backup og meta

ลูกหม่อน ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 07/09/2023

    ลูกหม่อน ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

    ลูกหม่อน หรือบางครั้งเรียกแบบทับศัพท์ว่า มัลเบอร์รี่ (Mulberry) เป็นผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นผลเล็ก ๆ เป็นพวง มีสีแดงหรือม่วงแดง แต่เมื่อแก่จัดจะเป็นสีม่วงดำหรือดำ ให้รสชาติหวานอมเปรี้ยว นิยมรับประทานสดและนำมาแปรรูปเป็นขนม แยม และน้ำผลไม้

    โดยลูกหม่อนมีสารอาหาร วิตามิน แร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น โพแทสเซียม วิตามินเอ วิตามินซี เบตาแคโรทีน (Beta Carotene) ที่อาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ลดคอเลสเตอรอล บำรุงสมอง และป้องกันโรคมะเร็งได้

    คุณค่าทางโภชนาการของ ลูกหม่อน

    ลูกหม่อน 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 43 กิโลแคลอรี่ และประกอบไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนี้

    • คาร์โบไฮเดรต 9.8 กรัม
    • โปรตีน 1.44 กรัม
    • ไขมัน 0.39 กรัม
    • โพแทสเซียม 194 มิลลิกรัม
    • แคลเซียม 39 มิลลิกรัม
    • ฟอสฟอรัส 38 มิลลิกรัม
    • แมกนีเซียม 18 มิลลิกรัม
    • วิตามินซี 3.64 มิลลิกรัม
    • โคลีน (Choline) 87.4 มิลลิกรัม
    • โซเดียม 10 มิลลิกรัม
    • เบตา แคโรทีน 9 ไมโครกรัม
    • โฟเลต (Folate) 6 ไมโครกรัม
    • ซีลีเนียม (Selenium) 0.6 ไมโครกรัม

    นอกจากนี้ ลูกหม่อนยังประกอบไปด้วยธาตุอาหารอย่าง สังกะสี ทองแดง แมงกานีส และวิตามินชนิดต่าง ๆ เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 6

    ประโยชน์ของ ลูกหม่อน ต่อสุขภาพ

    ลูกหม่อน อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติของลูกหม่อนในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้

    1. อาจช่วยลดคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี

    ลูกหม่อนมีสารต้านอนุมูลอิสระแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ซึ่งมีคุณสมบัติลดคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ในร่างกาย และช่วยเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) ดังนั้น การบริโภคลูกหม่อนจึงอาจช่วยป้องกันโรคที่คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีเป็นปัจจัยเสี่ยงได้ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง

    งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติของสารสกัดลูกหม่อนในการลดความอ้วนและยับยั้งไขมันพอกตับ ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Agricultural and Food Chemistry พ.ศ. 2554 นักวิจัยทดลองให้หนูทดลองบริโภคสารสกัดลูกหม่อนเป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่าสารสกัดลูกหม่อนอาจช่วยลดน้ำหนักและไขมันช่องท้องของหนู รวมถึงช่วยลดคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) และกรดไขมันอิสระ (Free Fatty Acid) ในเวลาเดียวกัน

    อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการศึกษาและทดสอบในมนุษย์เพิ่มเติม เพื่อยืนยันถึงประสิทธิภาพของสารสกัดลูกหม่อนต่อการช่วยลดน้ำหนักและไขมันพอกตับในมนุษย์

    1. อาจช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง

    ลูกหม่อนมีสารต้านมะเร็งหลายชนิดเช่น แอนโทไซยานิน ไซยานิดิน 3 กลูโคโคไซด์ (Cyanidin 3-glucoside) ไมริเซติน (Myricetin) รูทิน (Rutin) ดังนั้น การบริโภคลูกหม่อนจึงอาจช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งได้

    งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติของสารสกัดลูกหม่อน ต่อการยับยั้งการเติบโตเซลล์ของมะเร็งเซลล์ตับ (Hepatocellular Carcinoma) และป้องกันมะเร็งตับ ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Food and Drug Analysis ปี พ.ศ. 2563 นักวิจัยให้หนูทดลองที่เป็นโรคมะเร็งเซลล์ตับบริโภคสารสกัดจากน้ำลูกหม่อน พบว่า เซลล์มะเร็งในร่างกายของหนูทดลองที่บริโภคสารสกัด มีขนาดเล็กกว่าเซลล์มะเร็งในร่างกายของหนูที่ไม่ได้บริโภค

    นอกจากนั้น นักวิจัยยังพบว่าสารโพลีฟีนอล(Polyphenol) ที่สกัดจากลูกหม่อน อาจมีคุณสมบัติต้านมะเร็ง โดยกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งทำลายตัวเอง

    นักวิจัยจึงสรุปว่า สารสกัดลูกหม่อนอาจมีประสิทธิภาพในการป้องกันมะเร็งตับ

    อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นการทดลองในห้องปฏิบัติการ ควรมีการทดลองในมนุษย์เพิ่มเติม เพื่อยืนยันว่าการบริโภคลูกหม่อนอาจช่วยป้องกันมะเร็งในมนุษย์ได้

    1. อาจช่วยป้องกันภาวะความทรงจำบกพร่อง

    ลูกหม่อนมีสารต้านอนุมูลอิสระกลุ่มฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ซึ่งมีคุณสมบัติในการป้องกันเซลล์ประสาทเสียหายจากสารที่เป็นพิษต่อระบบประสาท ยับยั้งการอักเสบในระบบประสาท และส่งเสริมการทำงานของสมองในส่วนที่เกี่ยวกับการรับรู้และความทรงจำ ดังนั้น การบริโภคลูกหม่อนจึงช่วยลดโอกาสเสี่ยงมีภาวะสมองเสื่อม รวมถึงภาวะความทรงจำบกพร่องรูปแบบอื่น ๆ ได้

    งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับประสิทธิภาพของสารสกัดลูกหม่อนในการส่งเสริมการทำงานของสมอง เผยแพร่ในวารสาร OxiMed & Cellular Longevity ปี พ.ศ. 2560 นักวิจัยได้แบ่งหนูทดลองเพศเมียที่อยู่ในช่วงหมดประจำเดือนออกเป็น 3 กลุ่ม และให้หนูทดลองแต่ละกลุ่มบริโภคสารสกัดลูกหม่อนในปริมาณที่ต่างกัน เป็นเวลา 8 สัปดาห์เท่ากัน ดังนี้

    • กลุ่มที่ 1 บริโภคสารสกัดลูกหม่อน 10 กรัม/น้ำหนักตัว
    • กลุ่มที่ 2 บริโภคสารสกัดลูกหม่อน 50 กรัม/น้ำหนักตัว
    • กลุ่มที่ 3 บริโภคสารสกัดลูกหม่อน 250 กรัม/น้ำหนักตัว

    หลังครบกำหนดการทดลอง นักวิจัยได้ตรวจสุขภาพสมองของหนูทดลอง และพบว่า เซลล์ประสาทในสมองของหนูทดลองมีความหนาแน่นเพิ่มขึ้น สมองส่วนของความทรงจำทำงานดีขึ้น และภาวะเครียดออกซิเดชัน (Oxidative Stress) ซึ่งสร้างความเสียหายให้ระบบประสาทส่วนกลางนั้นมีระดับลดลง

    ดังนั้น นักวิจัยจึงสรุปว่า สารสกัดลูกหม่อนอาจมีส่วนช่วยปกป้องเซลล์ประสาท และส่งเสริมการทำงานของสมองในส่วนของความทรงจำได้

  • อาจช่วยส่งเสริมสุขภาพดวงตา

  • สารเรสเวอราทรอล (Resveratrol) พบได้ในผิวของลูกหม่อน มีคุณสมบัติกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตในดวงตาได้ ดังนั้น การบริโภคลูกหม่อน จึงอาจช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพดวงตา เช่น โรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ โรคต้อหิน ภาวะเบาหวานขึ้นตา

    งานวิจัยเรื่องเรสเวอราทรอลและโรคเกี่ยวกับดวงตา ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients ปี พ.ศ. 2559 นักวิจัยได้ศึกษางานวิจัยจำนวนหลายชิ้น ระบุว่า ภาวะเครียดออกซิเดชัน (Oxidative Stress) และการอักเสบภายในร่างกาย อาจส่งผลให้ดวงตาในผู้สูงอายุเกิดความผิดปกติ เช่น โรคจอตาเสื่อม โรคต้อหิน โรคต้อกระจก ภาวะเบาหวานขึ้นตา ซึ่งอาจทำให้สูญเสียการมองเห็น โดยสารเรสเวอราทรอลอาจมีคุณสมบัติช่วยต้านทั้งภาวะเครียดออกซิเดชัน และการอักเสบภายในร่างกาย รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพดวงตา

    ข้อควรระวังในการบริโภค ลูกหม่อน

    แม้ว่าลูกหม่อนจะมีประโยชน์ต่อร่างกายหลายประการ แต่มีข้อควรระวังในการบริโภค ดังนี้

    • ไม่ควรบริโภคลูกหม่อนเพื่อใช้ประโยชน์ทางยา เพราะยังไม่มีหลักฐานเพียงพอว่าปลอดภัยต่อสุขภาพ
    • ผู้ที่แพ้ลูกฟิก (Fig) อาจมีอาการแพ้ลูกหม่อนได้
    • ผู้ที่เตรียมตัวเข้ารับการผ่าตัด ควรงดการบริโภคลูกหม่อน 2 สัปดาห์ก่อนเข้ารับการผ่าตัดเนื่องจากลูกหม่อนออกฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้
    • หญิงมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร สามารถบริโภคลูกหม่อนได้อย่างปลอดภัยในปริมาณที่ไม่มากเกินไป แต่ไม่ควรบริโภคเพื่อใช้ประโยชน์ทางยา และควรบริโภคอาหารให้ครบทุกหมู่ รวมทั้งผักและผลไม้ให้หลากหลายเพื่อบำรุงร่างกายและได้รับปริมาณสารอาหารครบถ้วน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 07/09/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา