backup og meta

สาเก ประโยชน์และข้อควรระวังในการดื่ม

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 12/04/2022

    สาเก ประโยชน์และข้อควรระวังในการดื่ม

    สาเก เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยอดนิยมของประเทศญี่ปุ่น ที่หากดื่มในปริมาณน้อยถึงปานกลางอาจส่งผลดีต่อสุขภาพ เช่น ช่วยเพิ่มไขมันดีและลดไขมันไม่ดี ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด อาจช่วยส่งเสริมระบบย่อยอาหาร ส่งเสริมสุขภาพผิว นอกจากนี้ สาเกยังมีสารต้านอนุมูลอิสระและกรดอะมิโนหลายชนิด เช่น อะลานีน (Alanine) อาร์จินีน (Arginine) กรดกลูตามิก (Glutamic Acid) ที่อาจต้านการอักเสบและส่งเสริมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายอีกด้วย

    คุณค่าทางโภชนาการของสาเก

    สาเก หนึ่งหน่วยบริโภคปริมาณ 177 มิลลิลิตร ให้พลังงานประมาณ 234 กิโลแคลอรี่ และประกอบด้วยสารอาหารต่าง ๆ เช่น คาร์โบไฮเดรต โปรตีน โพแทสเซียม โซเดียม นอกจากนี้ สาเกยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ซีลีเนียม (Selenium) ฟอสฟอรัส แคลเซียม ทองแดง สังกะสี

    แม้ว่าแอลกอฮอล์อาจมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ไม่ควรดื่มมากจนเกินไป โดยผู้หญิงควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่เกิน 1 แก้ว/วัน และผู้ชายควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่เกิน 2 แก้ว/วัน แต่สำหรับสาเกไม่ควรดื่มเกิน 250-375 มิลิลิตร/วัน หรือ 1-1 แก้วครึ่ง

    ประโยชน์ของสาเกที่มีต่อสุขภาพ

    สาเกเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดหนึ่ง ที่หากดื่มในประมาณที่พอเหมาะอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของสาเกในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้

    1. อุดมไปด้วยกรดอะมิโน

    สาเกมีกรดอะมิโนซึ่งเป็นกรดโปรตีนสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายและเป็นโครงสร้างของเซลล์และเนื้อเยื่อในร่างกาย โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน Journal of the Brewing Society of Japan เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2547 ศึกษาเกี่ยวกับกรดอะมิโนที่ส่งผลต่อรสชาติของสาเกญี่ปุ่น พบว่า กรดอะมิโนมีบทบาทสำคัญในการกำหนดรสชาติของสาเก โดยสาเกญี่ปุ่นที่มีองค์ประกอบของกรดอะมิโน 4 ชนิด ได้แก่ อะลานีน (Alanine) ให้รสชาติหวาน อาร์จินีน (Arginine) ให้รสชาติขม กรดกลูตามิก (Glutamic Acid) และกรดแอสปาร์ติก (Aspartic Acid) ให้รสชาติฝาดและความกลมกล่อม

    โดยกรดอะมิโนทั้ง 4 ชนิดมีประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนี้

  • อะลานีน มีบทบาทในการสลายกลูโคสและปฏิกิริยาที่สร้างพลังงาน
  • อาร์จินีน เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาที่ช่วยลดการอักเสบในเซลล์ เนื้อเยื่อและการบาดเจ็บ
  • กรดกลูตามิก มีหน้าที่เป็นเชื้อเพลิงให้แก่สมอง ช่วยจัดการกับสารพิษส่วนเกิน
  • กรดแอสปาร์ติก ช่วยขับสารพิษที่เป็นอันตรายออกจากร่างกาย ช่วยปกป้องระบบประสาทส่วนกลาง และเพิ่มความทนทานต่อความเหนื่อยล้า
    1. อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ

    สาเกเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระอย่างกรดเฟรูลิก (Ferulic Acid) ที่ช่วยป้องกันการอักเสบที่เกิดจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน เนื่องจาก การทำลายของอนุมูลอิสระ รวมทั้งอาจช่วยป้องกันโรคบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Skin Pharmacology and Physiology เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2561 ศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระของกรดเฟรูลิก พบว่า กรดเฟรูลิกเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ยับยั้งเอนไซม์ที่กระตุ้นการสร้างอนุมูลอิสระ มีคุณสมบัติต้านการอักเสบ ต้านจุลชีพ ต้านมะเร็ง และต้านเบาหวาน นอกจากนี้ ยังมีบทบาทในการปกป้องโครงสร้างผิว ยับยั้งการสร้างเม็ดสี เพิ่มการสร้างเส้นเลือดใหม่และเร่งการสมานแผล

    1. ส่งเสริมสุขภาพทางเดินอาหาร

    สาเกเป็นเครื่องดื่มหมักดองที่ส่งผลดีต่อสุขภาพลำไส้ เนื่องจากมีแป้งต้านทาน (Resistant Starch) และโปรตีนต้านทาน (Resistant Protein) จำนวนมากที่ไม่ย่อยสลายด้วยเอนไซม์ ทำให้จุลินทรีย์ในลำไส้ กรดแลคติก (Lactic) และกรดซิตริก (Citric Acids) มีความเข้มข้นสูงขึ้นซึ่งส่งผลให้ลำไส้แข็งแรงมากขึ้น โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ศึกษาเกี่ยวกับการบริโภคเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของสาเกและข้าวมอลต์ในการเปลี่ยนแปลงของจุลินทรีย์ในลำไส้ พบว่า การดื่มเครื่องดื่มที่มีสาเกเป็นส่วนผสมส่งผลดีต่อลำไส้ ระบบย่อยอาหาร ระบบภูมิคุ้มกันและเพิ่มจำนวนจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์อย่างแลคโตบาซิลลัสในลำไส้ ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพทางเดินอาหาร นอกจากนี้ ยังเพิ่มปริมาณมิวซิน (Mucin) ที่ทำหน้าที่เป็นชั้นเมือกป้องกันการทำลายผิวเยื่อบุในกระเพาะอาหาร

    1. อาจดีต่อสุขภาพผิว

    สาเกมีกรดไขมันไลโนเลอิก (Linoleic Acid) ที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว จึงอาจมีประสิทธิภาพช่วยป้องกันริ้วรอย ความหมองคล้ำ ชะลอความเสื่อมสภาพของผิวหนังตามวัย ในประเทศญี่ปุ่นมีการแช่ตัวด้วยสาเก และนำสาเกมาเป็นส่วนผสมของครีม โลชั่นและแชมพูเพื่อฟื้นฟูสภาพผิว โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Clinical, Cosmetic and Investigational Dermatology เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2561 ศึกษาเกี่ยวกับกรดไลโนเลอิกกับยูเรีย (Urea) ในการรักษาโรคภูมิแพ้ผิวหนัง พบว่า กรดไลโนเลอิกเป็นกรดไขมันที่มีมากที่สุดในหนังกำพร้า มีบทบาทสำคัญในโครงสร้างผิวและมีหน้าที่เป็นเกราะป้องกันผิวหนังชั้นนอก การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีกรดไลโนเลอิกจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว ช่วยลดความรุนแรงของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ช่วยต้านการอักเสบและลดอาการแดงบนผิวหนัง

    1. อาจส่งเสริมสุขภาพหลอดเลือดแดงและการไหลเวียนเลือด

    การดื่มสาเกในปริมาณน้อยถึงปานกลางอาจช่วยลดคอเลสเตอรอลในหลอดเลือดและลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ แต่หากดื่มมากเกินไปก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและโรคอื่น ๆ ที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้เช่นกัน โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน Journal of the American College of Cardiology เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2550 ศึกษาเกี่ยวกับแอลกอฮอล์และสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด พบว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณน้อยถึงปานกลาง คือ ผู้หญิงไม่เกิน 1 แก้ว/วัน และผู้ชายไม่เกิน 1-2 แก้ว/วัน    แต่สำหรับสาเกไม่ควรดื่มเกิน 250-375 มิลิลิตร/วัน หรือ 1-1 แก้วครึ่ง ส่งผลดีต่อการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยการปรับปรุงความไวของอินซูลินและเพิ่มไขมันดี (HDL) ที่ช่วยขจัดไขมันไม่ดี (LDL) ออกจากหลอดเลือดแดง ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดสมอง สมองเสื่อม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเกินไป อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคที่กล่าวมาข้างต้นและเสี่ยงเสียชีวิตได้เช่นกัน

    ข้อควรระวังในการบริโภคสาเก

    การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปส่งผลเสียต่อสุขภาพมากมาย เช่น

    • เมาค้าง คลื่นไส้ อาเจียน
    • มะเร็ง เช่น มะเร็งช่องปาก มะเร็งคอ มะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม
    • ความดันโลหิตสูง
    • โรคตับ ตับอ่อนอักเสบ มะเร็งตับ
    • โรคอ้วน
    • โรคเบาหวานชนิดที่ 2
    • สุขภาพหัวใจ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง หัวใจวาย
    • โรคพิษสุราเรื้อรัง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 12/04/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา