ปัญหาน้ำหนักเกินเกณฑ์อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น พันธุกรรมของคนในครอบครัว ขาดการออกกำลังกาย ความเครียด พฤติกรรมการรับประทานอาหารไม่ดีที่เน้นแต่การรับประทานอาหารไขมัน น้ำตาลและแป้งสูง ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ อย่างไรก็ตาม การลดน้ำหนักอย่างไม่ถูกต้องก็อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพเช่นกัน ดังนั้น หากต้องการ ลดน้ำหนัก 1 เดือน จึงควรศึกษาเทคนิคการลดน้ำหนักอย่างเหมาะสมหรือขอคำแนะนำจากคุณหมอโดยตรง
[embed-health-tool-bmi]
อันตรายต่อสุขภาพจากน้ำหนักเกินเกณฑ์
น้ำหนักเกินเกณฑ์ สังเกตได้จากการมีค่าดัชนีมวลกาย 25-30 ขึ้นไป ไขมันรอบเอวมากกว่า 35 นิ้ว มีพุง มีเหนียง และตัวใหญ่ ซึ่งอาจพัฒนาไปสู่โรคอ้วน อีกทั้งยังอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่ส่งผลกระทบกับสุขภาพได้ ดังนี้
- โรคหัวใจและหลอดเลือด เกิดจากหลอดเลือดตีบหรืออุดตันเนื่องจากไขมันสะสมซึ่งขัดขวางการไหลเวียนของเลือด ส่งผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด อาการหัวใจวาย หรือโรคหลอดเลือดสมอง โดยอาจสังเกตได้จากอาการหัวใจเต้นผิดปกติ ใจสั่น เจ็บหน้าอก มีปัญหาด้านความจำและไม่มีสมาธิ
- โรคเบาหวานชนิดที่ 2 น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นจากการสะสมของไขมันและคอเลสเตอรอลอาจทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลินในการจัดการกับน้ำตาลในเลือด ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นและก่อให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2
- โรคข้อเข่าเสื่อม น้ำหนักที่มากเกินไปอาจทำให้ข้อต่อบริเวณเข่าต้องรองรับน้ำหนักตัวมาก จึงอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อข้อเข่าเสื่อม ข้อต่ออักเสบ โดยอาจสังเกตได้จากอาการปวดบริเวณข้อต่อ โดยเฉพาะขณะเคลื่อนไหวและข้อต่อบวม
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ การมีน้ำหนักตัวมากและไขมันสะสมอาจส่งผลกระทบต่อการหายใจ ทำให้ทางเดินหายใจแคบกว่าปกติ และส่งผลให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โดยสังเกตได้จากอาการนอนกรนอย่างหนัก หายใจลำบากและหายใจไม่เต็มปอด
- อาการโควิด-19 ระดับรุนแรง โรคอ้วนอาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง และส่งผลให้ร่างกายมีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อไวรัสน้อยลง นำไปสู่การเกิดอาการโควิด-19 รุนแรงและอาจฟื้นตัวจากการเจ็บป่วยได้ช้า
- โรคมะเร็ง การมีน้ำหนักตัวมากเป็นเวลานานอาจส่งผลให้ร่างกายมีระดับอินซูลินสูง ที่กระตุ้นให้เซลล์ในร่างกายเจริญเติบโตผิดปกติซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งตับ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งหลอดอาหาร เป็นต้น
เทคนิคการ ลดน้ำหนัก 1 เดือน
เทคนิคการ ลดน้ำหนัก 1 เดือน อาจทำได้ดังนี้
-
การนับแคลอรี่
แคลอรี่ คือ หน่วยวัดพลังงานของอาหาร โดยปกติแล้วผู้หญิงควรได้รับแคลอรี่เฉลี่ยที่ 2,000 กิโลแคลอรี่ต่อวัน และผู้ชายควรได้รับเฉลี่ยที่ 2,500 กิโลแคลอรี่ต่อวัน โดยการนับแคลอรี่และจำกัดปริมาณแคลอรี่ที่ได้รับในแต่ละวันอาจช่วยไม่ให้ร่างกายได้รับแคลอรี่มากเกินไป จึงอาจช่วยในการลดน้ำหนักและควบคุมน้ำหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพ
-
รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
ควรเน้นการรับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี ไขมันดี และโปรตีนลีน เช่น อกไก่ ปลาแซลมอน ไข่ต้ม ผักกาด ผักบุ้ง ผักโขม กะหล่ำปลี ฟักทอง แครอท มะละกอ กล้วย ส้ม แตงโม แก้วมังกร องุ่น แอปเปิ้ล ฝรั่ง ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ อัลมอนด์ ถั่วเหลือง อะโวคาโด และควรเลือกใช้น้ำมันมะกอก น้ำมันเมล็ดทานตะวัน หรือน้ำมันอะโวคาโดในการปรุงอาหารแทนน้ำมันหมูและน้ำมันพืช เนื่องจากเป็นน้ำมันที่ดีต่อสุขภาพ
-
ลดการรับประทานอาหารที่มีแป้ง น้ำตาลและไขมันสูง
การรับประทานอาหารที่มีแป้ง น้ำตาลและไขมันสูงมากเกินไป เช่น ข้าวขาว ขนมปังขาว ข้าวโพด มันฝรั่ง อาหารแปรรูป ของทอด ขนมหวาน ชีส เนย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม น้ำหวาน น้ำผลไม้ รวมถึงการปรุงอาหารด้วยน้ำตาล ซีอิ๊ว น้ำเชื่อมและนมข้นหวาน อาจทำให้ร่างกายได้รับน้ำตาลและไขมันมากเกินไป ซึ่งน้ำตาลส่วนเกินเหล่านี้จะถูกเปลี่ยนเป็นไขมันสะสมตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และส่งผลให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นและเกิดโรคอ้วน ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงหรือจำกัดการรับประทานอาหารเหล่านี้อย่างเหมาะสม
-
เลือกภาชนะรับประทานอาหารขนาดเล็ก
การเลือกใช้ภาชนะขนาดเล็กในการรับประทานอาหารอาจช่วยให้รับประทานอาหารต่อมื้อได้น้อยลง ทำให้สามารถควบคุมปริมาณแคลอรี่ที่ได้รับในแต่ละวันได้ง่ายขึ้น ซึ่งอาจช่วยในการลดน้ำหนัก 1 เดือนได้
-
ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 5 วัน/สัปดาห์ เป็นเวลา 30 นาที ด้วยความเข้มข้นระดับปานกลาง เช่น วิ่งเหยาะ ปั่นจักรยาน เดินเร็ว ว่ายน้ำ รวมไปถึงการออกกำลังกายรูปแบบใช้แรงมากและเน้นลดเป็นสัดส่วน เช่น การออกกำลังกายแบบเอชไอไอที (High-Intensity Interval Training) การคาร์ดิโอ (Cardio Exercise) การออกกำลังกายแบบเวทเทรนนิ่ง ที่อาจช่วยลดไขมันส่วนเกินและช่วยลดน้ำหนัก 1 เดือน อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือมีน้ำหนักตัวมากควรขอคำปรึกษาจากคุณหมอ เพื่อรับแผนการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เพื่อช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุจากการออกำลังกาย
-
ลดความเครียด
ความเครียดอาจกระตุ้นให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ที่อาจทำให้รู้สึกอยากอาหารเพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงควรลดความเครียดด้วยการทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ เช่น วาดรูป ฟังเพลง ดูหนัง เล่นเกม
ข้อควรระวังเกี่ยวกับการลดน้ำหนัก 1 เดือน
หลายคนอาจเข้าใจว่า การลดน้ำหนัก 1 เดือน ต้องอดอาหารเป็นหลัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำมากที่สุด เนื่องจากอาหารในแต่ละมื้อ โดยเฉพาะอาหารมื้อเช้า มีความสำคัญที่ช่วยให้ร่างกายมีพลังงานในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน อีกทั้งการอดอาหารยังอาจทำให้รู้สึกหิวมากขึ้นและอาจส่งผลให้รับประทานอาหารในมื้ออื่น ๆ มากกว่าเดิม ทำให้น้ำหนักตัวไม่ลดลงหรือน้ำหนักเพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงควรรับประทานอาหารให้ครบทุกมื้อ โดยเน้นการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
นอกจากนี้ ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น โรคข้อเข่าเสื่อม โรคขาดสารอาหาร โรคเบาหวาน ควรปรึกษาคุณหมอก่อนเริ่มแผนการลดน้ำหนัก 1 เดือน เนื่องจากการลดน้ำหนักอย่างไม่ถูกต้องอาจส่งผลกระทบต่อโรคที่เป็นอยู่และทำให้อาการรุนแรงขึ้น ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้