backup og meta

ฝรั่ง คุณค่าทางโภชนาการ และประโยชน์ต่อสุขภาพ

ฝรั่ง คุณค่าทางโภชนาการ และประโยชน์ต่อสุขภาพ

ฝรั่ง เป็นผลไม้เขตร้อนที่อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ วิตามินซี โพแทสเซียม ไฟเบอร์ ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพในด้านต่าง ๆ เช่น อาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ควบคุมน้ำหนัก ต้านมะเร็ง ทั้งยังช่วยกระตุ้นการขับถ่าย ลดอาการท้องร่วง และอาจช่วยในเรื่องของผิวพรรณได้อีกด้วย

[embed-health-tool-bmi]

คุณค่าทางโภชนาการของฝรั่ง

ฝรั่ง 1 ลูก น้ำหนักประมาณ 100 กรัม ประกอบด้วยคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้

  • แคลอรี่ 68 กิโลแคลอรี่
  • น้ำตาล 8.92 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 14.32 กรัม
  • ไขมัน 0.95 กรัม
  • ไฟเบอร์ 5.4 กรัม
  • โพแทสเซียม 417 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 228.3 มิลลิกรัม
  • วิตามินเอ 624 IU

นอกจากนั้นยังอุดมด้วย วิตามินบี วิตามินอี แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส แคลเซียม และสังกะสี

ประโยชน์ของฝรั่ง

ผลและเมล็ดของฝรั่งสามารถรับประทานเป็นของว่างได้ ส่วนใบอาจนำมาต้มเป็นชาสมุนไพร โดยมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนประโยชน์ในการป้องกันและรักษาโรค และส่งเสริมสุขภาพของฝรั่ง ดังนี้

อาจช่วยลดน้ำหนัก

ฝรั่งอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ วิตามิน และเส้นใยอาหารสูง อาจช่วยลดน้ำหนักได้อย่างปลอดภัยและได้ผลดี ทั้งยังช่วยให้อิ่มนานขึ้น นอกจากนี้ฝรั่งยังไม่มีคอเลสเตอรอล มีคาร์โบไฮเดรตในปริมาณเพียงเล็กน้อย และมีน้ำตาลน้อยกว่าผลไม้ประเภทอื่น ๆ เช่น แอปเปิ้ล ส้ม องุ่น จึงเหมาะที่จะรับประทานเป็นอาหารว่าง เพื่อลดการกินขนมอื่น ๆ ที่ทำให้น้ำหนักขึ้น

การวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine พ.ศ. 2562 ศึกษาเกี่ยวกับอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง ไขมันสูง ที่อาจทำให้เกิดภาวะไขมันพอกตับและภาวะไขมันในเลือดสูงผิดปกติ ซึ่งได้รับการรักษาโดยสารสกัดจากใบฝรั่ง พบว่า สารสกัดจากใบฝรั่งมีสารโพลีฟีนอลที่ออกฤทธิ์ทางชีวภาพหลายชนิด ซึ่งช่วยลดการสะสมของไขมัน ช่วยป้องกันโรคอ้วน ลดการอักเสบและความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชันในตับที่เกิดจากอาหารที่มีไขมันสูงและคาร์โบไฮเดรตสูง จึงอาจกล่าวได้ว่า ฝรั่งมีส่วนช่วยในการป้องกันโรคอ้วน ทั้งนี้ เป็นเพียงการทดลองในสัตว์เท่านั้น ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในมนุษย์ต่อไป

อาจช่วยควบคุมเบาหวาน

ฝรั่งมีปริมาณน้ำตาลน้อยจึงอาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยให้ร่างกายดูดซึมน้ำตาลไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ฝรั่งยังมีดัชนีน้ำตาล (Glycemic Index หรือ GI) 12-24 ซึ่งถือว่าต่ำมากสำหรับผลไม้ ฝรั่งจึงอาจเป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานและผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน การวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Nutrition and Metabolism พ.ศ. 2553 ศึกษาเกี่ยวกับฤทธิ์ต้านน้ำตาลในเลือดสูงและต้านภาวะไขมันในเลือดสูงของสารสกัดจากใบฝรั่ง พบว่า สารสกัดจากใบฝรั่งมีฤทธิ์ต้านน้ำตาลในลือด และปรับปรุงภาวะน้ำตาลในเลือดสูง อินซูลินในเลือดสูง ภาวะไขมันในเลือดต่ำ ป้องกันโรคเบาหวานชนิดที่ 2 นอกจากนั้น ชาจากใบฝรั่งยังอาจมีประโยชน์ในการบำบัดสำหรับการรักษาโรคเรื้องรัง ทั้งนี้ เป็นเพียงการศึกษาในสัตว์เท่านั้น ยังต้องศึกษาเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประโยชน์ของฝรั่งในการควบคุมเบาหวาน 

อาจมีประโยชน์ต่อระบบย่อยอาหาร

ฝรั่งอุดมด้วยใยอาหาร และเมล็ดฝรั่งยังเป็นยาระบาย ด้วยคุณประโยชน์ 2 ประการ  ฝรั่งจึงอาจช่วยกระตุ้นการขับถ่ายและทำให้ลำไส้มีสุขภาพที่ดี นอกจากนี้ สารสกัดจากใบฝรั่งยังอาจเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพทางเดินอาหาร อาจลดความรุนแรงของอาการท้องร่วง จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Malaysian Journal of Medical Sciences พ.ศ. 2542 ศึกษาเกี่ยวกับฤทธิ์ต้านจุลชีพของสารสกัดจากใบฝรั่งที่เป็นกลไกหนึ่งในการออกฤทธิ์ต้านอาการท้องร่วง พบว่า สารสกัดจากใบฝรั่งมีสารฟลาโวนอยด์ ซึ่งออกฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือดในกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ ทั้งยังถูกนำมาใช้ในยาแผนโบราณเพื่อรักษาอาการท้องร่วงอีกด้วย 

อาจช่วยต้านมะเร็ง

ฝรั่งอุดมด้วยวิตามินซี ไลโคปีน (Lycopene) และโพลีฟีนอล ซึ่งทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยในการต่อต้านการติดเชื้อในร่างกาย ทั้งยังอาจมีฤทธ์ต้านมะเร็งและลดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Medicinal Food พ.ศ. 2555 ศึกษาเกี่ยวกับสารสกัดจากใบฝรั่งกระตุ้นฤทธิ์ต้านมะเร็งโดยการยับยั้ง ATK หรือโปรตีนไคเนสบี (Protein Kinase B) ซึ่งมีความเกี่ยวข้อกับการเกิดมะเร็งหลายชนิด พบว่า สารสกัดจากใบฝรั่งเป็นแหล่งสารประกอบที่มีศักยภาพในการป้องกันและรักษามะเร็ง ทั้งนี้ เป็นเพียงการศึกษาในสัตว์ ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันคุณสมบัติของฝรั่งในการต้านมะเร็งต่อไป 

อาจช่วยบำรุงผิวพรรณ

สารต้านอนุมูลอิสระและวิตามินในฝรั่ง เช่น วิตามินเอ วิตามินบี และวิตามินซี อาจช่วยบำรุงผิว ป้องป้องผิวจากความเสียหายและริ้วรอยก่อนวัยอันควร นอกจากนี้สารสกัดจากใบฝรั่งยังมีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค และต้านการอักเสบ ซึ่งช่วยในการรักษาสิว จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน The American Journal of Chinese Medicine พ.ศ. 2548 ศึกษาเกี่ยวกับฤทธิ์ต้านจุลชีพของสารสกัดจากใบฝรั่งและวอลนัท และประสิทธิภาพในการต้านการเกิดสิว โดยมีผู้เข้าร่วมการวิจัย 38 คน พบว่า  สารสกัดจากใบฝรั่งและวอลนัทอาจมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และมีประโยชน์ในการรักษาสิวได้ 

ข้อควรระวังในการรับประทานฝรั่ง

แม้ฝรั่งจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่สำหรับคนบางกลุ่มก็อาจต้องระวังการรับประทานฝรั่ง เช่น

  • ผู้หญิงตั้งครรภ์และในนมบุตร ควรปรึกษาคุณหมอก่อนรับประทานฝรั่ง เพื่อความปลอดภัย
  • ผู้ที่ต้องผ่าตัดหรือทำศัลยกรรม ควรหยุดรับประทานฝรั่งก่อนเข้ารับการผ่าตัดอย่างน้อย 2 สัปดาห์เนื่องจากฝรั่งอาจลดระดับน้ำตาลในเลือด จึงอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการตกเลือด หรือรบกวนการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดทั้งระหว่างและหลังการผ่าตัด
  • ผู้ที่เป็นโรคกลาก สารกัดจากใบฝรั่งมีสารเคมีที่อาจทำให้ผิวหนังระคายเคือง ทั้งยังอาจทำให้อาการของโรคกลากแย่ลง
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ฝรั่งอาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ดังนั้นผู้ป่วยโรคเบาหวานควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอหลังจากรับประทานฝรั่ง เพื่อไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำจนเกินไป

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

GUAVA. https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-1133/guava. Accessed January 31, 2022

What are the health benefits of Guava?. https://www.researchgate.net/post/What_are_the_health_benefits_of_Guava. Accessed January 31, 2022

Guava Fruit Benefits: Amazing Uses Of Guava Leaves. https://pharmeasy.in/blog/guava-fruit-benefits-amazing-uses-of-guava-leaves/. Accessed January 31, 2022

Guava: Health Benefits, Nutrition, & Uses. https://www.organicfacts.net/health-benefits/fruit/health-benefits-of-guava.html. Accessed January 31, 2022

Health Benefits of Guava. https://www.webmd.com/diet/health-benefits-guava. Accessed January 31, 2022

High Carbohydrate High Fat Diet Induced Hepatic Steatosis and Dyslipidemia Were Ameliorated by Psidium guajava Leaf Powder Supplementation in Rats. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6378023/. Accessed January 31, 2022

Anti-hyperglycemic and anti-hyperlipidemic effects of guava leaf extract. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2831039/. Accessed January 31, 2022

Antimicrobial Effects of Psidium Guajava Extract as One Mechanism of its Antidiarrhoeal Action. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3329747/. Accessed January 31, 2022

A hexane fraction of guava Leaves (Psidium guajava L.) induces anticancer activity by suppressing AKT/mammalian target of rapamycin/ribosomal p70 S6 kinase in human prostate cancer cells. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/22280146/. Accessed January 31, 2022

The antimicrobial activities of Psidium guajava and Juglans regia leaf extracts to acne-developing organisms. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/15974479/. Accessed January 31, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

29/05/2024

เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผลไม้บำรุงหัวใจ ประโยชน์ดี ๆ ที่ช่วยให้สุขภาพหัวใจแข็งแรง

ผลไม้ต้านมะเร็ง มีอะไรบ้าง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 29/05/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา