backup og meta

ชาอู่หลง ประโยชน์สุขภาพ และข้อควรระวังในการบริโภค

ชาอู่หลง ประโยชน์สุขภาพ และข้อควรระวังในการบริโภค

ชาอู่หลง เป็นชาที่ได้รับความนิยมในทวีปเอเชียหลายประเทศโดยเฉพาะ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน รวมถึงในประเทศไทยด้วย ซึ่งนอกจากกลิ่นหอมๆ ของใบชา อู่หลง แล้ว การดื่มชาอู่หลงเป็นประจำก็ยังมีส่วนช่วยให้สุขภาพดีอีกด้วย วันนี้ Hello คุณหมอ มีประโยชน์ดีๆ ของการดื่มชาอู่หลงมาฝากค่ะ

อู่หลง คืออะไร

อู่หลง หรือ ชาอู่หลง เป็นชาที่ได้มาจากใบของต้นชาซึ่งเป็นต้นชาตระกูลเดียวกับชาเขียวและชาดำ แต่ถึงแม้จะมีต้นกำเนิดมาจากต้นชาแบบเดียวกัน ทว่าชาอู่หลงก็มีความแตกต่างจากชาเขียวและชาดำอย่างชัดเจน นั่นคือเมื่อเก็บใบชาจากต้นชามาแล้ว ใบชาจะต้องถูกนำไปผ่านกระบวนการออกซิเดชั่น (Oxidation) หรือการหมัก ใบชาที่ผ่านกระบวนการหมักอย่างสมบูรณ์จะทำให้ใบชากลายเป็นสีดำ หรือที่เรียกว่าชาดำ ใบชาที่ไม่ผ่านกระบวนการหมัก แต่ใช้วิธีการตากแห้ง การนึ่ง หรืออบไอน้ำ จะเรียกว่าชาเขียว ส่วนใบชาที่มีการหมักแค่เพียงบางส่วนหรือกึ่งหมักจะเรียกว่าชาอู่หลง

ชาอู่หลง ให้สารอาหารสำคัญประเภทสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งมีประโยชน์ต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ช่วยป้องกันเซลล์ต่างๆ ไม่ให้ถูกทำลายจากอนุมูลอิสระ ทั้งยังมีช่วยผ่อนคลายความเครียด หรือความเมื่อยล้าต่างๆ มากไปกว่านั้นเมื่อเทียบกับชาเขียวและชาดำแล้ว พบว่าชาอู่หลงเป็นชาที่ให้สารคาเฟอีน (Caffeine) น้อยที่สุด ซึ่งดีต่อผู้ที่ต้องการจำกัดปริมาณของคาเฟอีนในแต่ละวัน เนื่องจากการรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากๆ อาจมีผลข้างเคียงต่อสุขภาพ เช่น ปวดศีรษะ กระวนกระวาย ใจสั่น นอนไม่หลับ หรือหัวใจเต้นเร็ว

ประโยชน์ของชาอู่หลง

ดีต่อสุขภาพหัวใจ

คอเลสเตอรอลสูงเป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคเรื้อรังอันตรายหลายชนิด โดยเฉพาะโรคหัวใจ จากผลการศึกษาโดยการให้อาสาสมัครทดลอง ดื่มชาอู่หลง อย่างน้อยวันละ 10 ออนซ์ ติดต่อกันเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ พบว่าผู้ทดลองมีระดับคอเลสเตอรอลและความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปกติ การดื่มชาอู่หลงเป็นประจำจึงมีส่วนสำคัญที่จะช่วยลดโอกาสในการเป็นโรคหัวใจได้

ดีต่อการลดน้ำหนัก

การมีระบบเผาผลาญที่ดีถือว่าเป็นแนวทางที่ดีต่อการลดน้ำหนัก เพราะจะไปช่วยในการเผาผลาญไขมันที่สะสมอยู่ในร่างกายออกไป ซึ่งนอกจากการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์จะมีส่วนช่วยเพิ่มการทำงานของระบบเผาผลาญแล้ว การดื่มชาอู่หลงก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบเผาผลาญในร่างกายเช่นกัน เนื่องจากใน ชาอู่หลง มีสารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มโพลิฟีนอล (Polyphenol) ซึ่งเป็นสารอาหารที่ทำหน้าที่ในการกระตุ้นเอนไซม์ให้เผาผลาญไขมันเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานแก่ร่างกาย

ต้านมะเร็ง

ชาเขียว ชาดำ และชาอู่หลง ต่างก็อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มของโพลิฟีนอล ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญที่เพิ่มความแข็งแรงให้กับระบบภูมิคุ้มกัน และป้องกันไม่ให้เซลล์ต่างๆ ถูกทำลายจากอนุมูลอิสระ จากผลการศึกษาพบว่าการดื่มชาเป็นประจำไม่ว่าจะเป็นชาเขียว ชาดำ หรือชาอู่หลง มีส่วนช่วยลดโอกาสในการเป็นมะเร็งมากถึง 15 เปอร์เซ็นต์

ต้านเบาหวาน

ระดับน้ำตาลในเลือดสูง เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่2 จากผลการศึกษาพบว่า สารโพลิฟีนอลมีส่วนช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดที่พุ่งสูงให้ลดลงกลับมาอยู่ในระดับปกติ ซึ่งสามารถช่วยลดโอกาสในการเป็นโรคเบาหวานได้สูงถึง 16 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม ชาอู่หลงไม่สามารถช่วยรักษาอาการเบาหวานให้หายขาดได้ เพียงแต่มีส่วนสำคัญในการช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติเท่านั้น

ดีต่อกระดูกและฟัน

สุขภาพของฟันและกระดูกที่แข็งแรง มาจากการเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูกซึ่งมักจะได้จากสารอาหารสำคัญอย่างแคลเซียม (Calcium) โปรตีน (Protein) ฟลูออไรด์ (Fluoride) อย่างไรก็ตาม การดื่มชาทั้งชาเขียว ชาดำ ชาอู่หลง ถือว่ามีส่วนช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกระดูกและฟันได้ เนื่องจากสารต้านอนุมูลอิสระในใบชามีส่วนเพิ่มความหนาแน่นของกระดูก นอกจากนี้ ชาอู่หลง ยังมีสารฟลูออไรด์ธรรมชาติซึ่งสามารถช่วยเพิ่มความแข็งแรงของฟันได้อีกด้วย

ข้อควรระวัง

  • แม้ว่าชาอู่หลงจะมีปริมาณของคาเฟอีนที่น้อยกว่าชาเขียวและชาดำ อย่างไรก็ตาม ปริมาณคาเฟอีนในชาอู่หลงก็ยังถือว่ามากกว่ากาแฟอยู่ดี ดังนั้นผู้ที่มีอาการแพ้คาเฟอีน หรือต้องการจำกัดปริมาณคาเฟอีนในแต่ละวันควรระมัดระวังการดื่มชาอู่หลง
  • โดยทั่วไปแล้วการดื่มชาถือว่าปลอดภัยและให้คุณค่าทางโภชนาการที่ดีต่อสุขภาพ แต่ไม่ควรดื่มมากจนเกินไป โดยเฉพาะถ้าหากดื่มเกินวันละ 4 แก้ว อาจมีผลข้างเคียงต่อสุขภาพได้ เนื่องจากในใบชามีปริมาณของคาเฟอีนอยู่มาก
  • ชาอู่หลง สามารถช่วยลดโอกาสในการเป็นโรคเบาหวานได้ แต่…ควรดื่มชาแบบธรรมดาที่ไม่เพิ่มความหวาน เนื่องจากอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงแทนที่จะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด

[embed-health-tool-bmr]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

OOLONG TEA. https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-1099/oolong-tea. Accessed on September 21, 2020.

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

23/11/2021

เขียนโดย Khongrit Somchai

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

ชาลาเวนเดอร์ กับสรรพคุณน่ารู้

ประโยชน์สุขภาพจาก ชาดอกชบา ชาดอกไม้ที่มีดีมากกว่าความสวย


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 23/11/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา