มะเดื่อ เป็นผลไม้ลักษณะกลม แป้นหรือเป็นรูปไข่ เปลือกบาง ผลสุกมีสีเหลือง แดงหรือชมพู รสชาติกลมกล่อม กลิ่นหอมหวาน สามารถรับประทานได้ทั้งแบบสดและแบบแห้ง โดยมะเดื่อนั้นอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่อาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพในด้านต่าง ๆ เช่น ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ดีต่อสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด ดีต่อสุขภาพผิว ปรับปรุงระบบทางเดินอาหาร และอาจช่วยต้านมะเร็งได้
คุณค่าทางโภชนาการของมะเดื่อ
มะเดื่อ ปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 249 กิโลแคลอรี่ และประกอบด้วยสารอาหารต่าง ๆ เช่น
- คาร์โบไฮเดรต 63.87 กรัม
- น้ำตาล 47.92 กรัม
- ไฟเบอร์ 9.8 กรัม
- โปรตีน 3.3 กรัม
- ไขมัน 0.93 กรัม
นอกจากนี้ มะเดื่อยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น วิตามินเอ วิตามินซี แมกนีเซียม แคลเซียม ธาตุเหล็ก โพแทสเซียม โซเดียม
ประโยชน์ของมะเดื่อที่มีต่อสุขภาพ
มะเดื่อมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของมะเดื่อในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้
-
อาจช่วยส่งเสริมสุขภาพทางเดินอาหาร
มะเดื่อเป็นผลไม้ที่อาจช่วยส่งเสริมสุขภาพทางเดินอาหาร ปรับปรุงอาการลำไส้แปรปรวนและช่วยป้องกันอาการท้องผูกได้ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Asia Pacific Journal of Clinical Nutrition เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2559 ศึกษาเกี่ยวกับมะเดื่อและสรรพคุณในการจัดการอาการท้องผูก พบว่า การรับประทานมะเดื่อสามารถใช้รักษาอาการท้องผูก ช่วยในการเคลื่อนไหวของลำไส้ ปรับปรุงลักษณะอุจจาระและความรู้สึกไม่สบายท้อง
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอีกหนึ่งชิ้นที่ตีพิมพ์ในวารสาร Explore เมื่อเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน พ.ศ. 2562 ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของผลมะเดื่อที่มีต่ออาการลำไส้แปรปรวน ซึ่งส่งผลทำให้เกิดอาการท้องผูก พบว่า เมื่อให้ผู้ป่วยที่มีโรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome หรือ IBS) รับประทานมะเดื่อเป็นเวลา 4 เดือน อาการของโรคลำไส้แปรปรวนดีขึ้น อาการปวดท้อง ท้องอืดลดลง ทั้งยังช่วยปรับปรุงความถี่ในการถ่ายอุจจาระและลักษณะของอุจจาระ
-
อาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
สารสกัดในใบมะเดื่ออย่างเอทิลอะซิเตต (Ethyl Acetate) อาจมีคุณสมบัติช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและคอเลสเตอรอลรวม ซึ่งส่งผลต่อการควบคุมโรคเบาหวาน โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Pharmaceutical Biology เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ศึกษาเกี่ยวกับผลของใบมะเดื่อต่อการป้องกันระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด เอนไซม์การเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตและเซลล์ตับอ่อน (β-cells) พบว่า สารสกัดเอทิลอะซิเตตปริมาณ 250 และ 500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จากใบมะเดื่อมีผลอย่างมากต่อเอนไซม์ในการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต ซึ่งส่งผลดีต่อการลดน้ำตาลในเลือดและลดไขมันในเลือด ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของมะเดื่อในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
-
อาจปรับปรุงสุขภาพหลอดเลือดและหัวใจ
สารสกัดเมทานอล (Methanol) ในมะเดื่ออาจช่วยควบคุมความดันโลหิต ระดับไขมันในเลือด ช่วยปรับปรุงสุขภาพของหลอดเลือดและลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Pharmaceutical Biology เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการลดความดันโลหิตของผลมะเดื่อ พบว่า มะเดื่ออาจมีฤทธิ์ที่ส่งผลดีต่อหลอดเลือดและหัวใจ ซึ่งอาจช่วยรักษาความดันโลหิตสูงและโรคหลอดเลือดหัวใจอื่น ๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองได้ โดยสารสกัดเมทานอลที่พบในน้ำของผลมะเดื่อมีฤทธิ์ลดความดันโลหิตสูงที่เกิดจากระดับน้ำตาลในเลือดสูง ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของมะเดื่อในการปรับปรุงสุขภาพหลอดเลือดและหัวใจ
-
อาจส่งเสริมสุขภาพผิว
มะเดื่ออาจมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เช่น สารพอลีฟีนอล (Polyphenols) ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) แอนโทไซยานิน (Anthocyanins) ซึ่งช่วยป้องกันและลดเรือนริ้วรอยบนผิวหนังได้ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Clinical, Cosmetic and Investigational Dermatology เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2558 ศึกษาเกี่ยวกับสารต้านอนุมูลอิสระที่มีผลต่อการยับยั้งการสลายตัวของคอลลาเจนและฤทธิ์ต้านริ้วรอยจากผลไม้ทับทิม แปะก๊วย มะเดื่อและหม่อน พบว่า การผสมสารสกัดจากทับทิม แปะก๊วย มะเดื่อและหม่อน มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยลดการสลายตัวของคอลลาเจนในผิว ทำให้ความลึกและความยาวของริ้วรอยดูตื้นขึ้น
-
อาจช่วยป้องกันมะเร็ง
น้ำยางจากผลมะเดื่ออาจมีคุณสมบัติช่วยต้านการพัฒนาของเซลล์มะเร็ง และป้องกันการเกิดมะเร็งบางชนิด เช่น เนื้องอกสมอง มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Food and Chemical Toxicology เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2551 ศึกษาเกี่ยวกับน้ำยางจากผลมะเดื่อและเซลล์มะเร็ง พบว่า น้ำยางจากผลไม้มะเดื่ออาจมีผลต่อเซลล์มะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งตับ เนื้องอกสมอง โดยการยับยั้งการสังเคราะห์ดีเอ็นเอที่ก่อให้เกิดเซลล์มะเร็ง การทำให้เกิดการตายของเซลล์มะเร็งและการหยุดวงจรของเซลล์มะเร็ง
ข้อควรระวังในการบริโภคมะเดื่อ
มะเดื่อมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย แต่ในบางกรณีมะเดื่ออาจไม่เหมาะสำหรับบางคน ดังนี้
- มะเดื่อมีน้ำยางที่อาจมีสารก่อภูมิแพ้และผู้ที่มีอาการแพ้เกสรดอกไม้ของต้นเบิร์ช (Birch) อาจมีอาการแพ้มะเดื่อได้เช่นกัน โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Clinical & Experimental Allergy เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2553 ศึกษาเกี่ยวกับสารก่อภูมิแพ้ในมะเดื่อและผลไม้ตระกูลขนุน พบว่า มะเดื่อและผลไม้ตระกูลขนุนมีสารก่อภูมิแพ้ที่คล้ายกับที่พบในเกสรดอกไมของต้นเบิร์ช และมีรายงานอาการแพ้หลังการบริโภคมะเดื่อสด
- มะเดื่ออาจมีคุณสมบัติช่วยรักษาอาการท้องผูก ดังนั้น หากรับประทานมะเดื่อมากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการท้องเสียหรือปัญหาทางเดินอาหารอื่น ๆ ได้
- มะเดื่อมีปริมาณน้ำตาลสูง เมื่อรับประทานมากเกินไปอาจทำให้ฟันผุได้
[embed-health-tool-bmr]