backup og meta

อาหาร ความสำคัญและเคล็ดลับการกินเพื่อสุขภาพ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 13/09/2022

    อาหาร ความสำคัญและเคล็ดลับการกินเพื่อสุขภาพ

    อาหาร เป็นสิ่งที่บริโภคเข้าไปแล้วให้ประโยชน์แก่ร่างกาย เนื่องจากอาหารมีสารอาหารสำคัญ เช่น โปรตีน วิตามิน แร่ธาตุ คาร์โบไฮเดรต ไขมัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ร่างกายจำเป็นจะต้องได้รับ เพื่อใช้ในการดำรงชีวิต การเจริญเติบโต เป็นพลังงาน และส่งเสริมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย การเลือกกินอาหารที่เหมาะสมในปริมาณที่พอเหมาะ อาจช่วยให้ร่างกายได้รับประโยชน์จากอาหารได้อย่างเหมาะสม

    อาหาร คืออะไร

    อาหาร คือ สิ่งที่บริโภคเข้าไปแล้วให้ประโยชน์แก่ร่างกาย และมีความสำคัญต่อความต้องการพื้นฐานของร่างกายสำหรับการเจริญเติบโต การทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ให้พลังงาน ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ระงับความหิว โดยทั่วไปอาหารจะประกอบไปด้วยสารอาหารจำเป็นที่ร่างกายไม่สามารถขาดได้ เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน แร่ธาตุ น้ำ โดยร่างกายจะได้รับสารอาหารเหล่านี้จากการรับประทานอาหารต่าง ๆ และเซลล์จะดูดซึมสารอาหารเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ซึ่งการรับประทานอาหารที่ดียังอาจช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อและการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง

    เคล็ดลับการเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

    การเลือกกินอาหารที่เหมาะสมอาจช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยอาหารที่ควรเลือกกิน อาจมีดังนี้

  • คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวโอ๊ต ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ เมล็ดพืช พืชตระกูลถั่ว ธัญพืช เนื่องจากคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนมีน้ำตาลน้อย เส้นใยอาหารสูง และอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย  เช่น วิตามินบี ฟอสฟอรัส แคลเซียม เหล็ก สังกะสี
  • โปรตีนไม่ติดมันและหนัง เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ อาหารทะเล เมล็ดพืช พืชตระกูลถั่ว เนื่องจากโปรตีนเป็นสารอาหารสำคัญที่ให้พลังงาน ใช้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของร่างกาย
  • ผักและผลไม้ อุดมไปด้วยใยอาหาร วิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด  เช่น วิตามินซี วิตามินบี วิตามินอี เหล็ก สังกะสี โพแทสเซียม ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายที่อาจช่วยปรับปรุงระบบย่อยอาหาร ส่งเสริมสุขภาพลำไส้ เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ เสริมสร้างภูมิคุ้มกันและอาจช่วยป้องกันโรคเรื้อรัง
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ น้ำเป็นส่วนประกอบประมาณร้อยละ 70 ของร่างกาย ควรดื่มน้ำวันละ 2-3 ลิตร เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน
  • พลังงานจากอาหารที่ควรได้รับต่อวัน

    นอกจากจะต้องใส่ใจเรื่องการกินอาหารเพื่อสุขภาพแล้ว ยังควรต้องใส่ใจเรื่องพลังงานจากอาหารที่ควรได้รับในแต่ละวันอย่างเหมาะสมด้วย ดังนี้

    ทารก เด็ก และวัยรุ่น

    เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ความต้องการพลังงานจะต้องสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตของตามปกติ และเด็กที่อายุมากกว่า 10 ปีขึ้นไป ร่างกายจะมีการเจริญเติบโต เริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ และมีรูปแบบการทำกิจกรรมที่เพิ่มขึ้น พลังงานจากอาหารที่ควรได้รับจึงควรคำนึงถึงน้ำหนักตัว กิจกรรม และอัตราการเจริญเติบโตเป็นรายบุคคล

    • เด็กแรกเกิดถึง 1 ปี ควรได้รับพลังงานประมาณ 650-850 กิโลแคลอรี่/วัน
    • เด็กอายุ 1-3 ปี ควรได้รับพลังงานประมาณ 1,300 กิโลแคลอรี่/วัน
    • เด็กอายุ 4-6 ปี ควรได้รับพลังงานประมาณ 1,800 กิโลแคลอรี่/วัน
    • เด็กอายุ 7-10 ปี ควรได้รับพลังงานประมาณ 2,000 กิโลแคลอรี่/วัน
    • อายุ 11-14 ปี ผู้ชายควรได้รับพลังงานประมาณ 2,500 กิโลแคลอรี่/วัน และผู้หญิงควรได้รับพลังงานประมาณ 2,200 กิโลแคลอรี่/วัน
    • อายุ 15-18 ปี ผู้ชายควรได้รับพลังงานประมาณ 3,000 กิโลแคลอรี่/วัน และผู้หญิงควรได้รับพลังงานประมาณ 2,200 กิโลแคลอรี่/วัน

    ผู้ใหญ่

    ในช่วงอายุ 19-24 ปี เป็นวัยของการเปลี่ยนผ่านระหว่างช่วงวัยรุ่นกับวัยผู้ใหญ่ ซึ่งบางคนยังอาจมีการเปลี่ยนแปลงและการเจริญเติบโตของร่างกาย จึงจำเป็นต้องได้รับพลังงานจากอาหารอย่างเหมาะสม

    • อายุ 19-50 ปี ผู้ชายควรได้รับพลังงานประมาณ 2,900 กิโลแคลอรี่/วัน และผู้หญิงควรได้รับพลังงานประมาณ 2,200 กิโลแคลอรี่/วัน
    • อายุ 51 ปีขึ้นไป ผู้ชายควรได้รับพลังงานประมาณ 2,300 กิโลแคลอรี่/วัน และผู้หญิงควรได้รับพลังงานประมาณ 1,900 กิโลแคลอรี่/วัน

    ผู้หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร

    เป็นช่วงเวลาที่ร่างกายจำเป็นต้องได้พลังงานเพิ่มขึ้นสำหรับการแบ่งพลังงานให้กับทารกในครรภ์ และใช้เพื่อเป็นพลังงานให้กับร่างกายของคุณแม่ รวมถึงใช้สำหรับการผลิตน้ำนมเพื่อใช้เลี้ยงทารก ดังนั้น ผู้หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรควรได้รับพลังงาน ดังนี้

    • ไตรมาสที่ 1 ควรได้รับพลังงานตามช่วงอายุที่ตั้งครรภ์
    • ไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 ควรได้รับพลังงานเพิ่มขึ้นอีก 300 กิโลแคลอรี่/วัน โดยเพิ่มจากพลังงานที่ควรได้รับตามช่วงอายุที่ตั้งครรภ์
    • ผู้หญิงที่ให้นมบุตร 6 เดือนแรกถึง 1 ปี ควรได้รับพลังงานเพิ่มขึ้นอีก 500 กิโลแคลอรี่/วัน โดยเพิ่มจากพลังงานที่ควรได้รับตามช่วงอายุ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 13/09/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา