอาจช่วยลดเหนียงใต้คางหรือทำให้คางสองชั้นหายไปได้ และอาจใช้ระยะเวลานานกว่าจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง แต่หากออกกำลังกายหรือบริหารใบหน้าด้วยวิธีเหล่านี้เป็นประจำ ก็อาจช่วยให้กล้ามเนื้อดูกระชับขึ้นได้
1. ท่าดันขากรรไกร
- นั่งตัวตรงหน้าตรง จากนั้นแหงนหน้าเรื่อย ๆ จนรู้สึกว่ามองเห็นเพดาน
- ใช้มือดันขากรรไกรให้รู้สึกว่าผิวหนังใต้คางตึง
- ค้างไว้ 10 วินาที แล้วค่อย ๆ ก้มหน้าลงจนหน้าตรง
- ทำซ้ำใหม่อีกครั้ง พร้อมกับสลับด้านซ้าย-ขวา
2. ท่ากดลูกบอลกับคาง
- นั่งตัวตรงหน้าตรง เตรียมลูกบอลขนาดเล็ก 9-10 นิ้ว
- วางลูกบอลไว้ใต้คาง
- กดคางลงกับลูกบอลด้วยแรงพอดี จากนั้นเงยหน้าขึ้นเล็กน้อย แล้วกดลงไปอีกครั้ง
- ทำซ้ำอย่างน้อย 25 ครั้งเป็นประจำทุกวัน
3. ท่ายืดผิวและกล้ามเนื้อกราม
- นั่งตัวตรงหน้าตรง จากนั้นเงยหน้ามองเพดาน
- ทำปากจู๋ให้ปากยื่นไปด้านหน้ามากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อช่วยยืดผิวหนังและกล้ามเนื้อที่หย่อนคล้อยใต้คาง
- ค้างไว้สักครู่ แล้วค่อย ๆ ก้มหน้าลงจนหน้าตรง
4. ท่ายืดขากรรไกร
- นั่งตัวตรงหน้าตรง เอียงศีรษะไปด้านในด้านหนึ่ง
- ยื่นกรรไกรล่างออกไปข้างหน้าจนกว่าจะรู้สึกตึง ค้างไว้ประมาณ 5-10 วินาที แล้วหดขากรรไกรกลับเข้าที่
- ทำซ้ำอีกด้าน
หากผิวหนังและกล้ามเนื้อใต้คางหย่อนคล้อยมาก การบริหารใบหน้าอาจไม่สามารถช่วยทำให้ไขมันใต้คางดูลดลงได้ และอาจต้องใช้การดูดไขมันและการตัดไขมันใต้คาง แต่ควรเข้ารับคำปรึกษาและคำแนะนำจากคุณหมอก่อนตัดสินใจ เพราะเป็นวิธีที่อาจเกิดผลข้างเคียงได้
วิธีป้องกันการเกิดเหนียงใต้คางหรือคางสองชั้น
วิธีเหล่านี้อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดไขมันส่วนเกินสะสมใต้คาง จนอาจทำให้เกิดคางสองชั้น หรือเหนียงใต้คางได้
- รับประทานผักผลไม้ให้ครบทั้ง 3 มื้อต่อวัน
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารแปรรูป
- เลือกรับประทานโปรตีนจากเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน เช่น เนื้อปลา เนื้อไก่
- หลีกเลี่ยงอาหารประเภทของทอด
- ดื่มนม หรือรับประทานผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมไขมันต่ำ
หากปฏิบัติตามวิธีเบื้องต้น ไม่เพียงแต่จะช่วยลดไขมันใต้คางหรือคางสองชั้น แต่ยังอาจช่วยลดไขมันและน้ำหนักส่วนเกินตามจุดอื่น ๆ ของร่างกาย และอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายแรงได้ด้วย