backup og meta

แมลงทอด ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 07/06/2022

    แมลงทอด ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

    แมลงทอด เป็นอาหารกินเล่นที่อาจพบได้บ่อยตามท้องตลาด อุดมไปด้วยโปรตีน ซึ่งอาจรับประทานเป็นแหล่งอาหารทางเลือกเพื่อเสริมโปรตีนให้กับร่างกายได้ นอกจากนี้ ยังอุดมไปด้วยแร่ธาตุหลายชนิดและไขมันดีที่อาจช่วยป้องกันการสะสมของคอเลสเตอรอลในหลอดเลือดที่เป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมอง

    คุณค่าทางโภชนาการของแมลงทอด

    แมลงทอด เป็นอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีน ซึ่งแมลงทอดแต่ละชนิดอาจให้พลังงานในปริมาณที่แตกต่างกัน เช่น

    • จิ้งหรีด หนึ่งหน่วยบริโภค 100 กรัม ให้พลังงาน 133 แคลอรี่ โปรตีน 18.6 กรัม ไขมัน 6.0 กรัม ไฟเบอร์ 1.53 กรัม คาร์โบไฮเดรต 1.0 กรัม
    • ดักแด้ไหม หนึ่งหน่วยบริโภค 100 กรัม ให้พลังงาน 152 แคลอรี่ โปรตีน 14.7 กรัม ไขมัน 17.7กรัม คาร์โบไฮเดรต 4.7 กรัม ไขมัน 0.286 กรัม
    • หนอนรถด่วน หนึ่งหน่วยบริโภค 100 กรัม ให้พลังงาน 231 แคลอรี่ โปรตีน 9.2 กรัม ไขมัน 20.4 กรัม คาร์โบไฮเดรต 2.5 กรัม
    • ตั๊กแตนปาทังก้า หนึ่งหน่วยบริโภค 100 กรัม ให้พลังงาน 157 แคลอรี่ โปรตีน 27.6 กรัม ไขมัน 4.7 กรัม คาร์โบไฮเดรต 1.2 กรัม

    นอกจากนี้ แมลงทอดยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น แคลเซียม เหล็ก ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม สังกะสี แมกนีเซียม ทองแดง โฟเลต (Folate) ไบโอติน (Biotin) กรดแพนโทเทนิก (Pantothenic Acid) วิตามินบี

    ประโยชน์ของแมลงทอดที่มีต่อสุขภาพ

    แมลงทอดมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของแมลงทอดในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้

    1. อุดมไปด้วยโปรตีน

    โปรตีนเป็นสารอาหารหลักที่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับทุกวัน เพื่อใช้เป็นพลังงาน ส่งเสริมการเจริญเติบโตร่างกาย และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ซึ่งการรับประทานแมลงทอดที่อุดมไปด้วยโปรตีนจึงอาจใช้เป็นอาหารเสริมทดแทน เพื่อเสริมโปรตีนให้กับร่างกายได้เทียบเท่ากับการรับประทานโปรตีนจากเนื้อสัตว์หรือจากพืช

    โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Food Science of Animal Resources เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของแมลงที่บริโภคได้ พบว่า คุณค่าทางโภชนาการของแมลงแตกต่างกันไปตามชนิด ระยะพัฒนาการของแมลง เพศ สายพันธุ์ และสภาพแวดล้อมในการเจริญเติบโต โดยนักวิจัยเห็นพ้องกันว่าแมลงเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยโปรตีน ไขมันและวิตามิน โปรตีนของแมลงกินได้แบบแห้งโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 35-60% ซึ่งสูงกว่าแหล่งโปรตีนจากพืช เช่น ซีเรียล ถั่วเหลือง หรืออาจให้โปรตีนมากกว่าเนื้อสัตว์หรือไข่ไก่ โดยเฉพาะจิ้งหรีด ตั๊กแตนขาเดียวและตั๊กแตนตำข้าว อาจมีโปรตีนสูงเป็นพิเศษ

    ดังนั้น การรับประทานแมลงทอดจึงอาจเป็นแหล่งอาหารเสริมโปรตีนที่ดี สำหรับรับประทานทดแทนแหล่งโปรตีนหลักจากเนื้อสัตว์หรือโปรตีนจากพืช

    1. อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่ดีต่อสุขภาพ

    แมลงทอดนอกจากจะอุดมไปด้วยโปรตีนที่ดีต่อสุขภาพแล้ว ยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการทำงานของร่างกาย โดยแมลงทอดแต่ละชนิดอาจมีปริมาณของสารอาหารที่ไม่เท่ากัน แต่ยังคงให้คุณค่าทางโภชนาการที่สูง ดังนั้น การรับประทานแมลงทอดจึงอาจเป็นทางเลือกของอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีในการส่งเสริมโภชนาการที่เหมาะสม

    โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Food Science of Animal Resources เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของแมลงที่บริโภคได้ พบว่า แมลงอุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรตและแร่ธาตุหลายชนิดที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยคาร์โบไฮเดรตที่พบในแมลงจะอยู่บริเวณเปลือกภายนอก มีอยู่ 2 รูปแบบ คือ ไคติน (Chitin) และไกลโคเจน (Glycogen) ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่สามารถใช้เป็นแหล่งพลังงานที่เก็บไว้ในเซลล์และเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อ

    แมลงบางชนิด เช่น ตั๊กแตน จิ้งหรีด หนอนรถด่วน อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก สังกะสี แคลเซียม ทองแดง ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม และแมงกานีส ซึ่งแมลงที่กินได้ส่วนใหญ่มีปริมาณธาตุเหล็กที่ใกล้เคียงกับเนื้อวัว ยิ่งไปกว่านั้นยังมีข้อมูลระบุอีกว่าแมลงกินได้ยังอาจประกอบไปด้วยวิตามินหลายชนิด เช่น แคโรทีน (Carotene) วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 6 วิตามินซี วิตามินดี วิตามินอี วิตามินเค โดยเฉพาะตั๊กแตนและแมลงปีกแข็ง อาจอุดมไปด้วยกรดโฟลิก

    1. อาจดีต่อสุขภาพลำไส้

    แมลงทอดอุดมไปด้วยเส้นใยที่ไม่ละลายน้ำหลายชนิด โดยเฉพาะไคตินที่อาจมีประโยชน์ต่อระบบทางเดินอาหารและการเจริญเติบโตของแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้ รวมถึงอาจช่วยป้องกันการอักเสบของลำไส้ ซึ่งอาจทำให้ลำไส้และระบบทางเดินอาหารมีสุขภาพดีขึ้น

    โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Scientific Reports เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2561 ศึกษาเกี่ยวกับการบริโภคจิ้งหรีดต่อจุลินทรีย์ในลำไส้ โดยการทดลองในผู้ใหญ่ 20 คน ให้บริโภคจิ้งหรีด 25 กรัม/วัน เป็นอาหารเช้า ในระยะเวลา 14 วัน พบว่า แมลงทอดหลายชนิดอุดมไปด้วยโปรตีน สารไคตินและเส้นใยอื่น ๆ ที่อาจส่งผลดีต่อสุขภาพลำไส้  นอกจากนี้ การรับประทานจิ้งหรีดยังช่วยสนับสนุนการเจริญเติบโตของแบคทีเรียโพรไบโอติก (Probiotic) ในลำไส้ ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มีประโยชน์ในการย่อยอาหาร ทั้งยังช่วยลดการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร ดังนั้น การรับประทานแมลงทอดจึงอาจส่งผลดีต่อสุขภาพลำไส้และระบบทางเดินอาหาร

    1. อาจช่วยลดคอเลสเตอรอล

    ไคโตซาน (Chitosan) เป็นอนุพันธ์ของไคติน ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนชนิดหนึ่งที่เอนไซม์ในลำไส้ไม่สามารถย่อยสลายได้ อาจพบได้มากในเปลือกสัตว์และพืชบางชนิด เช่น แมลง กุ้ง กั้ง ปู หอยทาก เห็ด ซึ่งอาจมีคุณสมบัติช่วยลดการดูดซึมคอเลสเตอรอลเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้คอเลสเตอรอลในเลือดลดลง

    โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Arzneimittel-Forschung Drug Research เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 ศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติในการลดคอเลสเตอรอลและความปลอดภัยของไคโตซาน พบว่า ไคตินซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่พบได้ในเปลือกสัตว์บางชนิด เช่น แมลง กุ้ง กั้ง เมื่อรับประทานเข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนแปลงไปเป็นสารไคโตซาน ซึ่งมีคุณสมบัติที่อาจช่วยควบคุมโรคอ้วน ลดคอเลสเตอรอลในเลือดและอาจใช้รักษาภาวะไขมันในเลือดสูงได้ เพราะคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนเป็นสารอาหารที่เอนไซม์ในร่างกายไม่สามารถย่อยสลายได้ จึงถูกหมักไว้ในทางเดินอาหารและช่วยจับกลุ่มไขมัน ส่งผลให้ลดการดูดซึมไขมันเข้าสู่กระแสเลือดได้ ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของไคโตซานในการช่วยลดคอเลสเตอรอล

    ข้อควรระวังในการบริโภคแมลงทอด

    การรับประทานแมลงทอดอาจมีประโยชน์มากมาย แต่อาจมีข้อควรระวังบางประการที่ควรรู้ก่อนรับประทานแมลงทอด ดังนี้

    • แมลงทอดผ่านการทอดด้วยน้ำมัน ซึ่งแมลงทอดอาจอมน้ำมันและส่งผลให้ร่างกายได้รับน้ำมันมากเกินไป ซึ่งอาจเสี่ยงทำให้เกิดโรคบางชนิด เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด คอเลสเตอรอลสูง โรคอ้วน ยิ่งไปกว่านั้นร้านขายแมลงทอดอาจใช้น้ำมันเก่าในการทอด ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายจากน้ำมันเก่าและอาจเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้
    • เครื่องปรุงรสในแมลงทอดอาจเต็มไปด้วยโซเดียม ซึ่งการรับประทานมากเกินไปอาจเสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ เช่น โรคอ้วน น้ำหนักเพิ่มขึ้น ความดันสูง
    • ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หอบหืดและผู้หญิงตั้งครรภ์ อาจต้องจำกัดหรือหลีกเลี่ยงการรับประทานแมลงทอด เนื่องจากแมลงทอดอาจไม่ได้ทำความสะอาดอย่างเหมาะสมและอาจปนเปื้อนสารก่อภูมิแพ้หรือเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ง่าย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 07/06/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา