backup og meta

ประโยชน์ของนม แต่ละชนิด มีอะไรบ้าง

ประโยชน์ของนม แต่ละชนิด มีอะไรบ้าง

นมเป็นของเหลวสีขาวที่อุดมไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ ซึ่งได้จากเต้านมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ในประเทศไทย นมที่นิยมบริโภคกันได้แก่ นมวัวและนมแพะ โดย ประโยชน์ของนม แต่ละชนิด คืออาจช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก เสริมสร้างภูมิต้านทาน เพิ่มพลังงาน และอาจช่วยควบคุมน้ำหนัก

[embed-health-tool-bmr]

นม คืออะไร

นมเป็นของเหลวสีขาวที่มักผลิตจากต่อมน้ำนมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เพื่อเป็นอาหารแก่ทารกหรือลูกของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นมอุดมไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ อย่างคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน แร่ธาตุ และวิตามิน

ในประเทศไทย นมของสัตว์ที่นิยมบริโภคกันมีอยู่ 2 อย่าง คือนมวัวและนมแพะ โดยนมวัวจะมีไขมันและให้พลังงานที่ต่ำกว่านมแพะเล็กน้อย ในขณะที่นมแพะมีโปรตีน แร่ธาตุ และวิตามินที่สูงกว่านมวัว

ทั้งนี้ คนไทยยังนิยมดื่มเครื่องดื่มที่เรียกว่า “นม” แต่ไม่ได้มาจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อย่างนมถั่วเหลืองด้วย โดยนมถั่วเหลืองเป็นเครื่องดื่มที่ได้จากการบดถั่วเหลืองแล้วนำไปต้ม จากนั้นกรองเอาแค่ส่วนที่เป็นน้ำนมไว้

สำหรับนมจากพืชอื่น ๆ ที่พบได้ในท้องตลาด ประกอบด้วย นมอัลมอนด์ นมมะพร้าว นมข้าวโพด

ประโยชน์ของนม มีอะไรบ้าง

นม ชนิดต่าง ๆ อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพของนมแต่ละชนิด ดังนี้

อาจมีส่วนช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก

นมวัวและนมแพะ อุดมไปด้วยสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อกระดูก อย่างแคลเซียม ซึ่งมีคุณสมบัติเสริมสร้างความหนาแน่นของกระดูก ลดการสูญเสียมวลกระดูก และช่วยให้กระดูกแข็งแรง

งานวิจัยหนึ่ง เรื่องประโยชน์ของนมวัวต่อสุขภาพกระดูกของมนุษย์ ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients ปี พ.ศ. 2564 ระบุว่า ผู้หญิงมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนสูงกว่าผู้ชาย 2 เท่า และการดื่มนมช่วยเพิ่มมวลกระดูกและลดความเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนได้

ขณะเดียวกัน งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของนมแพะต่อการป้องกันโรคกระดูกพรุน ในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ตีพิมพ์ในวารสาร Voprosy Pitaniia ปี พ.ศ. 2557 นักวิจัยได้ทำการทดลองโดยแบ่งอาสาสมัครที่ป่วยเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์จำนวน 42 รายเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้รับการบำบัดเพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุนเพียงอย่างเดียว ขณะที่อีกกลุ่ม ให้ดื่มนมแพะยี่ห้ออะมัลเทียร์ (Amalthea) วันละ 400 กรัม ร่วมกับการบำบัดเพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน เป็นระยะเวลา 6 เดือน

เมื่อการทดลองสิ้นสุดลง นักวิจัยพบว่า กลุ่มที่ได้รับการบำบัดเพื่อรักษากระดูกเสื่อมร่วมกับดื่มนมแพะนั้นมีสภาพกระดูกดีขึ้น ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า การดื่มนมแพะ อาจช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนได้

อาจช่วยควบคุมน้ำหนัก

นมแพะมีกรดลิโนเลอิก (Linoleic Acid) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยลดไขมันในร่างกาย และคงมวลร่างกายไม่ให้สูงเกินไป ดังนั้น การบริโภคนมแพะ จึงอาจช่วยควบคุมน้ำหนักไม่ให้สูงเกินไปได้

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับการบริโภคนมแพะเพื่อป้องกันโรคอ้วนในหนูทดลอง เผยแพร่ในวารสาร International Journal of Molecular Sciences ปี พ.ศ. 2564 นักวิจัยให้หนูทดลองที่เลี้ยงด้วยอาหารไขมันสูงดื่มนมแพะ และพบว่า น้ำหนักและมวลไขมันในร่างกายของหนูทดลองลดลง ดังนั้น จึงอาจสรุปได้ว่า การบริโภคนมแพะ อาจช่วยลดมวลไขมันและน้ำหนักตัว รวมถึงป้องกันไขมันสะสมในตับได้

ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันถึงประสิทธิภาพของนมแพะในการควบคุมน้ำหนัก

อาจช่วยลดความดันเลือด

การบริโภคนมถั่วเหลืองอาจช่วยให้ความดันเลือดลดลงได้ เพราะสารไอโซฟลาโวน (Isoflavone) ในนมถั่วเหลืองมีคุณสมบัติกระตุ้นการสร้างสารไนตริก ออกไซด์ (Nitric Oxide) ในร่างกาย ซึ่งช่วยขยายหลอดเลือดและทำให้ความดันเลือดลดลง

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติของนมถั่วเหลืองต่อการช่วยลดความดันเลือด ในผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นโรคไต เผยแพร่ในวารสาร Journal of Renal Nutrition ปี พ.ศ. 2556 นักวิจัยให้ผู้ป่วยเบาหวานจำนวน 29 ราย บริโภคอาหารที่ประกอบด้วยนมถั่วเหลือง และอาหารที่ประกอบด้วยนมวัว เป็นเวลา 4 สัปดาห์เท่า ๆ กัน แล้วเปรียบเทียบคุณสมบัติของนมทั้ง 2 ชนิดต่อร่างกาย โดยผลปรากฏว่า การบริโภคนมถั่วเหลืองช่วยลดความดันเลือดของผู้ป่วยเบาหวานได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับการบริโภคนมวัว

ดังนั้น จึงอาจสรุปได้ว่า การดื่มนมถั่วเหลืองอาจช่วยลดความดันเลือดได้

ข้อควรระวังในการบริโภค นม แต่ละชนิด

นม แต่ละชนิด มีข้อควรระวังในการบริโภคดังนี้

นมวัว

  • นมวัวมีน้ำตาลแลคโตส (Lactose) จึงไม่เหมาะกับผู้ที่มีอาการแพ้น้ำตาลแลคโตส เพราะอาจทำให้มีอาการแน่นท้อง ท้องอืด คลื่นไส้ หรือท้องเสีย
  • การดื่มนมวัวอาจเป็นอาจเป็นเหตุให้เด็กมีอาการแพ้อย่างผื่นขึ้น ตัวบวม หายใจลำบาก คลื่นไส้ หรืออาเจียนได้ ทั้งนี้ สาเหตุของอาการแพ้นมวัวมาจากโปรตีนแอลฟา-แลคตัลบูมิน (Alpha-lactalbumin) บีตา-แล็กโตโกลบูลิน (Beta-lactoglobulin) และเคซีน (Casein) ในนมวัว

นมแพะ

  • นมแพะมีน้ำตาลแลคโตส (Lactose) เช่นเดียวกับนมวัว จึงไม่เหมาะกับผู้ที่แพ้น้ำตาลแลคโตสเช่นกัน
  • การดื่มนมแพะสด ๆ อาจทำให้ไม่สบาย เนื่องจากแบคทีเรีย แคมไพโลแบคเตอร์ เจจูไน (Campylobacter Jejuni) หรือเชื้อเอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia Coli) ที่เจือปนอยู่ในนมแพะ ดังนั้น หากต้องการดื่มนมแพะ ควรเลือกดื่มที่พาสเจอร์ไรซ์แล้ว

นมถั่วเหลือง

  • นมถั่วเหลืองอาจเป็นสาเหตุของอาการแพ้ ในผู้ที่แพ้ถั่วลิสงหรือถั่วชนิดออื่น ๆ
  • นมถั่วเหลืองในท้องตลาดมักเป็นสูตรผสมน้ำตาล ดังนั้น จึงควรดื่มในบริโภคที่เหมาะสม หรือเลือกดื่มสูตรที่ไม่ผสมน้ำตาล เพื่อผลประโยชน์สูงสุดต่อสุขภาพ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Milk and Dairy Products: Good or Bad for Human Bone? Practical Dietary Recommendations for the Prevention and Management of Osteoporosis. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC8072827/. Accessed December 14, 2022

[Clinical efficacy instant goat milk in the complex therapy and prevention of osteoporosis in patients with rheumatoid arthritis]. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/25816630/. Accessed December 14, 2022.

Goat’s Milk Intake Prevents Obesity, Hepatic Steatosis and Insulin Resistance in Mice Fed A High-Fat Diet by Reducing Inflammatory Markers and Increasing Energy Expenditure and Mitochondrial Content in Skeletal Muscle. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/32752280/. Accessed December 14, 2022.

Soy milk consumption and blood pressure among type 2 diabetic patients with nephropathy. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/23498346/. Accessed December 14, 2022.

Milk. https://www.hsph.harvard.edu/nutritionsource/milk/. Accessed December 14, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

23/12/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ยาเพิ่มน้ำนม ช่วยกระตุ้นน้ำนมได้อย่างไร และมีอะไรบ้าง

อาการแพ้นมวัว เป็นแบบไหน แตกต่างจากอาการแพ้แลคโตสอย่างไร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 23/12/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา