backup og meta

ละหุ่ง ประโยชน์ต่อสุขภาพ และข้อควรระวังในการบริโภค

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 07/09/2022

    ละหุ่ง ประโยชน์ต่อสุขภาพ และข้อควรระวังในการบริโภค

    ละหุ่ง (Castor) เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กในวงศ์ยางพารา นิยมนำเมล็ดมาสกัดเป็นน้ำมัน มีฤทธิ์เป็นยาระบาย ช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียและการอักเสบ ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว อาจช่วยรักษาโรคท้องผูก รักษาและบรรเทาอาการปวดข้อเข่า บรรเทาอาการแผลเรื้อรัง และบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อได้

    ประโยชน์ต่อสุขภาพของ ละหุ่ง

    น้ำมันละหุ่ง ปริมาณ 1 ช้อนโต๊ะ ให้พลังงาน 120 กิโลแคลอรี และอุดมไปด้วยสารอาหาร วิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น วิตามินอี กรดไขมันโอเมก้า 6 (Omega-6 Fatty Acid) กรดไขมันโอเมก้า 9 (Omega-9 Fatty Acid) โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพของละหุ่ง ดังนี้

    อาจช่วยบรรเทาอาการท้องผูก

    น้ำมันละหุ่งมีกรดริซิโนเลอิก (Ricinoleic acid) ซึ่งเป็นกรดไขมันที่ออกฤทธิ์เป็นยาระบาย ทั้งยังมีฤทธิ์ร้อนที่ช่วยกระตุ้นกระบวนการย่อยอาหารและการทำงานของลำไส้เล็ก การรับประทานน้ำมันละหุ่งและการนวดหน้าท้องด้วยผ้าชุบน้ำมันละหุ่งอาจช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานดีขึ้น และช่วยบรรเทาอาการท้องผูกได้ นอกจากนี้ ละหุ่งยังถูกนำไปใช้ทำความสะอาดลำไส้ก่อนการวินิจฉัยโรคและการผ่าตัดลำไส้ และช่วยสวนล้างลำไส้ของผู้ป่วยให้สะอาดก่อนรับการผ่าตัดได้ด้วย

    งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Complementary Therapies in Clinical Practice เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ศึกษาเกี่ยวกับการทดสอบประสิทธิภาพของการแพคน้ำมันละหุ่ง (Castor oil pack) เพื่อแก้ท้องผูกในผู้สูงอายุจำนวน 35 คน พบว่า การแพคน้ำมันละหุ่งที่หน้าท้องของผู้สูงอายุ สามารถช่วยบรรเทาอาการที่เกี่ยวข้องกับการท้องผูกได้ โดยกลุ่มตัวอย่างระบุว่า น้ำมันละหุ่งมีส่วนช่วยลดการออกแรงเบ่งขณะอุจจาระ ทั้งยังช่วยให้รู้สึกว่าสามารถขับถ่ายอุจจาระออกไปได้ทั้งหมด โดยที่อุจจาระอ่อนลงและไม่แข็งกระด้างเท่าเดิม โดยทั่วไป การแพคน้ำมันละหุ่ง คือ การใช้ผ้าชุบน้ำมันละหุ่งให้ชุ่มแล้วนำมาวางบนหน้าท้อง จากนั้นนำพลาสติกใสมาหุ้มไว้กันน้ำมันเปื้อน ก่อนจะวางผ้าสะอาดทับอีกชั้นแล้ววางกระเป๋าน้ำร้อนไว้บนผ้า ทิ้งไว้ประมาณ 45-60 นาที

    อาจช่วยรักษาแผลเรื้อรัง

    สารสกัดน้ำมันละหุ่งสามารถช่วยลดความแห้งกร้าน ป้องกันการสูญเสียน้ำ ช่วยคงความชุ่มชื้นให้ผิว และบรรเทาอาการคันที่เกิดจากผิวแห้งได้ ทั้งนี้ น้ำมันละหุ่งมีลักษณะเหนียวข้นมาก หากต้องการใช้กับผิวหน้าควรใช้ร่วมกับน้ำมันธรรมชาติอื่น ๆ เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอก

    งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Wound Ostomy & Continence Nursing เมื่อเดือนมีนาคม-เมษายน พ.ศ. 2556 ศึกษาเกี่ยวกับการรักษาแผลเรื้อรังของผู้ป่วยที่แผลยังไม่ปิด โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ชายอายุ 81 ปีที่มีแผลเรื้อรังจากการผ่าตัดช่องท้องและมีอาการคันต่อเนื่องจนต้องแกะเกาแผล ส่งผลให้ผิวหนังไม่ปิดสนิท พบว่า การใช้สเปรย์ฉีดแผลที่มีสารสกัดจากธรรมชาติที่ออกฤทธิ์เยียวยาแผลด้วยการผลัดเซลล์ผิวที่ถูกทำลาย กระตุ้นการไหลเวียนเลือดเฉพาะที่ ออกฤทธิ์ต้านจุลชีพ และแก้ปวดเฉพาะที่ เช่น ขี้ผึ้งยาเปรู (Balsam of Peru) ทริปซิน (Trypsin) และน้ำมันละหุ่ง มีส่วนช่วยให้แผลของผู้ป่วยสมานกันภายใน 38 วันหลังใช้ยา จึงอาจสรุปได้ว่า น้ำมันละหุ่งมีส่วนช่วยรักษาแผลเรื้อรังที่หายช้าได้

    อาจออกฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย

    ละหุ่งมีเลคติน (Lectin) ซึ่งมีคุณสมบัติต้านแบคทีเรีย ต้านจุลชีพ ต้านอนุมูลอิสระ และต้านอักเสบ ซึ่งอาจช่วยป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด เช่น เชื้อสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) ที่เป็นแบคทีเรียก่อโรคอาหารเป็นพิษ ฝี แผลพุพอง และการติดเชื้อหลังการผ่าตัด เชื้อเอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia coli) ที่เป็นแบคทีเรียก่อโรคในระบบทางเดินอาหาร เชื้อซูโดโมแนส แอรูจิโนซา (Pseudomonas aeruginosa) ที่เป็นเชื้อฉวยโอกาสและทำให้เกิดการติดเชื้อ

    งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร BMC Complementary Medicine and Therapies เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2559 ศึกษาเกี่ยวกับการประเมินฤทธิ์ต้านแบคทีเรียและต้านการเพิ่มจำนวนเซลล์ของสารสกัดโปรตีนรวมจากเมล็ดละหุ่ง พบว่า สารสกัดโปรตีนรวมจากเมล็ดละหุ่งมีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียก่อโรคหลายชนิด เช่น เชื้อสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส เชื้อเอสเชอริเชีย โคไล เชื้อซูโดโมแนส แอรูจิโนซา อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการทดลองในสัตว์ จึงควรศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์ต่อไปเพื่อยืนยันประสิทธิภาพในการต้านแบคทีเรียของละหุ่ง

    อาจช่วยบรรเทาอาการปวด

    น้ำมันละหุ่งมีกรดริซิโนเลอิกซึ่งมีคุณสมบัติช่วยขยายหลอดเลือดและเพิ่มการไหลเวียนเลือด เมื่อเลือดไหลเวียนดีขึ้นจะทำให้ลำเลียงออกซิเจนและสารอาหารไปยังเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อได้มากขึ้นตามไปด้วย จึงอาจช่วยลดการอักเสบและบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อได้ เช่น อาการปวดท้องและกล้ามเนื้อในช่วงที่เป็นประจำเดือน อาการปวดบริเวณข้อต่อของร่างกาย

    งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of Innovative Research เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2558 ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการประครบร้อนและการนวดน้ำมันละหุ่งกับอาการปวดข้อเข่าในผู้หญิง โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้หญิงอายุ 30-60 ปี จำนวน 50 คน พบว่า การประคบร้อนแล้วนวดด้วยน้ำมันละหุ่ง ช่วยบรรเทาอาการปวดบริเวณข้อเข่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    ข้อควรระวังในการบริโภค ละหุ่ง

    ข้อควรระวังในการบริโภคละหุ่ง อาจมีดังนี้

    • ไม่ควรรับประทานละหุ่งเพื่อเป็นยาระบายบรรเทาอาการท้องผูกติดต่อกันเกิน 7 วัน เพราะอาจมีผลข้างเคียงจากการใช้ยาเกินขนาด โดยทั่วไปอาจใช้เวลา 6-12 ชั่วโมงกว่าละหุ่งจะออกฤทธิ์เต็มที่ หากใช้ละหุ่งบรรเทาอาการท้องผูกแล้วอาการไม่ดีขึ้น อาการท้องผูกแย่ลง หรือมีเลือดออกจากทวารหนัก ควรไปพบคุณหมอทันที
    • การบริโภคละหุ่งและการทาละหุ่งที่ผิวหนังอาจทำให้เกิดอาการแพ้ เช่น มีผื่นผิวหนัง คันผิวหนัง ผิวหนังบวม ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย อ่อนเพลีย หัวใจเต้นผิดจังหวะ ถ่ายปัสสาวะน้อย สับสน หากอาการแพ้เริ่มแย่ลง ควรไปรีบไปพบคุณหมอโดยเร็วที่สุด
    • ผู้ที่มีโรคผิวหนัง เช่น โรคผิวหนังอักเสบ ควรปรึกษาหมอผิวหนังหรือเภสัชกรก่อนใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวจากละหุ่ง เพราะอาจทำให้ผิวที่บอบบางระคายเคืองได้
    • ควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์จากละหุ่งที่ผิวหนังบริเวณใกล้ดวงตา เนื่องจากอาจระคายเคืองตาได้
    • น้ำมันละหุ่งมีฤทธิ์กระตุ้นการบีบรัดตัวของกล้ามเนื้อ การใช้น้ำมันละหุ่งในปริมาณมากจึงอาจไปกระตุ้นให้มีการคลอดก่อนกำหนด และอาจทำให้มดลูกบีบตัวผิดปกติจนสร้างความเครียดให้กับแม่และทารกในครรภ์ได้ ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่ยังไม่ถึงกำหนดคลอดจึงควรหลีกเลี่ยงการบริโภคละหุ่งขณะตั้งครรภ์รวมถึงในช่วงให้นมบุตร เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานที่เพียงพอเกี่ยวกับความปลอดภัยในการบริโภคละหุ่งขณะให้นมบุตร

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 07/09/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา