backup og meta

ฟลาโวนอยด์ สุดยอดสารต้านอนุมูลอิสระจากธรรมชาติ ช่วยต้านแก่ ต้านโรค

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    ฟลาโวนอยด์ สุดยอดสารต้านอนุมูลอิสระจากธรรมชาติ ช่วยต้านแก่ ต้านโรค

    อนุมูลอิสระ เป็นอีกหนึ่งตัวการทำลายเซลล์ ทำให้เราแก่ลงทุกวัน ยิ่งร่างกายเรามีอนุมูลอิสระมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งแก่เร็วขึ้น และเสี่ยงเกิดโรคต่างๆ มากขึ้นเท่านั้น แต่วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เราสามารถป้องกันการเกิดอนุมูลอิสระในร่างกายได้ ก็คือ การบริโภคสารอาหารที่มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ “ฟลาโวนอยด์” ที่พบได้ในพืชผักผลไม้หลากหลายชนิด และได้ชื่อว่าเป็น สารต้านอนุมูลอิสระ หรือ แอนตี้ออกซิแดนท์ (Antioxidant) ชั้นเลิศ

    ฟลาโวนอยด์ สารจากพืชชั้นเลิศ

    ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) เป็นสารพฤกษเคมีในกลุ่มสารประกอบโพลีฟีนอล (Polyphenols) ที่มีคุณสมบัติในการต่อต้านอนุมูลอิสระ มีอยู่ด้วยกันมากกว่า 6,000 ชนิด และสามารถแบ่งเป็นกลุ่มย่อยได้ 6 กลุ่ม ได้แก่

    1. ฟลาโวนอล (Flavonols)
    2. ฟลาวานอล (Flavanols) หรือ ฟลาวาน-3-ออล (Flavan-3-ols)
    3. ฟลาวาโนน (Flavanones)
    4. ฟลาโวน (Flavones)
    5. ไอโซฟลาโวน (Isoflavones)
    6. แอนโทไซยานิดิน (Anthocyanidin)

    ฟลาโวนอยด์สามารถพบได้ในผักและผลไม้หลายชนิด ทั้งยังพบในไวน์ ชา ผงโกโก้ และช็อกโกแลตด้วย โดยอาหารแต่ละอย่างก็จะมีฟลาโวนอยด์แต่ละชนิดในความเข้มข้นแตกต่างกันออกไป

    แหล่งฟลาโวนอยด์ที่คุณหาได้ง่ายๆ

    คุณสามารถเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระอย่างฟลาโวนอยด์ให้กับร่างกายได้ ด้วยการกินอาหารต่อไปนี้

    แอปเปิ้ล

    ในแอปเปิ้ลอุดมไปด้วยสารฟลาโวนอยด์ที่ชื่อว่า เควอซิทิน (Quercetin) ที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง ภาวะหัวใจวาย โรคต้อกระจก ช่วยป้องกันการเกิดโรคเกาต์ซ้ำ ช่วยควบคุมอาการหอบหืด ทั้งยังบรรเทาอาการกรดไหลย้อนได้ด้วย

    ชาเขียว

    ชาเขียวมีสารฟลาโวนอยด์สำคัญที่ชื่อว่า เอพิกัลโลคาเทชิน กัลเลต (Epigallocatechin gallate หรือ ECGC) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ทรงพลังกว่าวิตามินซี และวิตามินเอถึง 100 เท่าและ 25 เท่าตามลำดับ ฟลาโวนอยด์ตัวนี้มีคุณสมบัติเด่นในการต่อสู้กับเซลล์มะเร็ง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า สามารถต่อสู้กับเซลล์มะเร็งได้ในทุกระยะ ตั้งแต่ช่วยยับยั้งสารก่อมะเร็ง หรือคาร์ซิโนเจน (Carcinogen) ไปจนถึงช่วยลดการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง

    ช็อกโกแลต และผงโกโก้

    ผงโกโก้และช็อกโกแลต โดยเฉพาะชนิดเข้มข้น หรือดาร์กช็อกโกแลตอุดมไปด้วยฟลาวานอยด์หลากหลายชนิด ยิ่งช็อกโกแลตเข้มข้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีฟลาโวนอยด์สูงขึ้นเท่านั้น หากคุณอยากกินช็อกโกแลตแบบดีต่อสุขภาพ ได้ฟลาโวนอยด์เต็มที่จริงๆ เราแนะนำให้คุณทำช็อกโกแลตกินเอง ทั้งในรูปแบบช็อกโกแลตแท่ง และช็อกโกแลตร้อน เพราะจะได้ควบคุมปริมาณส่วนประกอบอื่นๆ เช่น น้ำตาล นม ได้เอง ทั้งมีฟลาโวนอยด์มากกว่าและดีต่อสุขภาพกว่าด้วย หรือหากจะเลือกซื้อแบบสำเร็จรูปที่วางขายทั่วไปในท้องตลาด ก็ต้องไม่ลืมอ่านฉลากอาหารให้ดีก่อนซื้อ

    ไวน์แดง

    ประเทศฝรั่งเศสมีอัตราการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดต่ำกว่าประเทศอื่นที่นิยมบริโภคชีส นม เนย และไขมันอิ่มตัวเหมือนกัน ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าที่เป็นเช่นนี้ เพราะชาวฝรั่งเศสนิยมบริโภคไวน์แดงที่อุดมไปด้วยฟลาโวนอยด์ โดยเฉพาะสารในกลุ่มฟลาวานอลและแอนโทไซยานิดิน ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ แต่หากใครไม่สะดวกดื่มไวน์แดง การดื่มน้ำองุ่นแท้ 100% ก็ให้ฟลาโวนอยด์กับคุณได้เช่นกัน

    ทับทิม

    ทับทิมอุดมไปด้วยฟลาโวนอยด์หลากหลายชนิด เช่น แอนโทไซยานิน ( Anthocyanins) ฟลาโวนอล (Flavonols) ฟลาวาน-3-ออล (Flavan-3-ols) และหากเป็นน้ำทับทิมและเปลือกทับทิม ก็จะมีแคทิชิน (Catechin) ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้อย่างดี สามารถช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระได้มากกว่าชาเขียวและไวน์แดงถึง 3 เท่า

    นอกจากอาหารข้างต้นแล้ว คุณยังสามารถหาฟลาโวนอยด์ได้จากพืช และผลิตภัณฑ์จากพืชอื่นๆ ได้ด้วย เช่น หอมหัวใหญ่ ผักคะน้า มะเขือเทศ ผักกาดขาว ต้นหอม บร็อคโคลี ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ คาโมมายล์ พืชตระกูลส้ม (ส้ม มะนาว เลมอน เกรปฟรุต) รวมถึงธัญพืช และถั่วชนิดต่างๆ (ถั่วเหลือง ถั่วปากอ้า)

    ประโยชน์สุขภาพจากฟลาโวนอยด์

    ฟลาโวนอยด์ได้ชื่อว่าเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชั้นยอด ที่มีคุณสมบัติต้านการอักเสบ ต้านมะเร็ง ช่วยไม่ให้เลือดจับตัวเป็นก้อนหรือเป็นลิ่ม ทั้งยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบประสาท จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพเรื้อรังได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ภาวะความดันโลหิตสูง โรคที่เกิดจากความเสื่อมของระบบประสาท (เช่น โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์) โรคหอบหืด โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคมะเร็งบางชนิด (เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก) อีกทั้งฟลาโวนอยด์ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการเมตาบอลิซึม การย่อยอาหาร และการดูดซึมสารอาหารด้วย

    นอกจากนี้ งานวิจัยชิ้นใหม่ยังพบว่า ฟลาโวนอยด์ยังอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถควบคุมอาการของโรคได้ดีขึ้นด้วย เนื่องจากช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ในอยู่ในเกณฑ์ปกติ และช่วยลดภาวะดื้อต่ออินซูลิน (Insulin resistance) แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ยังต้องศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ด้านนี้เพิ่มเติม

    แต่ถึงฟลาโวนอยด์จะขึ้นชื่อว่าเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และมีประโยชน์ต่อร่างกาย เราก็ควรบริโภคอาหารที่มีฟลาโวนอยด์ในปริมาณที่พอเหมาะ เพราะอาหารที่เป็นแหล่งฟลาโวนอยด์บางชนิดก็อาจมีแคลอรี่สูง เช่น ไวน์แดง ช็อกโกแลต หากกินมากไปจะส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ และคุณก็ต้องไม่ลืมกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพอื่นๆ ให้หลากหลาย ออกกำลังกายเป็นประจำด้วย หากใครอยากบริโภคฟลาโวนอยด์ในรูปแบบอาหารเสริม ก็ควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจ หากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม แนะนำให้สอบถามแพทย์หรือเภสัชกรจะปลอดภัยที่สุด

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา