backup og meta

แครอท ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 30/10/2021

    แครอท ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

    แครอท เป็นผักที่อุดมไปด้วยสารอาหารจำพวกวิตามิน แร่ธาตุ เส้นใย และสารต้านอนุมูลอิสระหลากหลายชนิดที่อาจช่วยบำรุงสายตา กระดูก ระบบภูมิคุ้มกัน ลดคอเลสเตอรอล และอาจช่วยป้องกันโรคหัวใจ เบาหวาน และมะเร็งบางชนิด การรับประทานแครอทในปริมาณที่เหมาะสมและผ่านการปรุงอย่างถูกวิธีอาจเพิ่มประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น

    ประโยชน์ของแครอท

    ปริมาณการบริโภคแครอทที่เหมาะสมต่อวัน อยู่ที่ประมาณครึ่งถ้วย โดยให้พลังงาน 25 แคลอรี่ คาร์โบไฮเดรต 6 กรัม โปรตีน 0.5 กรัม ไฟเบอร์ 2 กรัม น้ำตาล 3 กรัม ให้วิตามินและแร่ธาตุต่อความต้องการของร่างกาย 1 วัน ได้แก่ วิตามินเอ 73% วิตามินซี 5% วิตามินเค 9% โพแทสเซียมและไฟเบอร์ 8% แคลเซียมและธาตุเหล็ก 2%

    นอกจากนี้ แครอทยังมีสารประกอบอื่น ๆ ที่ให้ประโยชน์ช่วยต้านอนุมูลอิสระส่งผลดีต่อระบบภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยงการเจ็บป่วย เช่น โรคหัวใจ สุขภาพกระดูกและตา ความดันโลหิต และโรคมะเร็งบางชนิด สารประกอบหลักที่พบในแครอท ดังนี้

    • เบต้าแคโรทีน (Beta carotene) พบปริมาณมากในแครอทสีส้ม มีส่วนช่วยต้านอนุมูลอิสระ สามารถดูดซึมได้ดีขึ้นหากรับประทานแบบปรุงสุก แต่หากรับประทานมากเกินไปอาจทำให้ผิวเป็นสีส้มได้
    • อัลฟ่าแคโรทีน (Alpha-carotene) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระเหมือนกับเบต้าแคโรทีน สามารถเปลี่ยนเป็นวิตามินเอเพื่อใช้ในร่างกายได้
    • แอนโธไซยานิน (Anthocyanins) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่พบในแครอทสีม่วง
    • ไลโคปีน (Lycopene) พบมากในแครอทสีแดงและสีม่วง ช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและโรคมะเร็ง
    • โพลิอะเซทิลีน (Polyacetylenes) อาจช่วยป้องกันมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งชนิดอื่น

    แครอทมีหลายสี อาจมีรสชาติและคุณประโยชน์ที่แตกต่างกัน ดังนี้

  • แครอทสีส้ม มีเบตาแคโรทีนสูงที่สุด เป็นเม็ดสีช่วยต้านอนุมูลอิสระ
  • แครอทสีขาว อุดมไปด้วยสารอาหาร วิตามิน แร่ธาตุ และไฟเบอร์ ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น
  • แครอทสีเหลือง อุดมไปด้วยเบต้าแคโรทีนและลูทีน ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระช่วยปกป้องเซลล์จากความเสียหาย จึงอาจมีส่วนช่วยส่งเสริมสุขภาพดวงตาได้
  • แครอทสีแดง อุดมไปด้วยไฟเบอร์ ไบโอติน โพแทสเซียม วิตามินเค วิตามินบี 6 วิตามินซี และโมลิบดีนัม (Molybdenum) ช่วยกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์เพื่อกำจัดสารพิษบางชนิด
  • แครอทสีแดง อุดมไปด้วยแคโรทีนอยด์และแอนโธไซยานินสูง อาจช่วยรักษาอาการอักเสบและโรคอ้วนได้
  • สารอาหารและสารประกอบหลายชนิดในแครอท อาจมีส่วนช่วยป้องกันและส่งเสริมสุขภาพในด้านต่าง ๆ ดังนี้

    • ส่งเสริมสุขภาพตา แครอทอุดมไปด้วยเบต้าแคโรทีนที่สามารถเปลี่ยนเป็นวิตามินเอ ช่วยให้ดวงตาแข็งแรง ปกป้องตาจากแสงแดด ลดโอกาสเกิดต้อกระจก และปัญหาสายตาอื่น ๆ นอกจากนี้ การรับประทานแครอทสีเหลืองที่มีลูทีนสูงอาจช่วยป้องกันการเสื่อมสภาพของดวงตาตามอายุได้
    • ส่งเสริมสุขภาพกระดูก แครอทอุดมไปด้วยแคลเซียมและวิตามินเค ที่มีความสำคัญต่อสุขภาพกระดูก
    • เสริมระดับภูมิคุ้มกัน แครอทมีวิตามินซีช่วยสร้างแอนติบอดีที่ส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง นอกจากนี้ วิตามินซียังช่วยดูดซึมธาตุเหล็กป้องกันการติดเชื้อได้
    • ดีต่อสุขภาพทางเดินอาหารและอาจช่วยแก้อาการท้องผูก แครอทมีแส้นใยและน้ำมาก ช่วยส่งเสริมการทำงานของลำไส้และระบบทางเดินอาหาร ลดอาการท้องผูกได้
    • อาจช่วยควบคุมโรคเบาหวาน ไฟเบอร์ในแครอทอาจช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้สมดุล นอกจากนี้ วิตามินเอและเบต้าแคโรทีน อาจช่วยลดความเสี่ยงเกิดโรคเบาหวานได้
    • ลดความเสี่ยงความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ โพแทสเซียมในแครอทอาจช่วยรักษาระดับความดันโลหิตให้สมดุล มีสารต้านอนุมูลอิสระและไลโคปีนซึ่งช่วยป้องกันโรคหัวใจ และยังมีเส้นใยช่วยควบคุมน้ำหนัก และลดโอกาสเกิดโรคหัวใจได้
    • ลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง แคโรทีนอยด์และแอนโทไซยานินเป็นสารต้านอนุมูลอิสระในแครอท อาจช่วยลดโอกาสเกิดมะเร็งได้ พบมากในแครอทสีส้ม สีเหลือง สีม่วง และสีแดง

    ความเสี่ยงในการรับประทานแครอท

    ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเมื่อรับประทานแครอท มีดังนี้

    1. หากรับประทานแครอทที่มีเบต้าแคโรทีนมากเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะผิวสีส้มหรือสีเหลือง (Carotenemia) ซึ่งไม่เป็นอันตราย แต่ในกรณีที่มีอาการรุนแรงมาก อาจยับยั้งการทำงานของวิตามินเอ ส่งผลต่อการมองเห็น กระดูก ผิวหนัง ระบบเผาผลาญ และระบบภูมิคุ้มกันได้
    2. เมื่อรับประทานแครอท บางคนอาจเกิดอาการภูมิแพ้ในช่องปาก อาจมีอาการคันปาก เนื่องจาก ร่างกายทำปฏิกิริยากับโปรตีนในผักและผลไม้บางชนิด จึงควรรับประทานแครอทที่ปรุงสุกแล้ว ซึ่งอาจช่วยลดอาการภูมิแพ้ได้
    3. แครอทที่ปลูกในดินที่ปนเปื้อนสารเคมี สารตะกั่ว หรือโลหะหนักจำนวนมาก อาจส่งผลต่อคุณภาพของแครอทและความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค อาจมีผลต่อเซลล์ไขกระดูก ระบบประสาท และการทำงานของไต อาจทำให้มีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก น้ำหนักลด นอกจากนี้ อาจส่งผลต่อเม็ดเลือดแดงเสี่ยงต่อโรคโลหิตจาง ดังนั้น จึงควรเลือกซื้อแครอทจากแหล่งเพาะปลูกที่ปลอดภัยและล้างให้สะอาด หรือปรุงให้สุกก่อนรับประทานเสมอ

    วิธีรับประทานและทำความสะอาดแครอท

    แครอทสามารถรับประทานดิบหรือปรุงสุกได้ แต่อาจเป็นข้อยกเว้นในบางคนที่มีอาการภูมิแพ้ อาจต้องปรุงสุกก่อนรับประประทาน ซึ่งเบต้าแคโรทีนในแครอทอาจดูดซึมได้ดีในแครอทปรุงสุก

    ควรรับประทานแครอทสดหรือแครอทนึ่ง เพราะให้คุณค่าทางอาหารสูง หลีกเลี่ยงการต้มเพราะอาจลดหรือสูญเสียวิตามินหรือแร่ธาตุอื่น ๆ

    แคโรทีนอยด์และวิตามินเออาจดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดีขึ้นเมื่อมีไขมัน จึงควรรับประทานแครอทควบคู่กับไขมันที่ดี เช่น อะโวคาโด ถั่ว ธัญพืช หรือน้ำมันรำข้าว

    เทคนิคล้างผัก

    ล้างผักเพื่อขจัดสารปนเปื้อนสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้

    1. การแช่ผักด้วยโซเดียมไบคาร์บอเนตหรือผงฟู 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำอุ่น 20 ลิตร ประมาณ 15 นาที อาจช่วยลดสารพิษที่ตกค้างได้ประมาณ 90%
    2. การแช่ผักด้วยผงถ่านแอคติเวตชาร์โคล (Activated Charcoal) หรือผงคาร์บอนกัมมันต์ ประมาณ 1 ช้อนชา ต่อน้ำ 5 ลิตร แช่ทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที ล้างออกด้วยน้ำสะอาด อาจช่วยดูดซับสารเคมี สี และกลิ่น ได้ประมาณ 90%
    3. การแช่ผักในน้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำเปล่า 20 ลิตร ประมาณ 30-45 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด อาจช่วยลดปริมาณสารพิษได้ประมาณ 80%
    4. การล้างผักให้น้ำไหลผ่านและใช้มือล้างผักประมาณ 2 นาที อาจช่วยลดสารพิษได้ถึง 60%
    5. การแช่ผักและผลไม้ในด่างทับทิมประมาณ 20-30 เกล็ด อาจช่วยลดสารพิษได้ประมาณ 40%
    6. การล้างด้วยน้ำสะอาดและน้ำยาล้างผัก อาจช่วยลดสารพิษได้ประมาณ 25%

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 30/10/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา