backup og meta

ปากนกกระจอกขาดวิตามินอะไร ควรรับประทานอาหารแบบไหน

ปากนกกระจอกขาดวิตามินอะไร ควรรับประทานอาหารแบบไหน

ปากนกกระจอกขาดวิตามินอะไร ? โดยทั่วไป นอกจากจะมีสาเหตุจากการติดเชื้อราหรือแบคทีเรียบางชนิดแล้ว ปากนกกระจอกเกิดได้จากการขาดวิตามินบี 2 ซึ่งทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยเสริมสร้างการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน สุขภาพผิวหนัง และเส้นผม หากเป็นปากนกกระจอก ควรรับประทานอาหารประเภทไข่ ผลิตภัณฑ์จากนม เนื้อสัตว์ ผักใบเขียว และธัญพืช เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็นและเพียงพอ

[embed-health-tool-bmi]

ปากนกกระจอก คืออะไร

โรคปากนกกระจอก (Angular Cheilitis) เป็นปัญหาสุขภาพผิวที่เกิดจากผิวหนังอักเสบ ทำให้บริเวณมุมปากมีแผลเปื่อย มีรอยแดง แห้งแตก ลอก คัน หรือบวมร่วมด้วย จนรู้สึกเจ็บ อาจเป็นด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้ง 2 ด้าน ผู้ที่เป็นปากนกกระจอกจะรู้สึกว่าปากแห้งมาก บางครั้งรู้สึกแสบร้อน หรือมีรสชาติแปลก ๆ อยู่ในปาก ในบางรายที่แผลมีอาการรุนแรง เช่น มีเลือดออก อาจทำให้ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ จนถึงขั้นไม่อยากอาหาร ส่งผลให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ หรือน้ำหนักลดลงได้

ปากนกกระจอกขาดวิตามินอะไร

โรคปากนกกระจอกที่มีสาเหตุมาจากการขาดวิตามิน มักเกิดจากร่างกายขาดวิตามินบี 2 ซึ่งเป็นวิตามินที่มีบทบาทในการสร้างพลังงาน ช่วยในการทำงานของเซลล์ ส่งเสริมการเจริญเติบโตและพัฒนาการของร่างกาย การให้นมบุตร การสืบพันธุ์ รวมทั้งช่วยในการเผาผลาญไขมัน ยา และสเตียรอยด์

แหล่งอาหารที่มีวิตามินบี 2

ตัวอย่างอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี 2 มีดังนี้

  • นมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัว เช่น ชีส โยเกิร์ต
  • ไข่
  • เนื้อวัว เนื้อหมู
  • เครื่องในสัตว์ เช่น ตับวัว
  • อกไก่
  • ปลา
  • ผักใบเขียว เช่น ปวยเล้ง หน่อไม้ฝรั่ง คะน้า บรอกโคลี

วิตามินบี 2 เป็นสารอาหารที่พบในแหล่งอาหารที่หลากหลาย จึงควรรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่ครบถ้วน มีสารอาหารทั้ง 5 หมู่ในทุก ๆ มื้อ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่เพียงพอ ป้องกันการเกิดปากนกกระจอก และลดความเสี่ยงของการเกิดปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการขาดวิตามินบี 2 ที่มีตั้งแต่ปัญหาที่ไม่รุนแรง เช่น ปากแห้ง เจ็บคอ ผมร่วง ตาคันและแดง ผื่นผิวหนัง จนไปถึงปัญหาที่รุนแรงขึ้น เช่น โรคเลือดจาง โรคต้อกระจก

สาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เป็นปากนกกระจอก

นอกจากร่างกายขาดวิตามินแล้ว ปากนกกระจอกอาจเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ ได้เช่นกัน เช่น การติดเชื้อราแคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida albicans) ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด เกิดขึ้นเมื่อมีน้ำลายสะสมอยู่ที่มุมปากจนแห้ง ส่งผลให้มุมปากแห้งแตก และเลียมุมปากบ่อยครั้งจนทำให้ผิวหนังที่แห้งแตกมีความชุ่มชื้นและอุ่นจากน้ำลาย ส่งผลให้เชื้อราเจริญเติบโตจนเกิดการติดเชื้อและอักเสบได้

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลให้เกิดโรคปากนกกระจอก อาทิเช่น

  • สวมเหล็กดัดฟัน
  • สวมฟันปลอมที่ไม่พอดี
  • ติดนิสัยเลียริมฝีปากบ่อย ๆ
  • มีน้ำลายเยอะ
  • ชอบดูดนิ้วหัวแม่มือ
  • ฟันเก หรือฟันเรียงตัวกันอย่างไม่ถูกต้องจนทำให้ฟันบนและฟันล่างไม่สบเข้าคู่กันในตำแหน่งที่พอดี
  • ผิวรอบริมฝีปากหย่อนคล้อยจากอายุที่มากขึ้นหรือน้ำหนักลดลง
  • สูบบุหรี่
  • ภาวะสุขภาพ เช่น โรคเลือดจาง โรคมะเร็งเม็ดเลือด โรคมะเร็งไต ตับ ปอด หรือตับอ่อน โรคเบาหวาน โรคดาวน์ซินโดรม การติดเชื้อเอชไอวี (HIV)

ปากนกกระจอก รักษาอย่างไร

วิธีรักษาปากนกกระจอกมักดูตามสาเหตุ โดยวิธีรักษาทั่วไปมีดังนี้

  • รับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 2 เมื่อทราบแล้วว่า ปากนกกระจอกขาดวิตามินอะไร จึงควรเลือกรับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 2 เช่น ธัญพืช เนื้อสัตว์ ตับ ข้าว ผักใบเขียว และควรดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อลดอาการปากแห้งที่ทำให้ต้องเลียริมฝีปากบ่อย ๆ
  • ทายาที่ช่วยรักษาการติดเชื้อ ในกรณีที่เกิดจากเชื้อรา คุณหมอมักให้ใช้ยาฆ่าเชื้อราที่เป็นยาใช้เฉพาะที่ เช่น ไนสแตติน (Nystatin) คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) ไมโคนาโซล (Miconazole) ในกรณีที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มักให้ทายา เช่น มิวพิโรซิน (Mupirocin) กรดฟูซิดิก (Fusidic acid) น้ำยาบ้วนปากที่มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อ อาจช่วยลดปริมาณเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย ลดการอักเสบ และบรรเทาอาการปากนกกระจอกให้หายได้ภายใน 1 สัปดาห์
  • ทายาให้ความชุ่มชื้นบริเวณมุมปาก สำหรับอาการปากนกกระจอกที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อราหรือแบคทีเรีย ให้ทาทาปิโตรเลียมเจลลี่ (Petroleum Jelly) บริเวณมุมปากที่แห้งแตกหรืออักเสบ เพื่อป้องกันริมฝีปากสัมผัสกับความชื้น ช่วยให้แผลสมานได้เร็วขึ้น อาจช่วยให้อาการปากนกกระจอกดีขึ้นได้
  • ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ทำให้ร่างกายมีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลง ส่งผลให้ติดเชื้อบริเวณผิวหนังได้ง่ายขึ้น ดังนั้น หากควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม อาจช่วยให้เมื่ออาการทุเลาลงแล้ว จะไม่กลับมาเป็นปากนกกระจอกซ้ำ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Angular Cheilitis. https://www.webmd.com/oral-health/angular-cheilitis#:~:text=Angular%20cheilitis%20is%20a%20condition,sides%20at%20the%20same%20time. Accessed May 28, 2023

Riboflavin Deficiency. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK470460/#:~:text=Riboflavin%20deficiency%20can%20cause%20fatigue,occur%20along%20with%20reproductive%20issues. Accessed May 28, 2023

Riboflavin – Vitamin B2. https://www.hsph.harvard.edu/nutritionsource/riboflavin-vitamin-b2/. Accessed May 28, 2023

Riboflavin. https://ods.od.nih.gov/factsheets/Riboflavin-HealthProfessional/. Accessed May 28, 2023

Riboflavin. https://medlineplus.gov/ency/article/002411.htm.  Accessed May 28, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

15/06/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ขาดวิตามินบี เกิดจากสาเหตุใด และอาการเป็นอย่างไร

ไรโบฟลาวิน/วิตามินบี 2 (Riboflavin/Vitamin B2)


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 15/06/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา