backup og meta

กะเพรา สรรพคุณ และคุณค่าทางโภชนาการ

กะเพรา สรรพคุณ และคุณค่าทางโภชนาการ

กะเพรา เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่นิยมใช้นำมาเป็นเครื่องปรุงและส่วนประกอบของอาหารในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์มาตั้งแต่โบราณ และยังเป็นแหล่งแร่ธาตุหลายชนิด ทั้งแคลเซียม วิตามิน เหล็ก แมกนีเซียม โดยมีงานวิจัยหลายชิ้นรองรับว่า กะเพราอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น บรรเทาอาการวิตกกังวล ลดระดับน้ำตาลในเลือด ยับยั้งการขยายตัวของเซลล์มะเร็ง

คุณค่าทางโภชนาการของ กะเพรา

ใบกะเพราประมาณ ¼ ถ้วย ให้พลังงานประมาณ 1.38 กิโลแคลอรี่ และมีสารอาหารต่าง ๆ ดังนี้

  • โปรตีน 0.189 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 0.159 กรัม
  • ใยอาหาร 0.096 กรัม
  • ไขมัน 0.038 กรัม
  • น้ำตาล 0.018 กรัม

นอกจากนี้ กะเพรายังอุดมไปด้วยแร่ธาตุ เช่น แคลเซียม วิตามินเอ วิตามินเค แมงกานีส แมกนีเซียม เหล็ก สังกะสี โพแทสเซียม

ประโยชน์ของกะเพราต่อสุขภาพ

กะเพรา อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพของกะเพรา ดังนี้

  1. อาจช่วยบรรเทาความวิตกกังวลและความเครียด

กะเพราอาจช่วยบรรเทาอาการของโรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder) โดยมีงานวิจัยที่สนับสนุนว่ากะเพราอาจมีฤทธิ์ในการคลายกังวลเทียบเท่ากับยานอนหลับและยาต้านเศร้า

งานวิจัยหนึ่งที่เผยแพร่ในวารสาร Nepal Medical College Journal ปี พ.ศ. 2551 ทำการทดลองเกี่ยวกับประโยชน์ของกะเพราในการลดความวิตกกังวล โดยให้อาสาสมัคร 35 คน (ชาย 21 คน และหญิง 14 คน) รับประทานสารสกัดจากกะเพราขนาด 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้งหลังอาหาร เป็นเวลา 60 วัน พบว่า กะเพราช่วยบรรเทาโรควิตกกังวลทั่วไป รวมถึงความเครียดและอาการซึมเศร้าซึ่งเกิดร่วมกันได้อย่างมีนัยยะสำคัญ

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Journal of Contemporary Dental Practice ปี พ.ศ. 2555 ระบุว่า แม้กะเพราอาจช่วยคลายกังวลได้ แต่มีประสิทธิภาพต่ำกว่าสารอื่น ๆ ที่ใช้คลายกังวล เช่น ยาอัลปราโซแลม (Alprazolam) ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรทำการทดลองเพิ่มเติมเพื่อยืนยันประสิทธิภาพของกะเพราในการลดความเครียดและความวิตกกังวลในมนุษย์

  1. อาจป้องกันมะเร็งได้

กะเพรา อาจช่วยป้องกันมะเร็ง โดยการศึกษาหลายชิ้นระบุว่า สารต่าง ๆ ในกะเพรา เช่น ยูจีนอล (Eugenol) กรดโรสมารินิก ( Rosmarinic acid) อะพิจีนีน (Apigenin) ลูทีโอลิน (Luteolin) เอธานอล (Ethanol) อาจป้องกันโรคมะเร็งปอด มะเร็งปาก และมะเร็งตับได้

งานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร Cancer Lett ปี พ.ศ. 2556 เกี่ยวกับประโยชน์ของกะเพรากับมะเร็งตับอ่อน รายงานว่า สารสกัดต่าง ๆ จากใบกะเพราโดยเฉพาะในส่วนของสารสกัดเอธานอลและน้ำมันหอมระเหยจากกะเพรา อาจมีสรรพคุณยับยั้งการเพิ่มจำนวนและการก่อเนื้องอก ของเซลล์มะเร็งตับอ่อน ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในหลอดทดลองและสัตว์ทดลองเท่านั้น ควรทำการทดลองเพิ่มเติมเพื่อยืนยันประสิทธิภาพของกะเพราในการป้องกันหรือรักษามะเร็ง

  1. ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด

กะเพรา อาจช่วยระดับน้ำตาลในเลือด อันเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวานได้ เนื่องจากมีสารประกอบมากมาย ที่มีคุณสมบัติช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด เช่น โพลีฟีนอล (Polyphenols) กรดคาเฟอิก (Caffeic) และยูจีนอล ซึ่งเป็นสารสำคัญในการลดระดับน้ำตาลในเลือด

ในงานวิจัยเรื่องผลกระทบของผงกะเพราที่มีต่อระดับน้ำตาลในเลือดของหนูทดลองที่เป็นเบาหวาน ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Plant Foods for Human Nutrition ปี พ.ศ. 2540 นักวิจัยได้ให้หนูทดลองกินผงซึ่งทำจากใบกะเพรา เป็นเวลา 1 เดือน เพื่อทดสอบฤทธิ์ของกะเพราต่อระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร ผลปรากฏว่า กะเพราช่วยลดระดับน้ำในเลือดได้อย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรทำการทดลองเพิ่มเติมเพื่อยืนยันประสิทธิภาพของกะเพราในการลดระดับน้ำตาลในเลือดของมนุษย์

  1. อาจช่วยรักษาแผลได้

กะเพรามีสารไซโตไคน์ (Cytokine) ที่เรียกว่า Tumor Necrosis Factor-alpha (TNF-alpha) ซึ่งเป็นสารโปรตีนขนาดเล็กช่วยต่อต้านมะเร็ง ทำหน้าที่เกี่ยวกับการส่งสัญญาณระหว่างเซลล์ และช่วยในการกำจัดเซลล์ที่เสียหายหรือเซลล์ที่ร่างกายไม่ต้องการ นอกจากนี้ การทำงานของ TNF-alpha ยังเกี่ยวเนื่องกับการฟื้นฟูบาดแผล และการต้านทานต่อการติดเชื้อ

ในงานวิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ของเอนไซม์ในกะเพราและการเยียวยาบาดแผล ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Indian Journal of Physiology and Pharmacology ปี พ.ศ. 2549 ระบุว่า สารสกัดจากกะเพราทำให้การหดตัวของบาดแผล รวมถึงการสร้างเยื่อบุผิวบริเวณบาดแผล เป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น เนื่องจากสารสกัดจากกะเพราโดยเฉพาะเอนไซม์ในกะเพราที่สามารถช่วยในการต่อต้านอนุมูลอิสระ นอกจากนี้ สารสกัดจากกะเพราดังกล่าว ยังอาจช่วยสมานให้แผลที่ถูกกดหรือกระแทกฉีกขาดยากขึ้นด้วย

ข้อควรระวังในการบริโภค กะเพรา

ปัจจุบัน ยังไม่มีการวิจัยที่บ่งชี้เกี่ยวกับผลข้างเคียงของการบริโภคกะเพราในทารก เด็ก หญิงตั้งครรภ์ หรือหญิงให้นมบุตร อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตทางวิทยาศาสตร์ว่า การบริโภคกะเพราในปริมาณมาก อาจส่งผลต่อ

  • พัฒนาการของทารกในครรภ์
  • การเป็นประจำเดือน
  • การทำงานของระบบสืบพันธุ์เพศชาย และการมีบุตร

นอกจากนี้ สารยูจีนอลในกะเพรา อาจเป็นสาเหตุของอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย หัวใจเต้นเร็ว รวมถึงตับเสียหาย หากบริโภคกะเพราในปริมาณมากเกินไป ดังนั้น จึงควรรับประทานกะเพราด้วยความระมัดระวัง

[embed-health-tool-bmr]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Effect of Tulasi (Ocimum sanctum) leaf powder supplementation on blood sugar levels, serum lipids and tissue lipids in diabetic rats. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/9198110/. Accessed September 27, 2022.

The Clinical Efficacy and Safety of Tulsi in Humans: A Systematic Review of the Literature. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5376420/. Accessed September 27, 2022.

The ethanolic extract of holy basil leaves (Ocimum sanctum L.) attenuates atherosclerosis in high fat diet fed rabbit. https://ui.adsabs.harvard.edu/abs/2021AIPC.2353c0113R/abstract. Accessed September 27, 2022.

Holy Basil leaf extract decreases tumorigenicity and metastasis of aggressive human pancreatic cancer cells in vitro and in vivo: potential role in therapy. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/23523869/. Accessed September 27, 2022.

Controlled programmed trial of Ocimum sanctum leaf on generalized anxiety disorders. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/19253862/. Accessed September 27, 2022.

The holy basil administration diminishes the NF-kB expression and protects alveolar epithelial cells from pneumonia infection through interferon gamma. https://onlinelibrary.wiley.com/doi/abs/10.1002/ptr.7428. Accessed September 27, 2022.

Efficacy of Ocimum sanctum for relieving stress: a preclinical study. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/23404003/. Accessed September 27, 2022.

Holy Basil Tea: Are There Health Benefits?. https://www.webmd.com/diet/holy-basil-tea-health-benefits. Accessed September 27, 2022.

Evaluation of anti-ulcerogenic and ulcer-healing properties of Ocimum sanctum Linn. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/15234753/. Accessed September 27, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/05/2024

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

5 สมุนไพร แก้เบาหวาน และข้อควรระวังในการบริโภค

สูตรกะเพราหมูสับ เมนูยอดฮิตที่มาพร้อมประโยชน์สุขภาพ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 30/05/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา