backup og meta

หอยแมลงภู่ ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

หอยแมลงภู่ ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

หอยแมลงภู่ เป็นอาหารทะเลที่นิยมนำไปลวกรับประทานคู่กับน้ำจิ้มซีฟู้ด และสามารถนำไปประกอบอาหารได้หลายชนิด เช่น หอยแมลงภู่อบใบโหระพา ยำขนมจีนใส่หอยแมลงภู่ แกงหอยแมลงภู่ใบชะพลู ซึ่งหอยแมลงภู่อุดมไปด้วยโปรตีน และกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่ดีต่อสุขภาพหัวใจ รวมทั้งเหล็ก และวิตามินบี 12 ที่มีบทบาทช่วยผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง และอาจช่วยป้องกันโรคโลหิตจางได้

[embed-health-tool-bmi]

คุณค่าทางโภชนาการของหอยแมลงภู่

หอยแมลงภู่ปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 172 กิโลแคลอรี่ และประกอบด้วยสารอาหารต่าง ๆ เช่น

  • น้ำ 60.5 กรัม
  • โปรตีน 24 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 7 กรัม
  • ไขมัน 4.5 กรัม
  • โพแทสเซียม 268 มิลลิกรัม

นอกจากนี้ หอยแมลงภู่ยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม เหล็ก ฟอสฟอรัส โซเดียม สังกะสี ทองแดง ซีลีเนียม (Selenium) โฟเลต (Folate) วิตามินซี วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 5 วิตามินบี 6 วิตามินบี 12 วิตามินอี

ประโยชน์ของหอยแมลงภู่ต่อสุขภาพ

หอยแมลงภู่ มีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนประโยชน์ของหอยแมลงภู่ในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้

  1. อุดมไปด้วยโปรตีน

หอยแมลงภู่เป็นอาหารทะเลที่ให้โปรตีนสูงและอุดมไปด้วยกรดอะมิโนจำเป็น เช่น กรดแอสพาร์ติก (Aspartic Acid) กรดอาร์จินีน (Arginine) กรดแอล-ไลซีน (L-Lysine) ลิวซีน (Leucine) วาลีน (Valine) ไอโซลิวซีน (Isoleucine) ที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพกล้ามเนื้อ และระบบภูมิคุ้มกัน

โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 ศึกษาเกี่ยวกับหอยแมลงภู่เป็นแหล่งโปรตีนที่มีคุณค่าทางโภชนาการ อุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 พบว่า หอยแมลงภู่เป็นแหล่งโปรตีนที่ดีและมีกรดอะมิโนใกล้เคียงกับเนื้อวัว โดยเนื้อวัว 24 กรัม มีกรดอะมิโน 600 กิโลจูล เทียบเท่ากับหอยแมลงภู่ 22 กรัม มีกรดอะมิโน 600 กิโลจูล จึงสามารถรับประทานหอยแมลงภู่ทดแทนการรับประทานเนื้อแดง เพื่อเสริมโปรตีน เสริมและรักษามวลกล้ามเนื้อ เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน รวมถึงเสริมสร้างกระดูกและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ

  1. อาจดีต่อสุขภาพหัวใจ

หอยแมลงภู่เป็นอาหารทะเลที่อุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่เป็นไขมันดี (HDL) และช่วยลดการสะสมของไขมันไม่ดี (LDL) ในหลอดเลือด จึงอาจช่วยลดความดันโลหิต ช่วยให้เลือดไหลเวียนเป็นปกติ และช่วยให้หัวใจเต้นอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพหัวใจ

โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2562 ศึกษาเกี่ยวกับการบริโภคหอยแมลงภู่เพื่อปรับปรุงโอเมก้า 3 พบว่า หอยแมลงภู่อุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 2 ชนิด คือ กรดไอโคซาเพนตาอีโนอิหรืออีพีเอ (Eicosapentaenoic Acid หรือ EPA) และกรดโดโคซาเฮกซาอีโนอิกหรือดีเอชเอ (Docosahexaenoic Acid หรือ DHA) ที่ดีต่อสุขภาพกล้ามเนื้อ รวมถึงสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด ช่วยลดและชะลอการสะสมของไขมันไม่ดีในหลอดเลือด ดังนั้น การรับประทานหอยแมลงภู่จึงอาจดีต่อสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด

  1. อาจช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง

การเสริมเหล็กและวิตามินบี 12 ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน ด้วยการรับประทานหอยแมลงภู่ที่มีสารอาหารที่สำคัญเหล่านี้ในปริมาณสูง อาจช่วยส่งเสริมสุขภาพของเซลล์เม็ดเลือดแดงและอาจช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง

โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Comprehensive Reviews in Food Science and Food Safety เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2560 ศึกษาเกี่ยวกับหอย คุณค่าทางโภชนาการ ประโยชน์ต่อสุขภาพ และความปลอดภัยของผู้บริโภค พบว่า หอยแมลงภู่อุดมไปด้วยเหล็กที่เป็นส่วนหนึ่งของฮีโมโกลบินที่มีอยู่ในเซลล์เม็ดเลือดแดง และยังมีวิตามินบี 12 ที่มีบทบาทช่วยในการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงจึงสามารถช่วยป้องกันโรคโลหิตจางได้

  1. อาจช่วยปรับปรุงการทำงานของสมอง

การรับประทานหอยแมลงภู่ที่อุดมไปด้วยโปรตีนและกรดอะมิโนจำเป็น เช่น ฮิสทิดีน (Histidine) ทริปโตเฟน (Tryptophan) ฟีนิลอะลานีน (Phenylalanine) อาจช่วยปกป้องสุขภาพสมอง และช่วยปรับปรุงการทำงานของสมองที่เสื่อมสภาพตามอายุได้

โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Food and Chemical Toxicology เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2556 ศึกษาเกี่ยวกับหอยแมลงภู่ในการปรับปรุงสุขภาพสมองและลดความเสื่อมของสมอง พบว่า หอยแมลงภู่อุดมไปด้วยโอลิโกเปปไทด์ (Oligopeptide) ซึ่งเป็นโมเลกุลโปรตีนที่ประกอบด้วยกรดอะมิโน ซึ่งช่วยปรับปรุงการเรียนรู้ทางปัญญา ความสามารถในการจำ และช่วยปกป้องเซลล์ประสาท รวมถึงยังช่วยป้องกันการอักเสบของเซลล์สมองจากการทำลายของสารอนุมูลอิสระ จึงช่วยปรับปรุงการทำงานของสมองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของหอยแมลงภู่ในการช่วยปรับปรุงการทำงานของสมอง

ข้อควรระวังในการบริโภคหอยแมลงภู่

การรับประทานหอยแมลงภู่อาจมีข้อควรระวัง ดังนี้

  • โรคภูมิแพ้ หอยแมลงภู่เป็นสารก่อภูมิแพ้ชนิดหนึ่ง ดังนั้น ผู้ที่มีอาการแพ้หอยควรหลีกเลี่ยงการรับประทานหอยทุกชนิด เพื่อป้องกันอาการของโรคภูมิแพ้กำเริบ และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
  • อาจเสี่ยงในการปนเปื้อนเชื้อโรค ควรรับประทานหอยแมลงภู่ที่ผ่านการปรุงสุก เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมากับหอย โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคตับ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคมะเร็ง
  • อาจปนเปื้อนสารปรอท หอยแมลงภู่เป็นอาหารทะเลที่อาจมีการปนเปื้อนของสารปรอท จึงควรรับประทานไม่เกิน 340 กรัม/สัปดาห์ เพื่อป้องกันร่างกายได้รับสารปรอทมากเกินไป จนอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น หายใจลำบาก ปอดอักเสบ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Mussels, steamed or poached. https://fdc.nal.usda.gov/fdc-app.html#/food-details/1099131/nutrients. Accessed September 6, 2022

Mussel oligopeptides ameliorate cognition deficit and attenuate brain senescence in D-galactose-induced aging mice. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/23796539/. Accessed September 6, 2022

Shellfish: Nutritive Value, Health Benefits, and Consumer Safety. https://www.researchgate.net/publication/320664039_Shellfish_Nutritive_Value_Health_Benefits_and_Consumer_Safety. Accessed September 6, 2022

Mussel Consumption as a “Food First” Approach to Improve Omega-3 Status. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6628055/#:~:text=Mussels%20are%20high%20in%20omega,status%20of%20free%2Dliving%20participants. Accessed September 6, 2022

Farmed Mussels: A Nutritive Protein Source, Rich in Omega-3 Fatty Acids, with a Low Environmental Footprint. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC8067026/#:~:text=Mussels%20are%20an%20excellent%20source,kJ%20of%20lean%20steak%20vs. Accessed September 6, 2022

Mussels: Are They Good for You?. https://www.webmd.com/diet/mussels-good-for-you#:~:text=Mussels%20are%20also%20high%20in,production%20of%20red%20blood%20cells.&text=Omega%2D3%20fatty%20acids%20are,%2D3s%2C%20EPA%20and%20DHA. Accessed September 6, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

23/01/2024

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ปลาทะเล ประโยชน์และข้อควรระวังในการรับประทาน

แพ้อาหารทะเล อาการ สาเหตุ และวิธีรับมือ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 23/01/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา