สละ เป็นผลไม้เมืองร้อนที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการมากมาย เช่น วิตามินซี โพแทสเซียม เบต้าแคโรทีน เหล็ก ไฟเบอร์ ที่อาจมีส่วนช่วยส่งเสริมสุขภาพสมอง สุขภาพหัวใจ บำรุงสายตา ปรับปรุงระบบย่อยอาหารและอาจช่วยป้องกันโรคเบาหวานได้ อย่างไรก็ตาม การรับประทานสละในปริมาณที่มากเกินไปอาจส่งผลให้เกิดอาการท้องอืด ท้องผูก หรือส่งผลกระทบต่อระบบย่อยอาหารได้ ดังนั้น จึงควรรับประทานสละในปริมาณที่พอเหมาะ
[embed-health-tool-bmr]
คุณค่าทางโภชนาการของสละ
คุณค่าทางโภชนาการของสละปริมาณ 100 กรัม ประกอบด้วย
- พลังงาน 368 แคลอรี่
- คาร์โบไฮเดรต 12.1 กรัม
- โปรตีน 0.8 กรัม
- ไขมัน 0.4 กรัม
- ไฟเบอร์ 0.3 กรัม
นอกจากนี้ สละยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุอีกหลายชนิดที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น วิตามินซี วิตามินบี 2 แคลเซียม เหล็ก ฟอสฟอรัส โซเดียม โพแทสเซียม เบต้าแคโรทีน
ประโยชน์ของสละต่อสุขภาพ
สละมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของสละในการป้องกันและรักษาโรค ดังนี้
ช่วยบำรุงสุขภาพสมอง
สละอุดมไปด้วยโพแทสเซียมและเพคติน (Pectin) ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญที่มีส่วนช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดไปยังสมอง ลดความเสี่ยงคอเลสเตอรอลอุดตันในเส้นเลือด ที่อาจเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง นอกจากนี้ เบต้าแคโรทีนยังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน (Oxidation) ซึ่งทำให้เกิดอนุมูลอิสระที่ทำลายเซลล์และเนื้อเยื่อภายในร่างกาย ซึ่งอาจมีประโยชน์ในการรักษาโรคทางระบบประสาท เช่น โรคอัลไซเมอร์
งานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Food & Function journal ปี พ.ศ. 2553 ซึ่งทำการวิจัยเกี่ยวกับคุณสมบัติในการลดคอเลสเตอรอลของพอลิแซ็กคาไรด์ (Polysaccharide) ที่เป็นเส้นใยอาหารที่ละลายน้ำได้ พบว่า การรับประทานอาหารที่อุดมด้วยเส้นใยอาหารที่ละลายน้ำได้ เช่น เบต้ากลูแคน (β-glucan) เพคติน กัวกัม (Guar Gum) และไซเลี่ยม (Psyllium) อาจช่วยให้คอเลสเตอรอลในเลือดลดลง ซึ่งอาจลดความเสี่ยงเส้นเลือดอุดตันและโรคหลอดเลือดสมองและงานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Current Hypertension Reports ปี พ.ศ. 2554 ทำการวิจัยเกี่ยวกับความสำคัญของโพแทสเซียมในการจัดการกับความดันโลหิตสูง พบว่า โพแทสเซียมอาจสามารถช่วยลดความดันโลหิตสูงซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง ดังนั้น การรับประทานอาหารที่มีโพแทสเซียมเพิ่มขึ้น เช่น สละ จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองได้
รวมทั้ง งานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Biomolecules ปี พ.ศ. 2562 ทำการวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของเบต้าแคโรทีนในการช่วยปรับปรุงความบกพร่องทางสติปัญญาและความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน จากการทดลองในสัตว์ พบว่า เบต้าแคโรทีนอาจช่วยลดความบกพร่องทางสมองที่เสียหายจากปฏิกิริยาออกซิเดชันเนื่องจากการทำลายของอนุมูลอิสระ รวมถึงการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อะเซทิลโคลีนเอสเตอเรส (Acetylcholinesterase) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่เร่งปฏิกิริยาการสลายของสารสื่อประสาทที่สร้างขึ้นภายในสมอง จึงอาจช่วยเสริมสร้างความจำและอาจรักษาโรคระบบประสาท เช่น โรคอัลไซเมอร์ได้ ทั้งนี้ เป็นเพียงการวิจัยกับสัตว์เท่านั้น ยังคงต้องมีการวิจัยในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของเบต้าแคโรทีนมากขึ้น
อาจช่วยปกป้องสุขภาพดวงตา
เบต้าแคโรทีนและสารต้านอนุมูลอิสระอื่น ๆ เช่น วิตามินซี ที่พบได้ในสละอาจช่วยปกป้องสุขภาพดวงตาและการมองเห็น นอกจากนี้ ยังอาจช่วยชะลอจอประสาทตาเสื่อมตามอายุได้
งานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Archives of Ophthalmology ปี พ.ศ. 2549 ทำการวิจัยเกี่ยวกับการรับประทานอาหารเสริมวิตามินซีและอี เบต้าแคโรทีน และสังกะสีในผู้ที่มีจอประสาทตาเสื่อมตามอายุและการสูญเสียการมองเห็น โดยทำการทดลองแบบสุ่มให้ผู้เข้าร่วมกินยาเม็ดที่มีส่วนประกอบของ 1. สารต้านอนุมูลอิสระเพียงอย่างเดียว คือ วิตามินซี 500 มิลลิกรัม วิตามินอี 400 IU และเบต้าแคโรทีน 15 มิลลิกรัม 2. สังกะสีเพียงอย่างเดียว 80 มิลลิกรัม 3. สารต้านอนุมูลอิสระผสมสังกะสี และ 4. ยาหลอก พบว่า ผู้ที่กินยาเสริมสารต้านอนุมูลอิสระ สังกะสี และสารต้านอนุมูลอิสระผสมกับสังกะสี มีความเสี่ยงในการลุกลามของจอประสาทตาเสื่อมที่เกี่ยวข้องกับอายุและการสูญเสียการมองเห็นลดลง
ช่วยลดความเสี่ยงโรคเบาหวาน
ผลและเปลือกของสละอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด เช่น ฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ฟีนอลิก (Phenolic) ไกลโคไซด์ (Glycosides) ที่มีคุณสมบัติช่วยต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบของเนื้อเยื่อในร่างกายที่เกิดจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้น จนอาจทำให้เกิดความเสียหายที่เส้นประสาทและหลอดเลือด รวมถึงอวัยวะอื่น ๆ ซึ่งฤทธิ์ต้านการอักเสบนี้อาจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงเกิดโรคเบาหวานและภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานได้
งานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Asian pacific journal of tropical medicine ปี พ.ศ. 2561 ทำการวิจัยเกี่ยวกับข้อมูลทางพฤกษศาสตร์ การใช้ทางเภสัชวิทยา และสารพฤกษเคมีของสละ พบว่า ผลและเปลือกของสละอุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด เช่น ฟลาโวนอยด์ ฟีนอลิก ไกลโคไซด์ รวมถึงสารประกอบอะโรมาติก (Aromatic) และสารระเหยบางชนิด เช่น กรดแกลลิก (Gallic acid) เควอซิทิน (Quercetin) กรดคลอโรจีนิก (Chlorogenic acid) อีพิคาเทชิน (Epicatechin) โปรแอนโธไซยานิดิน (Proanthocyanidins) ไลโคปีน (Lycopene) เบต้าแคโรทีน ซึ่งมีประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ต้านโรคมะเร็ง และโรคเบาหวานได้
ช่วยส่งเสริมระบบย่อยอาหารและควบคุมน้ำหนัก
สละมีใยอาหารสูง การรับประทานผลไม้ที่มีใยอาหารอาจส่งผลดีต่อระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย ช่วยเพิ่มเนื้อของอุจจาระ ทำให้ขับถ่ายง่ายขึ้น และอาจช่วยลดความเสี่ยงโรคบางชนิด เช่น โรคริดสีดวงทวาร โรคมะเร็งลำไส้
งานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrition ปี พ.ศ. 2548 ทำการวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของใยอาหารและน้ำหนักตัว พบว่า การบริโภคใยอาหารอาจช่วยป้องกันโรคอ้วน โดยปริมาณไฟเบอร์สัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นและลดลงของน้ำหนักตัวและไขมันในร่างกาย การรับประทานอาหารที่มีใยอาหารจึงอาจช่วยควบคุมน้ำหนัก รวมถึงเพิ่มความอิ่ม ลดการดูดซึมธาตุอาหารหลักและปรับปรุงการหลั่งของฮอร์โมนในลำไส้
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrition ปี พ.ศ. 2553 ทำการวิจัยถึงผลของเส้นใยอาหารและส่วนประกอบที่มีต่อสุขภาพเมตาบอลิซึม พบว่า การรับประทานใยอาหารทั้งแบบละลายน้ำและไม่ละลายน้ำ เช่น เพกติน อะราบิโนไซเลน (Arabinoxylan) เบต้ากลูแคน อาจช่วยชะลอการย่อยอาหารและการดูดซึม ทำให้อิ่มได้นานขึ้น และรับประทานอาหารน้อยลง ซึ่งส่งผลดีต่อการควบคุมน้ำหนัก นอกจากนี้ ยังอาจช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง และโรคเบาหวานได้อีกด้วย
ช่วยควบคุมความดันโลหิตและส่งเสริมสุขภาพหัวใจ
สละอุดมไปด้วยโพแทสเซียมที่มีความสำคัญในการจัดการกับความดันโลหิตสูง เนื่องจากโพแทสเซียมช่วยควบคุมความสมดุลของโซเดียมในร่างกาย และช่วยลดความดันในผนังหลอดเลือด ซึ่งอาจช่วยลดความดันโลหิตได้ นอกจากนี้ เพคตินซึ่งเป็นใยอาหารที่สำคัญในสละยังอาจมีส่วนช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือด และช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
งานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Food & Function Journal ปี พ.ศ. 2553 ทำการวิจัยเกี่ยวกับคุณสมบัติในการลดคอเลสเตอรอลของพอลิแซ็กคาไรด์ที่เป็นเส้นใยอาหารที่ละลายน้ำได้ พบว่า เส้นใยละลายน้ำอย่างเพคติน อาจช่วยลดระดับของคอเลสเตอรอลในเลือดและลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Current Hypertension Reports ปี พ.ศ. 2554 ทำการวิจัยเกี่ยวกับความสำคัญของโพแทสเซียมในการจัดการกับความดันโลหิตสูง พบว่า การรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยโพแทสเซียมรับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถช่วยลดความดันโลหิตได้ ทำให้สามารถช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจตาย
ข้อควรระวังในการบริโภคสละ
ข้อควรระวังในการรับประทานสละ อาจมีดังนี้
- ท้องผูก การรับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูงอย่างสละในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการท้องอืดและมีแก๊สในกระเพาะอาหารได้ ดังนั้น จึงไม่ควรรับประทานใยอาหารเกิน 70 กรัม/วัน อีกทั้งยังควรดื่มน้ำให้มากขึ้น ออกกำลังกาย และปรับมื้ออาหารให้สมดุล เพื่อสุขภาพการขับถ่ายที่ดี
- ผู้ป่วยโรคไข้ไทฟอยด์ (Typhoid) หรือไข้รากสาดน้อย ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียซัลโมเนลล่า ไทฟี่ (Salmonella Typhi) ติดต่อโดยการรับประทานอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุกหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อ ในระหว่างการรักษาควรจำกัดอาหารที่มีใยอาหารสูงโดยเฉพาะผลไม้และผักดิบ ธัญพืชเต็มเมล็ด เมล็ดพืช และพืชตระกูลถั่ว เพื่อช่วยให้ลำไส้ย่อยง่ายขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยไข้ไทฟอยด์มักมีปัญหาระบบย่อยอาหาร ดังนั้น ผู้ป่วยโรคไข้ไทฟอยด์จึงควรจำกัดการรับประทานสละที่เป็นผลไม้ดิบและมีใยอาหารสูง