backup og meta

ภูมิแพ้ผิวหนัง กิน วิตามิน อะไร เพื่อบำรุงผิวและบรรเทาอาการ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 3 วันก่อน

    ภูมิแพ้ผิวหนัง กิน วิตามิน อะไร เพื่อบำรุงผิวและบรรเทาอาการ

    ภูมิแพ้ผิวหนัง กิน วิตามิน อะไร เพื่อช่วยบำรุงผิวให้แข็งแรงและลดการอักเสบ คัน ระคายเคือง คำตอบคือ ควรกินอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินต่าง ๆ เช่น วิตามินซี วิตามินดี โดยวิตามินซีมักพบมากในผักตระกูลกะหล่ำ ผลไม้ตระกูลส้ม มะเขือเทศ มะขามป้อม ส่วนวิตามินดีมักพบมากน้ำมันตับปลา ตับวัว ไข่แดง

    ภูมิแพ้ผิวหนัง กิน วิตามิน อะไร

    ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง ควรกินวิตามินวิตามินซีและวิตามินดี สำหรับวิตามินซี ถือเป็นวิตามินที่ช่วยลดการหลั่งฮิสตามีน (Histamine) ซึ่งเป็นสารที่ร่างกายสร้างขึ้นและก่อให้เกิดการอักเสบและอาการภูมิแพ้เพื่อตอบสนองต่อสารแปลกปลอม ในขณะที่วิตามินดีจะช่วยควบคุมการติดเชื้อและลดการอักเสบของผิวหนังได้

    หากร่างกายได้รับวิตามินต่าง ๆ อย่างเพียงพอจากการกินอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินชนิดต่าง ๆ และทาผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่มีส่วนผสมจากวิตามินที่มีประโยชน์ต่อผิวจะช่วยบำรุงผิวให้แข็งแรง และอาจช่วยบรรเทาอาการภูมิแพ้ผิวหนังให้ดีขึ้นได้

    งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 ศึกษาเกี่ยวกับการประเมินประสิทธิผลของวิตามินเสริมในการรักษาโรคภูมิแพ้ผิวหนัง พบว่า วิตามินมีบทบาทสำคัญในการรักษาการทำงานของร่างกายให้เป็นปกติ ตัวอย่างเช่น วิตามินดี โดยเฉพาะวิตามินดี 3 หากร่างกายขาดวิตามินชนิดนี้จะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดปัญหาผิวหนังได้

    นอกจากนี้ วิตามินอื่น ๆ เช่น วิตามินอี วิตามินซี มักถูกนำไปใช้เป็นสารบำรุงผิวเนื่องจากมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ช่วยรักษาสมดุลของผิว นอกจากนี้ วิตามินซียังช่วยเพิ่มการผลิตเซราไมด์ (Ceramide) ซึ่งเป็นน้ำมันตามธรรมชาติ เสริมสร้างเกราะป้องกันผิวให้แข็งแรงยิ่ง ช่วยลดอาการคัน ระคายเคืองผิวและอาการผิวแห้งได้

    อาหารที่มีวิตามินที่ช่วยบำรุงสุขภาพผิว

    แหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่อสุขภาพผิว อาจมีดังนี้

    อาหารที่เป็นแหล่งวิตามินซี

    • ผลไม้ตระกูลซิตรัส หรือตระกูลส้ม เช่น ส้ม มะนาว เลมอน ส้มโอ เกรปฟรุต กีวี่
    • สตรอว์เบอร์รี
    • มะขามป้อม
    • ลิ้นจี่
    • ฝรั่ง
    • พุทรา
    • พริกหวาน
    • มะเขือเทศ
    • ผักตระกูลกะหล่ำ เช่น บรอกโคลี กะหล่ำดาว กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก

    อาหารที่เป็นแหล่งวิตามินดี

    • น้ำมันตับปลา
    • ตับวัว
    • ไข่แดง
    • เห็ด
    • ปลาที่มีไขมันสูง เช่น ปลาทู ปลาทูน่า ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ปลาเรนโบว์เทราต์
    • อาหารที่เติมวิตามินดี เช่น ซีเรียลเสริมวิตามินดี น้ำส้มเสริมวิตามินดี นมเสริมวิตามินดี
    • อาหารเสริมวิตามินดี

    ปริมาณวิตามินที่แนะนำต่อวัน

    นอกจากควรรู้ว่าภูมิแพ้ผิวหนัง กิน วิตามิน อะไร ยังควรทราบถึงปริมาณที่เหมาะสมในการบริโภคต่อวันด้วย โดยปริมาณที่แนะนำของการรับวิตามินแต่ละชนิด อาจมีดังนี้

    • วิตามินซี

    วิตามินซีเป็นสารอาหารที่พบได้ในแหล่งอาหารหลากหลาย หากกินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ ก็จะช่วยให้ร่างกายได้รับวิตามินซีและสารอาหารอื่น ๆ อย่างเพียงพอเพื่อช่วยเสริมสร้างการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้มีประสิทธิภาพและช่วยเสริมสร้าผิวหนังให้แข็งแรง โดยทั่วไป ปริมาณวิตามินซีที่แนะนำในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่อยู่ที่ 90 มิลลิกรัม/วัน ในผู้ชาย และ 75 มิลลิกรัม/วัน ในผู้หญิง สำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับ 85 มิลลิกรัม/วัน และผู้หญิงให้นมบุตรควรได้รับ 120 มิลลิกรัม/วัน ต่อวัน

    สำหรับผู้ที่ต้องการกินวิตามินซีรูปแบบอาหารเสริมเพื่อเสริมสร้างผิวหนังให้แข็งแรง ลดความเสี่ยงของการติดเชื้อและช่วยบรรเทาอาการภูมิแพ้ผิวหนัง ควรกินตั้งแต่ 1,000 มิลลิกรัม/วันขึ้นไป แต่ไม่ควรเกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน หากมากกว่านั้นอาจทำให้ทางเดินอาหารระคายเคืองและท้องเสียได้

    หากกินอาหารที่มีวิตามินดีเป็นประจำ และออกไปรับแสงแดดอ่อน ๆ ซึ่งร่างกายสามารถสังเคราะห์ได้เองตามธรรมชาติในทุกวัน อาจไม่จำเป็นต้องกินอาหารเสริมวิตามินดี โดยทั่วไป ปริมาณวิตามินดีที่แนะนำในแต่ละวันสำหรับคนทั่วไป (อายุ 1-70 ปี) อยู่ที่ 15 ไมโครกรัม หรือ 600 IU/วัน และสำหรับคนอายุ 70 ปีอยู่ที่ 20 ไมโครกรัม หรือ 800 IU/วัน

    ทั้งนี้ หากมีภาวะขาดวิตามินดีซึ่งมักเพิ่มความเสี่ยงทำให้อาการภูมิแพ้ผิวหนังที่เป็นอยู่แย่ลง อาจเลือกไปปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับปริมาณการรับวิตามินดีในรูปแบบอาหารเสริมเพิ่มเติม

    โดยทั่วไป ปริมาณวิตามินดีในรูปแบบอาหารเสริมที่แนะนำอยู่ที่ไม่เกิน 100 ไมโครกรัม หรือ 4,000 IU/วัน โดยวิตามินดีจะช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียมในอาหาร หากได้รับมาเกินไปอาจทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดสูงเกินไปซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 3 วันก่อน

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา