backup og meta

เอื้องหมายนา สรรพคุณต่อสุขภาพ และข้อควรระวังในการบริโภค

เอื้องหมายนา สรรพคุณต่อสุขภาพ และข้อควรระวังในการบริโภค

เอื้องหมายนา (Crepe Ginger) เป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งที่มักเห็นอยู่ตามสวนสาธารณะ ต้นสูงประมาณ 1-3 เมตร มีดอกสีขาว พบได้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศอินเดีย ประเทศจีน และประเทศออสเตรเลีย ชาวอินเดียนิยมใช้เอื้องหมายนาเป็นยาอายุรเวทมาอย่างยาวนาน โดยใช้ราก ลำต้น ใบ สำหรับใช้เป็นสมุนไพรบำรุงร่างกาย นอกจากนั้น ยังอาจนำหน่อและดอกอ่อนมาบริโภคเป็นผักเคียงในมื้ออาหาร เอื้องหมายนามีสรรพคุณเป็นยา อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ป้องกันโรคตับ รวมถึงต้านมะเร็ง

[embed-health-tool-bmr]

คุณค่าทางโภชนาการของ เอื้องหมายนา

เอื้องหมายนา 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 379 กิโลแคลอรี่ มีสารอาหารต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนี้

  • โพแทสเซียม 110.46 มิลลิกรัม
  • แคลเซียม 47.07 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 30.55 มิลลิกรัม
  • เหล็ก 9.18 มิลลิกรัม

นอกจากนี้ เอื้องหมายนายังมีวิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระต่าง ๆ   เช่น วิตามินซี วิตามินอี เบต้าแคโรทีน (Beta-carotene) กลูตาไทโอน (Glutathione) ฟีนอล (Phenol) ไดออสจีนีน (Diosgenin) ทอรีน (Taurine) ซึ่งช่วยบำรุงสุขภาพ บำรุงผิวพรรณ ปกป้องเซลล์ของร่างกายจากความเสียหาย และอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ

ประโยชน์ของเอื้องหมายนาต่อสุขภาพ

เอื้องหมายนาประกอบไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติต่าง ๆ ของเอื้องหมายนา ดังนี้

1.อาจช่วยลดความเสี่ยงโรคเบาหวาน

เอื้องหมายนามีสารต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ไดออสจีนีน เป็นสารสกัดที่มีคุณสมบัติช่วยลดอัตราการดูดซึมคอเลสเตอรอลเข้าสู่ร่างกาย ทอรีน เป็นกรดอะมิโนที่มีคุณสมบัติช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด รวมถึงกระตุ้นการหลั่งอินซูลิน ฮอร์โมนจากตับอ่อนซึ่งคอยควบคุมระดับน้ำตาลไม่ให้สูงเกินไป โดยการลำเลียงน้ำตาลไปยังเซลล์ต่าง ๆ เพื่อเป็นพลังงาน การบริโภคเอื้องหมายนาจึงอาจช่วยลดความเสี่ยงโรคเบาหวาน รวมทั้งป้องกันภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ว่าด้วยการลดระดับน้ำตาลในเลือดของสารสกัดสเตรปโตโซโตซิน (Streptozotocin) จากเอื้องหมายนา ตีพิมพ์ในวารสาร Saudi Medical Journal ปี พ.ศ. 2557 นักวิจัยทำการทดลองในสัตว์ทดลอง โดยแบ่งสัตว์ทดลองซึ่งป่วยเป็นโรคเบาหวาน เป็น 4 กลุ่ม โดย 3 กลุ่มแรกให้บริโภคสารสกัดเอื้องหมายนาทุกวัน ในอัตราส่วนที่แตกต่างกัน ได้แก่ 200, 400 และ 600 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว ขณะที่กลุ่มสุดท้ายบริโภคยาต้านเบาหวานไกลเบนคลาไมด์ (Glibenclamide) ทุกวัน ในอัตราส่วน 600 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว

หลังสิ้นสุดการทดลอง ซึ่งใช้เวลาทั้งหมด 4 สัปดาห์ นักวิจัยพบว่า สารสกัดเอื้องหมายนามีส่วนช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลองได้ รวมถึงช่วยเพิ่มระดับอินซูลินของสัตว์ทดลอง

นอกจากนี้ นักวิจัยยังพบว่า สัตว์ทดลองกลุ่มที่บริโภคสารสกัดเอื้องหมายนา 600 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว มีความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลในร่างกายมากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่บริโภคยาต้านเบาหวาน

อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของเอื้องหมายนา ในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

2.อาจป้องกันโรคเกี่ยวกับตับ

เอื้องหมายนามีสารประกอบฟีนอลหลายชนิดที่มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ต้านการกลายพันธุ์ของเซลล์ เช่น ซาโปนิน (Saponin) สเตียรอยด์ (Steroid) ไกลโคไซด์ (Glycoside) รวมทั้งสรรพคุณในการช่วยป้องกันโรคตับซึ่งเกิดจากสารพิษ การบริโภคเอื้องหมายนา จึงอาจมีส่วนช่วยบำรุงสุขภาพตับและลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคตับ

การศึกษาหนึ่งเกี่ยวกับคุณสมบัติของเอื้องหมายนาในการป้องกันภาวะพิษต่อตับจากการรับประทานยาพาราเซตามอลา เผยแพร่ในวารสาร African Journal of Traditional, Complementary and Alternative Medicines ปี พ.ศ. 2561 โดยนักวิจัยได้ทำการทดลองให้สัตว์ทดลองที่ป่วยเป็นโรคตับจากฤทธิ์ของยาพาราเซตามอลบริโภคสารสกัดจากเอื้องหมายนาในอัตราส่วนที่แตกต่างกันพบว่า ตับของสัตว์ทดลองที่เสียหายจากฤทธิ์ยาพาราเซตามอลนั้นมีสุขภาพแข็งแรงขึ้น สรุปได้ว่า สารสกัดจากเอื้องหมายนา อาจมีศักยภาพป้องกันโรคตับเนื่องจากพาราเซตามอลและสารที่ก่อให้เกิดภาวะความเป็นพิษต่อตับ

อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของเอื้องหมายนา

3.อาจช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง

เอื้องหมายนาอุดมไปด้วยสารพฤกษเคมีต่าง ๆ ซึ่งอาจมีสรรพคุณต้านมะเร็ง อาทิ ไดโอสเจนีน เบต้าอะมีริน (Beta-amyrin) แคมฟีน (Camphene) การบริโภคเอื้องหมายนาจึงอาจมีส่วนช่วยบำรุงเซลล์และลดโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็ง

การศึกษาชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับศักยภาพต้านมะเร็งของสารไดออสจีนีนในเอื้องหมายนา เผยแพร่ในวารสาร Complementary and Alternative Medicine ปี พ.ศ. 2558 นักวิจัยทำการทดลองในหลอดทดลองโดยใช้สารสกัดไอออสจีนินจากเอื้องหมายนากับเซลล์มะเร็ง พบว่า สารไดโอสเจนีนซึ่งสกัดจากเอื้องหมายนาอาจมีส่วนช่วยควบคุมการเติบโตของเซลล์มะเร็ง จึงสรุปได้ว่า เอื้องหมายนาอาจมีคุณสมบัติต้านมะเร็ง โดยการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเซลล์เนื้อร้าย จึงอาจบริโภคเอื้องหมายนาเพื่อช่วยต่อต้านมะเร็งได้

อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นการทดลองในหลอดทดลอง ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของเอื้องหมายนา ในการป้องกันมะเร็ง

ข้อควรระวังในการบริโภค เอื้องหมายนา

แม้ว่า เอื้องหมายนา จะมีสารประกอบที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ควรระมัดระวังในการนำมาบริโภคเพื่อใช้เป็นยา และไม่ควรบริโภคมากเกินไป เพราะอาจทำให้เวียนศีรษะ อาเจียน หรือท้องร่วงได้

เอื้องหมายนา สามารถรับประทานร่วมกับอาหารเสริมได้ อย่างไรก็ตาม หากต้องการบริโภคเอื้องหมายนาร่วมกับยาแผนปัจจุบัน ควรปรึกษาคุณหมอก่อนเพื่อความปลอดภัยและป้องกันผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นแก่ร่างกายได้

ในกรณีคุณหมอจ่ายยาแผนปัจจุบันให้รับประทานร่วมกับเอื้องหมายนา ควรรับประทานยาแผนปัจจุบันก่อน จากนั้นรออีก 30 นาที จึงค่อยรับประทานเอื้องหมายนา

สตรีมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร ควรหลีกเลี่ยงการใช้เอื้องหมายนาหรือสารสกัดจากเอื้องหมายนาเพื่อเป็นยาสมุนไพรบำรุงร่างกายเพราะอาจทำให้เกิดผลต่อภาวะครรภ์และสุขภาพ เนื่องจากในเอื้องหมายนามีตัวยาที่อาจส่งผลให้มดลูกเกิดการบีบตัวจนเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Molecular mechanisms of anti-hyperglycemic effects of Costus speciosus extract in streptozotocin-induced diabetic rats. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4362175/. Accessed May 17, 2022

Endang Linirin Widastuti, Sutyarso, Gregorius Nugroho Susanto, Mahmud Rudini and Mohammad Kanedi. https://biomedpharmajournal.org/vol10no1/ameliorative-properties-of-crude-diosgenin-from-costus-speciosus-and-taurine-on-testicular-disorders-in-alloxan-induced-diabetic-mice/. Accessed May 17, 2022

Costus speciosus and Coccinia grandis: Traditional medicinal remedies for diabetes. https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0254629915000137#bbb0110. Accessed May 17, 2022

HEPATOPROTECTIVE ACTIVITY OF COSTUS SPECIOSUS(KOEN. EX. RETZ.) AGAINSTPARACETAMOL-INDUCED LIVER INJURY IN MICE. https://journals.athmsi.org/index.php/ajtcam/article/view/5006/3091. Accessed May 17, 2022

Anticancer and apoptotic effects on cell proliferation of diosgenin isolated from Costus speciosus (Koen.) Sm. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4556405/. Accessed May 17, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

27/05/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

กระเจี๊ยบเขียว สารอาหาร และข้อควรระวังในการบริโภค

มะลิ คุณประโยชน์ต่อสุขภาพ และข้อควรระวังในการใช้


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 27/05/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา