Zinc (ซิงก์) หรือสังกะสี เป็นแร่ธาตุที่ช่วยในการเจริญเติบโตและเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยรักษาบาดแผล และช่วยให้ร่างกายต่อสู้กับการติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัสได้ จึงอาจช่วยให้หายป่วยได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ ควรทราบว่า Zinc ควรกินวันละเท่าไหร่ เพื่อจะได้บริโภค Zinc ได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายและส่งผลดีต่อสุขภาพ ทั่วไปแล้ว ปริมาณ Zinc ที่ร่างกายต้องการจะขึ้นอยู่กับช่วงอายุ และอาจต้องคำนึงถึงภาวะสุขภาพด้วย ทั้งนี้ ควรรับประทาน Zinc ในปริมาณที่เหมาะสมและไม่รับประทานร่วมกับยารักษาโรคบางชนิด เช่น ควิโนโลน เพนนิซิลลามีน เตตราไซคลีน เนื่องจาก Zinc อาจไปขัดขวางการออกฤทธิ์ของยาได้
[embed-health-tool-bmi]
Zinc คืออะไร
Zinc หรือ สังกะสี เป็นแร่ธาตุที่สำคัญที่ช่วยในการควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เป็นส่วนประกอบของเซลล์ ช่วยในการผลิตดีเอ็นเอหรือสารพันธุกรรมในเซลล์และโปรตีน ช่วยให้บาดแผลหายได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันสามารถต่อสู้กับไวรัสและแบคทีเรียได้อย่างมีประสิทธิภาพ เสริมสร้างประสาทรับกลิ่นและรสชาติ ทั้งยังช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโตและมีพัฒนาการที่สมบูรณ์ตั้งแต่ช่วงอยู่ในครรภ์ไปจนถึงช่วงวัยรุ่น แม้ Zinc จะเป็นสารอาหารรองที่ร่างกายไม่ได้ต้องการในปริมาณมากเท่าสารอาหารหลัก แต่ก็ควรได้รับ Zinc จากอาหารในปริมาณที่เพียงพอในแต่ละวัน เพื่อให้ร่างกายสามารถทำงานได้อย่างเป็นปกติ
กินซิงค์ช่วยอะไร
Zinc เป็นแร่ธาตุที่ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากรับประทานในช่วงที่เป็นหวัดหรือติดเชื้อไวรัส อาจช่วยลดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน และอาจช่วยให้ประสาทรับกลิ่นและรับรสฟื้นตัวได้เร็วขึ้น โดยงาน วิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Nutrition เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 ศึกษาเกี่ยวกับการใช้ Zinc เมลาโทนิน และวิตามินซี ในการรักษาเสริมสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 พบว่า ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่รับประทาน Zinc น้อยลง อาจเกิดภาวะขาดแร่ธาตุสังกะสี (Zinc) ชั่วคราวซึ่งกระตุ้นให้เกิดภาวะอักเสบรุนแรงที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ แต่หากผู้ป่วยรับประทาน Zinc ให้เพียงพอในช่วงที่ป่วยเป็นโรคโควิด-19 อาจช่วยให้ Zinc ในร่างกายกลับมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม และอาจช่วยให้ประสาทรับกลิ่นและรับรสชาติฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวเพื่อยืนยันประสิทธิภาพของ Zinc ในการช่วยฟื้นฟูประสิทธิภาพของประสาทสัมผัสที่สูญเสียไปหลังการติดเชื้อไวรัส
สำหรับผู้ที่ได้รับ Zinc จากอาหารที่รับประทานเข้าไปเพียงพอแล้ว อาจไม่จำเป็นต้องรับประทาน Zinc ในรูปแบบอาหารเสริมอีก ทั้งนี้ คุณหมออาจแนะนำให้ผู้ที่เสี่ยงเกิดภาวะขาด Zinc เช่น ผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติอย่างเคร่งครัด ผู้ที่ติดสุรา ผู้ที่ขาดสารอาหารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รับประทานอาหารเสริม Zinc ในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อให้ได้รับ Zinc เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
อาหารที่มี Zinc มีอะไรบ้าง
อาหารที่มี Zinc อาจมีดังนี้
- เนื้อแดง เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว
- สัตว์ปีก เช่น เป็ด ไก่ ห่าน
- อาหารทะเล เช่น ปู กุ้ง หอยนางรม
- ธัญพืชเต็มเมล็ด (Whole grain) เช่น ข้าวโอ๊ต ข้าวสาลี ข้าวกล้อง
- พืชตระกูลถั่วและเมล็ดพืช เช่น ถั่วดำ ถั่วเลนทิล อัลมอนด์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์
- ผลไม้ เช่น อะโวคาโด แบล็กเบอร์รี บลูเบอร์รี ราสเบอร์รี ทับทิม ฝรั่ง แคนตาลูป แอปริคอต พีช กีวี
- ผัก เช่น ผักเคล บรอกโคลี ปวยเล้ง กระเทียม
- นมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัว เช่น ชีส
- ซีเรียลอาหารเช้าเสริม Zinc
Zinc ควรกินวันละเท่าไหร่
ปริมาณ Zinc ที่ร่างกายควรได้รับจากอาหารในแต่ละวัน อาจมีดังนี้
เด็ก
- เด็กอายุ 7 เดือนถึง 3 ปี ควรได้รับ Zinc ไม่เกิน 3 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กอายุ 4-8 ปี ควรได้รับ Zinc ไม่เกิน 5 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กอายุ 9-13 ปี ควรได้รับ Zinc ไม่เกิน 8 มิลลิกรัม/วัน
ผู้หญิง
- อายุ 14-18 ปี ควรได้รับ Zinc ไม่เกิน 9 มิลลิกรัม/วัน
- อายุ 19 ปีขึ้นไป ควรได้รับ Zinc ไม่เกิน 8 มิลลิกรัม/วัน
- ตั้งครรภ์ อายุ 14-18 ปี ควรได้รับ Zinc ไม่เกิน 12 มิลลิกรัม/วัน และอายุ 19 ปีขึ้นไป ควรได้รับ Zinc ไม่เกิน 11 มิลลิกรัม/วัน
- ให้นมบุตร อายุ 14-18 ปี ควรได้รับ Zinc ไม่เกิน 13 มิลลิกรัม/วัน และอายุ 19 ปีขึ้นไป ควรได้รับ Zinc ไม่เกิน 12 มิลลิกรัม/วัน
ผู้ชาย
- อายุ 14 ปีขึ้นไปควรได้รับ Zinc ไม่เกิน 11 มิลลิกรัม/วัน
ปริมาณ Zinc ที่ร่างกายควรได้รับจากอาหารเสริมในแต่ละวัน อาจมีดังนี้
- เด็กอายุ 0-6 เดือน ควรได้รับ Zinc ไม่เกิน 4 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กอายุ 7-12 เดือน ควรได้รับ Zinc ไม่เกิน 5 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กอายุ 1-3 ปี ควรได้รับ Zinc ไม่เกิน 7 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กอายุ 4-8 ปี ควรได้รับ Zinc ไม่เกิน 12 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กอายุ 9-13 ปี ควรได้รับ Zinc ไม่เกิน 23 มิลลิกรัม/วัน
- วัยรุ่นอายุ 14-18 ปี ควรได้รับ Zinc ไม่เกิน 34 มิลลิกรัม/วัน
- คนอายุ 19 ปีขึ้นไป ควรได้รับ Zinc ไม่เกิน 40 มิลลิกรัม/วัน
ข้อควรระวังในการบริโภค Zinc
ข้อควรระวังในการบริโภค Zinc อาจมีดังนี้
- Zinc ช่วยให้ร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อรับประทานในปริมาณพอเหมาะ โดยทั่วไป ร่างกายจะได้รับ Zinc จากอาหารไม่เกินปริมาณที่ต้องการจึงไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงใด ๆ แต่หากร่างกายได้รับ Zinc จากอาหารเสริมมากเกินไป อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น คลื่นไส้ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ปวดท้อง อาเจียน เบื่ออาหาร
- การรับประทาน Zinc ในรูปแบบอาหารเสริมในปริมาณมากติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจลดการดูดซึมทองแดงและธาตุเหล็กจนนำไปสู่ภาวะขาดทองแดงหรือขาดธาตุเหล็กได้ หากร่างกายมีทองแดงต่ำเกินไปอาจเกิดปัญหาทางระบบประสาท เช่น อาการชา แขนขาอ่อนแรง หากขาดธาตุเหล็กอาจทำให้โลหิตจาง อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย สมองทำงานได้ช้าลง จึงไม่ควรบริโภค Zinc ในรูปแบบอาหารเสริมเกินปริมาณที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน
- หลีกเลี่ยงการใช้สเปรย์ Zinc พ่นจมูก (Intranasal zinc) เพื่อแก้หวัด เนื่องจากอาจกระทบต่อระบบประสาทและทำให้สูญเสียการได้กลิ่นถาวร
- ควรหลีกเลี่ยงการรับประทาน Zinc ร่วมกับยาปฏิชีวนะอย่างควิโนโลน (Quinolone) และเตตราไซคลีน (Tetracycline) เนื่องจากอาจทำให้ยาออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ควรรับประทานยาปฏิชีวนะ 2 ชั่วโมงก่อน หรือ 4-6 ชั่วโมงหลังจากรับประทาน Zinc
- ควรหลีกเลี่ยงการรับประทาน Zinc ร่วมกับเพนนิซิลลามีน (Penicillamine) ที่ใช้รักษาโรคไขข้ออักเสบ เนื่องจากอาจลดความสามารถในการบรรเทาอาการอักเสบได้ ควรรับประทาน Zinc อย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนหรือหลังรับประทานยา