นมแพะ เป็นผลิตภัณฑ์นมทางเลือกสำหรับคนรักสุขภาพที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา ในประเทศไทยเองมีนมแพะยี่ห้อต่าง ๆ เพิ่มขึ้น และเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น เพราะสามารถย่อยได้ง่ายกว่านมวัว และโอกาสแพ้ค่อนข้างน้อย นมแพะอุดมไปด้วยคุณค่าทางสารอาหารต่าง ๆ ทั้งแคลเซียม โปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุต่าง ๆ ที่ดีต่อสุขภาพกระดูกและฟัน โดยนมแพะอาจช่วยควบคุมน้ำหนัก บำรุงผิวพรรณ และลดระดับคอเลสเตอรอลได้
[embed-health-tool-bmr]
คุณค่าทางโภชนาการของ นมแพะ
นมแพะ 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 69 กิโลแคลอรี่ และอุดมไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ ดังนี้
- คาร์โบไฮเดรต 4.45 กรัม
- ไขมัน 4.14 กรัม
- โปรตีน 3.56 กรัม
- โพแทสเซียม 204 มิลลิกรัม
- แคลเซียม 134 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 111 มิลลิกรัม
- โซเดียม 50 มิลลิกรัม
- แมกนีเซียม 14 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 1.3 มิลลิกรัม
- ซีลีเนียม (Selenium) 4 ไมโครกรัม
นอกจากนี้ นมแพะ ยังอุดมไปด้วยวิตามินต่าง ๆ เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 6 วิตามินบี 12 วิตามินดี วิตามินอี วิตามินเค
ประโยชน์ของนมแพะต่อสุขภาพ
นมแพะ ประกอบไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติส่งเสริมสุขภาพของนมแพะ ดังนี้
-
อาจช่วยเสริมสร้างกระดูก
นมแพะอุดมไปด้วยแคลเซียม แมกซีเนียม และฟอสฟอรัส ซึ่งมีประสิทธิภาพเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก ลดความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน รวมถึงภาวะกระดูกเสื่อมก่อนวัยอันควร การบริโภคนมแพะจึงอาจช่วยป้องกันภาวะกระดูกเสื่อมและลดความเสี่ยงโรคกระดูกพรุนได้
ผลการวิจัยชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับการทดสอบประสิทธิภาพของนมแพะต่อการป้องกันโรคกระดูกพรุน ในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ตีพิมพ์ในวารสาร Voprosy Pitaniia ปี พ.ศ. 2557 ทำการทดลองโดยแบ่งอาสาสมัครที่ป่วยเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์จำนวน 42 รายออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้รับการบำบัดเพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุนเพียงอย่างเดียว ขณะที่กลุ่มสอง ให้ดื่มนมแพะยี่ห้ออะมัลเทียร์ (Amalthea) วันละ 400 กรัม ร่วมกับการบำบัดเพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน เป็นระยะเวลา 6 เดือน พบว่า อาการเสื่อมสภาพของกระดูกในกลุ่มที่ได้รับการบำบัดร่วมกับดื่มนมแพะนั้นดีขึ้น
สรุปได้ว่า การดื่มนมแพะ อาจมีส่วนช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน ในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้ เนื่องจากแร่ธาตุต่าง ๆ ในน้ำนม
-
อาจช่วยควบคุมน้ำหนัก
นมแพะมีกรดลิโนเลอิก (Linoleic Acid) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยลดไขมันในร่างกาย ปรับระดับน้ำในเลือด และคงมวลร่างกายไม่ให้สูงเกินไป ดังนั้น การบริโภคนมแพะ จึงอาจช่วยควบคุมน้ำหนักไม่ให้สูงเกินไปได้
การศึกษาชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับการบริโภคนมแพะเพื่อป้องกันโรคอ้วนในหนู เผยแพร่ในวารสาร International Journal of Molecular Sciences ปี พ.ศ. 2564 โดยให้สัตว์ทดลองที่เลี้ยงด้วยอาหารไขมันสูงดื่มนมแพะ พบว่า น้ำหนักและมวลไขมันในร่างกายของสัตว์ทดลองลดลง จึงอาจสรุปได้ว่า การบริโภคนมแพะ อาจช่วยลดมวลไขมันและน้ำหนักตัว รวมถึงป้องกันความเสี่ยงไขมันสะสมในตับ
ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของนมแพะในการควบคุมน้ำหนัก
-
อาจช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล
นมแพะมีกรดไขมันอิ่มตัวสายกลาง เช่น กรดลอริก (Lauric acid) กรดไมริสติก (Myristic acid) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยลดการดูดซึมกรดน้ำดีบริเวณลำไส้เล็ก ส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลลดลง การดื่มนมแพะจึงอาจช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายได้
ผลการวิจัยชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับประสิทธิภาพของนมแพะในการช่วยหลั่งน้ำดีและลดคอเลสเตอรอลในเลือด เผยแพร่ในวารสาร Journal of Dairy Science ปี พ.ศ. 2548 ซึ่งทำการทดลองในสัตว์ทดลอง นักวิจัยพบว่า การบริโภคนมแพะ อาจช่วยกระตุ้นการหลั่งคอเลสเตอรอลจากน้ำดี ซึ่งเป็นวิธีกำจัดคอเลสเตอรอลในผนังหลอดเลือดของร่างกายแบบหนึ่ง นอกจากนี้ การบริโภคนมแพะ ยังอาจช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ด้วย
ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของนมแพะในการช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในร่างกาย
-
อาจช่วยบำรุงผิวพรรณ
นมแพะมีโปรตีน กรดไขมันต่าง ๆ ซึ่งช่วยซ่อมแซมชั้นผิวหนัง และวิตามินเอ ซึ่งช่วยกระตุ้นให้เกิดการผลัดเซลล์ผิวหนัง การบริโภคนมแพะ จึงอาจช่วยบำรุงและเสริมสร้างสุขภาพผิวให้แข็งแรง
ผลการศึกษาชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับประโยชน์ทางชีวภาพของโปรตีนในนมต่ออุตสาหกรรมเครื่องสำอางและแพทย์ผิวหนัง เผยแพร่ในวารสาร Molecules ปี พ.ศ. 2564 โดยทำการทดลองในหลอดทดลอง ระบุว่า สารต่าง ๆ ในนมวัว นมแกะ และนมแพะ เช่น โปรตีนเพปไทด์ (Peptide) มักนำมาใช้รักษาอาการทางผิวหนังต่าง ๆ เช่น สิว แผลเรื้อรัง เพราะอาจมีส่วนช่วยกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อผิวหนังใหม่ สรุปได้ว่า โปรตีนในนมอาจมีประโยชน์ต่อการบำรุงผิวพรรณ อย่างไรก็ตาม การศึกษาชิ้นนี้มีข้อสรุปเพิ่มเติมว่า ควรมีการวิจัยและทดลองเกี่ยวกับโปรตีนในนมแต่ละชนิดในมนุษย์ต่อไปโดยไม่มีสารอาหารอื่นมาเจอปนในการทดลอง
ข้อควรระวังในการบริโภค นมแพะ
ในนมแพะ มีน้ำตาลแลคโตส (Lactose) เช่นเดียวกับนมวัว ดังนั้น จึงไม่เหมาะกับผู้แพ้น้ำตาลแลคโตส เพราะอาจทำให้มีอาการแน่นท้อง ท้องอืด คลื่นไส้ หรือท้องเสีย เมื่อบริโภคแลคโตสเข้าสู่ร่างกาย
วิธีบริโภคน้ำนมแพะให้ปลอดภัยและได้รับประโยชน์มากที่สุด คือ เลือกดื่มนมแพะที่ผ่านการพาสเจอไรซ์แล้ว เพราะความร้อนจะทำให้เชื้อโรคถูกทำลาย
การบริโภคนมแพะสด ๆ ที่ยังไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ อาจทำให้ไม่สบาย เนื่องจากแบคทีเรีย แคมไพโลแบคเตอร์ เจจูไน (Campylobacter Jejuni) หรือเชื้อเอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia Coli) ที่เจือปนอยู่ในนมแพะ
สตรีมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร สามารถบริโภคนมแพะได้อย่างปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคในปริมาณมากเกินไป และควรบริโภคอาหารให้หลากหลาย เพื่อบำรุงร่างกายและได้รับปริมาณสารอาหารครบถ้วน