backup og meta

ประโยชน์ของ แอปเปิ้ล และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

ประโยชน์ของ แอปเปิ้ล และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

แอปเปิ้ล เป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ด้วยรสชาติที่หวานอร่อย และดีต่อสุขภาพ แอปเปิ้ลถูกนำมาใช้ในการประกอบอาหารทั้งคาวและหวาน และรับประทานเป็นอาหารว่าง เนื่องจากอุดมไปด้วยสารอาหาร มีไฟเบอร์และวิตามินซีสูง ทั้งยังมีแคลอรี่ต่ำ ไม่มีไขมันและคอเลสเตอรอล และมีโซเดียมเพียงเล็กน้อย

[embed-health-tool-bmi]

คุณค่าทางโภชนาการของแอปเปิ้ล

แอปเปิ้ลเป็นผลไม้ที่มีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายจำนวนมาก โดยแอปเปิ้ล 1 ลูก ประกอบด้วย

  • แคลอรี่ 104 กิโลแคลอรี่
  • คาร์โบไฮเดรต 28 กรัม
  • ไฟเบอร์ 5 กรัม
  • วิตามินซี 10% ของปริมาณสารอาหารที่แนะนําให้บริโภคในแต่ละวัน
  • ทองแดง 6% ของปริมาณสารอาหารที่แนะนําให้บริโภคในแต่ละวัน
  • โพแทสเซียม 5% ของปริมาณสารอาหารที่แนะนําให้บริโภคในแต่ละวัน
  • วิตามินเค 4% ของปริมาณสารอาหารที่แนะนําให้บริโภคในแต่ละวัน
  • วิตามินอี วิตามินบี 1 และวิตามินบี 6 2-5% ของปริมาณสารอาหารที่แนะนําให้บริโภคในแต่ละวัน

นอกจากนี้ ผิวและเนื้อของแอปเปิ้ลยังอุดมไปด้วยโพลีฟีนอล (Polyphenols) ซึ่งเป็นกลุ่มสารต้านอนุมูลอิระที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ มักพบได้ผักและผลไม้ ทำหน้าที่ป้องกันเซลล์จากอนุมูลอิสระที่มีส่วนทำให้เกิดภาวะเรื้องรังต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ 

ประโยชน์ของแอปเปิ้ลที่มีต่อสุขภาพ

มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนประโยชน์ในการป้องกันและรักษาโรค และส่งเสริมสุขภาพของแอปเปิ้ล ดังนี้

อาจช่วยในการย่อยอาหารและควบคุมน้ำหนัก

แอปเปิ้ลอุดมด้วยไฟเบอร์ เส้นใยในแอปเปิ้ลสามารถย่อยได้ช้าจึงอาจทำให้อิ่มนานขึ้น นอกจากนี้ การรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลต่ำอย่างแอปเปิ้ลอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงค่อย ๆ ลดลง ทั้งยังอาจช่วยลดความอยากอาหารและช่วยป้องกันไม่ให้กินมากเกินไป ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก 

อาจดีต่อหัวใจ

แอปเปิ้ลมีเส้นใยที่ละลายน้ำได้ เช่น เพกติน (Pectin) ซึ่งอาจช่วยป้องกันไม่ให้คอเลสเตอรอลเกาะตัวตามเยื่อบุของหลอดเลือด ทั้งยังช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด จากงานวิจัยในวารสาร Nutrition Journal พ.ศ. 2547 ศึกษาเกี่ยวกับ ไฟโตเคมิคอล (Phytochemicals) ของแอปเปิ้ลและประโยชน์ต่อสุขภาพ พบว่า สารพฤกษเคมีในแอปเปิ้ล เช่น ฟีนอล ฟลาโวนอยด์ แคโรทีนอยด์ อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง  โรคหัวใจ  โรคหอบหืด โรคเบาหวานชนิดที่ 2 

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Nutrition and Metabolism พ.ศ. 2562 ศึกษาเกี่ยวกับการรับประทานอาหารตามสี พบว่า การอักเสบเรื้อรังมีความสัมพันธ์ต่อการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันที่บกพร่องและผิดปกติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น มะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด ความผิดปกติทางระบบประสาท และภาวะอื่น ๆ ที่อาจส่งผลต่อชีวิต ผักและผลไม้สีแดง เช่น แตงโม แอปเปิ้ล เซอร์รี่ แครนเบอร์รี่ มักมีสารพฤกษเคมี เช่น ไลโคปีน แอสตาแซนธิน (Astaxanthin) ไฟเซติน (Fisetin) ซึ่งอาจช่วยลดการอักเสบ เสริมภูมิคุ้มกันโดยลดการติดเชื้อ 

อาจลดความเสี่ยงของโรคเบาหวาน

การรับประทานแอปเปิ้ลอาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เนื่องจากฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของฟลาโวนอยด์ในแอปเปิ้ลอาจปกป้องเซลล์จากความเสียหายในตับอ่อน ซึ่งเป็นอวัยวะที่มีหน้าที่ในการหลั่งอินซูลินเพื่อตอบสนองต่อน้ำตาลในเลือดที่เพิ่มขึ้น จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of Medical Research and Health Sciences พ.ศ. 2562 ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างแอปเปิ้ลไซเดอร์และการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ภาวะไขมันในเลือดสูง และการควบคุมน้ำหนักตัวในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่า กรดอะซิติก (Acetic Acid) ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในแอปเปิ้ลไซเดอร์มีส่วนช่วยในการลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดไขมันในเลือด และต้านโรคอ้วนในผู้ป่วยโรคเบาหวาน 

งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Food & Function พ.ศ. 2560 ศึกษาเกี่ยวกับการรับประทานแอปเปิ้ลและลูกแพร์และความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่า การรับประทานแอปเปิ้ลและลูกแพร์มีความสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ประมาณ 18% และการรับประทานแอปเปิ้ลและลูกแพร์เพิ่มขึ้น 1 ครั้ง/สัปดาห์ อาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ประมาณ 3% 

อาจช่วยส่งเสริมสุขภาพสมอง

เควอซิทิน (Quercetin) ซึ่งเป็นสารที่อยู่ในกลุ่มของสารจำพวกฟลาโวนอยด์ในแอปเปิ้ล อาจปกป้องสมองและเส้นประสาทจากความเสียหายจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน และป้องกันการบาดเจ็บที่อาจส่งผลให้เกิดโรคทางสมอง เช่น โรคอัลไซเมอร์ งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Physiology & Behavior พ.ศ. 2560 ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสารเควอซิทินกับการป้องกันความเครียดเรื้อรังซึ่งทำให้เกิดความผิดปกติทางพฤติกรรม ความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน และการอักเสบของเส้นประสาท โดยศึกษาในสัตว์ที่อยู่ภายใต้ความเครียดเรื้อรังเป็นเวลา 21 วัน ซึ่งได้รับเควอซิทินทางปาก 30 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่า เควอซิทินช่วยลดความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชันและการอักเสบได้อย่างมีนัยสำคัญ และป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทที่เกิดจากความเครียดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เป็นเพียงการศึกษาในสัตว์ ยังต้องมีการศึกษาในมนุษย์เพิ่มเติมเพื่อยืนยันประสิทธิภาพของแอปเปิ้ลในการลดความเครียด 

อาจบรรเทาอาการหอบหืด

สารต้านอนุมูลอิสระในแอปเปิ้ลอาจช่วยป้องกันปอดจากความเสียหายจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน ควบคุมระบบภูมิคุ้มกัน และลดการอักเสบ จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Molecules พ.ศ. 2559 ศึกษาเกี่ยวกับเควอซิทินและภูมิคุ้มกันต้านการแพ้ พบว่า อาหารที่อุดมด้วยเควอซิทิน เช่น บร็อคโคลี่ องุ่น แอปเปิ้ล มีฤทธิ์ในการกำจัดสารอนุมูลอิสระ ต่อต้านการแพ้ กระตุ้นระบภูมิคุ้มกัน ต่อต้านไวรัส ยับยั้งการปล่อยสารฮีสตามีน (Histamine) ลดไซโตไคน์ (Cytokines) ที่ก่อให้เกิดการอักเสบ ดังนั้น ด้วยคุณสมบัติต้านการอักเสบและภูมิคุ้มกันของเควอซิทิน จึงอาจสามารถนำมาใช้รักษาโรคหอบหืดระยะเรื้อรัง โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ และอาการแพ้ถั่วลิสงรุนแรง โดยใช้เป็นส่วนประกอบหลักของยาแก้แพ้ และอาหารเสริมต่าง ๆ 

อาจช่วยป้องกันมะเร็ง

สารต้านอนุมูลอิสระในแอปเปิ้ลอาจทำให้เซลล์มะเร็งไม่เพิ่มจำนวนขึ้น ทั้งยังมีส่วนต้านมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด นอกจากนี้ไฟโตเคมิคอลและไฟเบอร์ในแอปเปิ้ลยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่อาจปกป้อง DNA ของเซลล์จากความเสียหายจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของมะเร็ง จากงานวิจัยในวารสาร Public Health Nutrition พ.ศ. 2559 ศึกษาเกี่ยวกับการบริโภคแอปเปิ้ลและความเสี่ยงต่อมะเร็ง โดยทดลองกับผู้ที่เป็นมะเร็งชนิดต่าง ๆ เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก 20 ราย พบว่า การบริโภคแอปเปิ้ลมีความสัมพันธ์กับการลดคามเสี่ยงของโรคมะเร็งในบริเวณต่าง ๆ ทั้งนี้ ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม และเพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วมทดลองมากขึ้น เพื่อยืนยันผลงานวิจัยนี้

นอกจากนี้ การวิจัยในวารสาร European Journal of Cancer Prevention พ.ศ. 2557 ศึกษาเกี่ยวกับฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและการควบคุมวัฏจักรเซลล์ของแอปเปิ้ลต่อการเกิดมะเร็ง โดยใช้แอปเปิ้ลเป็นสารป้องกันเคมีในการก่อมะเร็ง พบว่า แอปเปิ้ลอุดมด้วยไฟโตเคมิคอล (Phytochemicals) รวมถึงฟลาโวนอยด์ เช่น คาเทชิน (Catechins) เควอซิทิน (Quercetin) กรดฟีนอลิก เช่น อีพิคาเตชิน (Epicatechin) โพรไซยานิดิน (Procyanidins) วิตามิน และเส้นใย มีคุณสมบัติในการป้องกันเคมี ซึ่งเป็นผลมาจากฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและควบคุมวัฏจักรเซลล์ 

ผลข้างเคียงของแอปเปิ้ล

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการรับประทานแอปเปิ้ล ได้แก่

  • ผู้ที่มีอาการแพ้พืชในตระกูลโรซาเชีย เช่น ผลแอปริคอท ลูกพลัม ลูกพีช ลูกแพร์ สตรอว์เบอร์รี่ ควรตรวจเช็กสุขภาพก่อนรับประทานแอปเปิ้ล เพราะอาจเกิดอาการแพ้ได้
  • ผลแอปเปิ้ล โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำแอปเปิ้ล อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ดังนั้น ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานควรตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดให้แน่ใจก่อนใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีแอปเปิ้ลเป็นส่วนผสม
  • น้ำแอปเปิ้ลอาจทำให้ประสิทธิภาพของยาแก้แพ้ลดน้อยลง ผู้ที่ต้องรับประทานยาแก้แพ้ควรปรึกษาคุณหมอ
  • เมล็ดแอปเปิ้ลมีสารไซยาไนด์ (Cyanide) ซึ่งเป็นสารที่เป็นพิษ หากรับประทานเมล็ดแอปเปิ้ลในปริมาณมาก เมื่อเมล็ดถูกย่อยสารไซยาไนด์จะเข้าสู่ลำไส้ ซึ่งอาจทำร่างกายได้รับสารพิษจนถึงแก่ชีวิตได้ ทั้งนี้อาจใช้เวลาหลายชั่วโมงกว่าจะเกิดอาการ จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเมล็ดแอปเปิ้ล
  • แอปเปิ้ลมีสภาพเป็นกรดและน้ำผลไม้จากแอปเปิ้ลยังอาจทำให้เคลือบฟันเสียหายได้ จากงานวิจัยที่ดีพิมพ์ในวารสาร Journal of Dentistry พ.ศ. 2554 พบว่า การรับประทานแอปเปิ้ลอาจเป็นอันตรายต่อฟันได้มากกว่าเครื่องดื่มอัดลมถึง 4 เท่า นอกจากนี้ การรับประทานแอปเปิ้ลช้า ๆ ยังอาจเพิ่มโอกาสให้กรดทำลายเคลือบฟัน ดังนั้น ควรหั่นแอปเปิ้ลเป็นชิ้นพอดีคำ และควรบ้วนปากทุกครั้งหลังจากรับประทานแอปเปิ้ล เพื่อล้างกรดและน้ำตาลที่อาจเกาะอยู่บนฟัน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Apple. http://www.webmd.com/vitamins-supplements/ingredientmono-298-apple.aspx?activeingredientid=298. Accessed January 31, 2022

Apple. https://www.webmd.com/food-recipes/benefits-apples. Accessed January 31, 2022

Apples. https://www.hsph.harvard.edu/nutritionsource/food-features/apples/. Accessed January 31, 2022

9 Incredible Health Benefits Of Apples. https://www.organicfacts.net/health-benefits/fruit/health-benefits-of-apple.html. Accessed January 31, 2022

Apple phytochemicals and their health benefits. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC442131/. Accessed January 31, 2022

Effect of Apple Cider Vinegar on Glycemic Control, Hyperlipidemia and Control on Body Weight in Type 2 Diabetes Patients. https://www.researchgate.net/publication/333673829_Effect_of_Apple_Cider_Vinegar_on_Glycemic_Control_Hyperlipidemia_and_Control_on_Body_Weight_in_Type_2_Diabetes_Patients. Accessed January 31, 2022

Apple and pear consumption and type 2 diabetes mellitus risk: a meta-analysis of prospective cohort studies. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/28186516/. Accessed January 31, 2022

Quercetin prevents chronic unpredictable stress induced behavioral dysfunction in mice by alleviating hippocampal oxidative and inflammatory stress. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/28069457/. Accessed January 31, 2022

Quercetin and Its Anti-Allergic Immune Response. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6273625/. Accessed January 31, 2022

Apple intake and cancer risk: a systematic review and meta-analysis of observational studies. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/27000627/.

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/11/2024

เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

หัวปลี สารอาหารสำคัญ สรรพคุณทางยา และประโยชน์ของหัวปลี

ผลไม้ต้านมะเร็ง มีอะไรบ้าง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 2 สัปดาห์ก่อน

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา