backup og meta

Acv คืออะไร มีประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภคอย่างไร

Acv คืออะไร มีประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภคอย่างไร

Acv คือ แอปเปิ้ลไซเดอร์ หรือ น้ำส้มสายชูที่หมักจากแอปเปิ้ล นิยมใช้ในการปรุงอาหารต่าง ๆ เพื่อเพิ่มรสชาติ นอกจากนั้น แอปเปิ้ลไซเดอร์มียังมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ เช่น อาจช่วยลดน้ำหนัก บำรุงสุขภาพหัวใจ และอาจช่วยลดคอเลสเตอรอลได้ อย่างไรก็ตาม แอปเปิ้ลไซเดอร์อาจมีกรดที่ทำลายสารเคลือบฟัน และอาจลดประสิทธิภาพของยารักษาโรค ดังนั้น จึงควรรับประทานด้วยความระมัดระวัง

[embed-health-tool-bmi]

Acv คืออะไร

Acv คือ Apple Cider Vinegar หรือแอปเปิ้ลไซเดอร์ ซึ่งเป็นน้ำส้มชูหมักจากแอปเปิ้ล โดยเกิดจากกระบวนการหมักแอปเปิ้ลด้วยการเติมยีสต์ ส่งผลให้น้ำตาลในผลไม้เปลี่ยนเป็นแอลกอฮอล์ และเกิดกรดอะซิติก (Acetic acid) ที่มีรสชาติเปรี้ยวและมีกลิ่นฉุนเป็นเอกลักษณ์

แอปเปิ้ลไซเดอร์ 1 ช้อนชา อาจให้พลังงาน 7 แคลอรี่ และคาร์โบไฮเดรต 7 กรัม รวมถึงวิตามินบี วิตามินซี และโพลีฟีนอล (Polyphenols) ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่อาจช่วยซ่อมแซมเซลล์ที่ได้รับความเสียหายจากอนุมูลอิสระ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเซลล์ และส่งออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงเซลล์ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

ประโยชน์ของ Acv มีอะไรบ้าง

แอปเปิ้ลไซเดอร์มีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของแอปเปิ้ลไซเดอร์ในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้

  • อาจช่วยบรรเทาอาการโรคเบาหวาน

การรับประทานแอปเปิ้ลไซเดอร์อาจช่วยบรรเทาอาการโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่เกิดจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือมีภาวะดื้ออินซูลินได้

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเรื่องแอปเปิ้ลไซเดอร์และประสิทธิภาพในการเพิ่มปฏิกิริยาของอินซูลินต่อน้ำตาลในเลือดในผู้ที่มีภาวะดื้ออินซูลินหรือโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เมื่อรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง เผยแพร่ในวารสาร Diabetes Care พ.ศ. 2547 ได้ทำการศึกษาในผู้ที่ไม่เป็นเบาหวานเกี่ยวกับการทำปฏิกิริยาของอินซูลินจำนวน 8 ราย ผู้ที่มีภาวะดื้ออินซูลิน 11 ราย และผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 10 ราย โดยให้อดอาหารและรับประทานแอปเปิ้ลไซเดอร์ 20 กรัม ผสมกับน้ำ 40 กรัม และสารให้ความหวานแทนน้ำตาล 1 ช้อนชา หลังจากผ่านไป 2 นาที นักวิจัยให้รับประทานคาร์โบไฮเดรต 87 กรัม ทำการทดลองติดต่อกันเป็นเวลา 1 สัปดาห์ พบว่า ผู้ป่วยเบาหวานและผู้ที่มีภาวะดื้ออินซูลินที่รับประทานแอปเปิ้ลไซเดอร์มีความเข้มข้นของอินซูลินเพิ่มขึ้นประมาณ 95-115 เปอร์เซ็นต์ สะท้อนให้เห็นว่าการรับประทานแอปเปิ้ลไซเดอร์อาจช่วยเพิ่มปฏิกิริยาของอินซูลินต่อน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหารได้อย่างมีสำคัญ สรุปว่า การรับประทานแอปเปิ้ลไซเดอร์อาจสัมพันธ์กับระดับน้ำตาลในเลือด

อย่างไรก็ตาม ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมในกลุ่มตัวอย่างที่มีขนาดใหญขึ้นเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการใช้แอปเปิ้ลไซเดอร์เพื่อใช้ในการรักษาโรคเบาหวาน

  • อาจช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ

การรับประทานแอปเปิ้ลไซเดอร์อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต และคอเลสเตอรอล ที่เป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจ งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับแอปเปิ้ลไซเดอร์และประสิทธิภาพในการลดระดับไขมันและน้ำตาลในเลือด เผยแพร่ในวารสาร BMC Complementary Medicine and Therapies ปี พ.ศ. 2564 โดยศึกษาข้อมูลจากงานวิจัยจำนวน 9 ชิ้น พบว่า การรับประทานแอปเปิ้ลไซเดอร์อาจช่วยลดคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีในเลือด และช่วยเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดดีได้อย่างมีนัยสำคัญ

  • อาจช่วยบำรุงผิว

น้ำส้มสายชูมีกรดอะซิติกที่อาจช่วยปรับสมดุลค่าความเป็นกรด-เบส (pH) และเพิ่มประสิทธิภาพของเกราะป้องกันผิวเพื่อลดการระคายเคืองผิวหนัง งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับกรดอะซิติกในการช่วยรักษาโรคผิวหนัง ตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of Dermatology ปีพ.ศ. 2564  พบว่า น้ำส้มสายชูมีกรดอะซิติกที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระที่เป็นประโยชน์ในการดูแลแผลและลดการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา กำจัดเหา ผิวแตกลาย แต่หากใช้ไม่เหมาะสมหรือผิดวิธีก็อาจส่งผลให้ผิวหนังเสียหายได้

อย่างไรก็ตาม ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้ทราบถึงผลลัพธ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับประสิทธิภาพของน้ำส้มสายชูในการรักษาโรคผิวหนังต่อไป

  • อาจช่วยลดน้ำหนัก

แอปเปิ้ลไซเดอร์ อาจมีส่วนช่วยในการลดน้ำหนัก โดยช่วยทำให้รู้สึกอิ่มได้นานขึ้น จึงอาจทำให้รับประทานอาหารว่างหรืออาหารมื้อถัดไปได้น้อยลง งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของการรับประทานแอปเปิ้ลไซเดอร์ต่อการควบคุมน้ำหนัก ค่าดัชนีไขมันในช่องท้อง และไขมันในเลือด ในผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Functional Foods ปี พ.ศ. 2561 โดยให้ผู้เข้าร่วมการทดสอบจำนวน 39 ราย รับประทานอาหารที่มีแคลอรี่จำกัด ร่วมกับแอปเปิ้ลไซเดอร์เป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่า ผู้เข้าร่วมการทดสอบมีน้ำหนักตัว ดัชนีมวลกาย รอบเอว ดัชนีไขมันในช่องท้อง ความอยากอาหาร ระดับของไตรกลีเซอไรด์ในพลาสมา และคอเลสเตอรอลโดยรวมลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่ความเข้มข้นของระดับคอเลสเลอรอลชนิดดีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม

ข้อควรระวังในการรับประทาน Acv  

แอลเปิ้ลไซเดอร์มีความเป็นกรดสูง ซึ่งอาจทำลายสารเคลือบฟัน ทำให้ฟันสึกกร่อน และอาจลดระดับโพแทสเซียม ทำให้กล้ามเนื้อและเส้นประสาทได้รับสารอาหารไม่เพียงพอได้ ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานแอปเปิ้ลไซเดอร์โดยตรง โดยเลือกรับประทานคู่กับอาหารหรือเครื่องดื่ม ในปริมาณที่ไม่ควรเกิน 1-2 ช้อนชา/วัน หรือ 1-2 ช้อนโต๊ะ/วัน

นอกจากนี้ ผู้ที่มีโรคประจำตัวและต้องรับประทานยารักษาโรคเบาหวาน ยาขับปัสสาวะ ยารักษาโรคหัวใจ และยาอื่น ๆ ควรขอคำปรึกษาจากคุณหมอก่อนรับประทานแอปเปิ้ลไซเดอร์ เนื่องจากแอปเปิ้ลไซเดอร์อาจลดประสิทธิภาพของยาได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Apple Cider Vinegar. https://www.webmd.com/diet/apple-cider-vinegar-and-your-health. Accessed April 30, 2023.

Beneficial effects of Apple Cider Vinegar on weight management, Visceral Adiposity Index and lipid profile in overweight or obese subjects receiving restricted calorie diet: A randomized clinical trial. https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S1756464618300483. Accessed April 30, 2023.

The effect of apple cider vinegar on lipid profiles and glycemic parameters: a systematic review and meta-analysis of randomized clinical trials https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC8243436/. Accessed April 30, 2023.

Vinegar Improves Insulin Sensitivity to a High-Carbohydrate Meal in Subjects With Insulin Resistance or Type 2 Diabetes. https://diabetesjournals.org/care/article/27/1/281/26582/Vinegar-Improves-Insulin-Sensitivity-to-a-High. Accessed April 30, 2023.

Acetic acid and the skin: a review of vinegar in dermatology https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/34350993/. Accessed April 30, 2023.

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/04/2023

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

อะโวคาโด สารอาหาร ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

อาหารประเภทแป้ง ส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 30/04/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา