backup og meta

ปูอัด เพิ่มความเสี่ยงสุขภาพหรือไม่ และมีประโยชน์ต่อร่างกายหรือเปล่า

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 10/11/2022

    ปูอัด เพิ่มความเสี่ยงสุขภาพหรือไม่ และมีประโยชน์ต่อร่างกายหรือเปล่า

    ปูอัด เป็นอาหารเมนูโปรดของใครหลายคน ที่จะกินคู่กับเมนูซูชิ ปลาดิบ สลัด รวมถึงนำไปชุบแป้งทอดก็กรอบอร่อย แต่อย่างไรก็ตามปูอัด หรือเนื้อปูเทียม (Imitation crab) ถือเป็นอาหารแปรรูปที่อาจมีน้ำตาลและโซเดียมสูง ดังนั้นวันนี้ Hello คุณหมอ จะพาทุกคนไปรู้จักปูอัดให้มากขึ้น และแนะนำว่าควรบริโภคในปริมาณเหมาะสม ไม่กินมากจนเกินไปจนส่งผลเสียต่อสุขภาพ

    ปูอัด ทำมาจากอะไร

    ปูอัด หรือเนื้อปูเทียม (Imitation crab) จะไม่ได้มีสารอาหารเทียบเท่ากับเนื้อปูจริงๆ เพราะในปูอัดไม่มีเนื้อปู และส่วนผสมหลักของปูอัดคือเนื้อปลาบด ที่เรียกว่า ซูริมิ (Surimi)

    ซูริมิมักจะทำมาจากปลาพอลล็อก ที่มีสารเติมแต่ง และการเติมกลิ่นและรสชาติ เช่น แป้ง น้ำตาล ไข่ขาว และเครื่องชูรสกลิ่นปู ปูอัดจึงประกอบด้วยปลาบางส่วน คาร์โบไฮเดรต และน้ำตาล ทำให้ปูอัดนั้นมีคุณค่าทางโภชนาการไม่เท่ากับเนื้อปูสด

    ปูอัด 85 กรัม จะให้พลังงาน 81 แคลอรี่ และมีคุณค่าทางโภชนาการของปูอัดมีดังนี้

    • ไขมัน 0.4 กรัม
    • คาร์โบไฮเดรตทั้งหมด 12.7 กรัม
    • โปรตีน 6.5 กรัม
    • คอเลสเตอรอล 17 มิลลิกรัม
    • โซเดียม 715 มิลลิกรัม
    • วิตามินบี 12 8% ของปริมาณวิตามินบี 12 ที่ควรได้รับต่อวัน
    • แมกนีเซียม 9% ของปริมาณแมกนีเซียมที่ควรได้รับต่อวัน
    • ฟอสฟอรัส 24% ของปริมาณฟอสฟอรัสที่ควรได้รับต่อวัน
    • ซิงก์ 2% ของปริมาณซิงก์ที่ควรได้รับต่อวัน
    • คอปเปอร์ 1% ของปริมาณคอปเปอร์ที่ควรได้รับต่อวัน
    • ซีลีเนียม 27% ของปริมาณซีลีเนียมที่ควรได้รับต่อวัน

    ปูอัดมีประโยชน์ต่อร่างกายหรือไม่

    ซีลีเนียมและฟอสฟอรัสในปูอัด

    ปูอัดมีซีลีเนียม (Selenium) และฟอสฟอรัส (Phosphorus) มาก ซึ่งแร่ธาตุทั้ง 2 ชนิดมีประโยชน์ต่อร่างกาย เนื่องจากทุกๆ เซลล์ในร่างกายต้องการฟอสฟอรัส เพื่อการสังเคราะห์ดีเอ็นเอ ควบคุมการทำงานของเอนไซม์ และมีบทบาทในการสื่อสารของเซลล์ ส่วนซีลีเนียมจะมีส่วนช่วยในการทำงานของหลอดเลือด ควบคุมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และกระตุ้นโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันโรคมะเร็ง ซึ่งการกินปูอัดปริมาณ 85 กรัมจะได้รับซีลีเนียม 27% ของปริมาณซีลีเนียมที่ควรได้รับต่อวัน และฟอสฟอรัส 24% ของปริมาณฟอสฟอรัสที่ควรได้รับต่อวัน

    เปรียบเทียบปูอัดกับเนื้อปูสด

    ถ้าคุณต้องการเพิ่มโปรตีน และลดปริมาณคาร์โบไฮเดรต ควรกินเนื้อปูสดแทนการกินปูอัด เนื่องจากเมื่อเปรียบเทียบปูอัดกับเนื้อปูสด จะพบว่าเนื้อปูสดมีวิตามินและแร่ธาตุมากกว่า เช่น วิตามินบี 12 ซิงก์ และซีลีเนียม แต่ในทางกลับกัน เนื้อปูสดอาจมีโซเดียมมากกว่าปูอัด นอกจากนี้เนื้อปูสดโดยทั่วไปจะมีกรดไขมันโอเมก้า 3 มากกว่าปูอัด แม้ว่าจะมีการเติมโอเมก้า 3 ในปูอัด แต่สารอาหารบางอย่างอาจโดนชะล้างออกไปในระหว่างกระบวนการผลิต

    น้ำตาลในปูอัด

    ปูอัดปริมาณ 85 กรัม สามารถมีน้ำตาลมากถึง 10.6 กรัม โดยในกระบวนการผลิตปูอัดได้ใส่น้ำตาลเพิ่มเข้ามาเพื่อปรับปรุงรสชาติให้ดีขึ้น แต่ในขณะเดียวกับแคลอรี่ก็เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งตามคำแนะนำของสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา แนะนำว่าคุณควรจำกัดปริมาณน้ำตาลเพื่อลดความเสี่ยงของโรคอ้วน และโรคหัวใจและหลอดเลือด

    โซเดียมในปูอัด

    ปูอัด 85 กรัมมีโซเดียม 715 มิลลิกรัม ซึ่งปริมาณโซเดียม (Sodium) ที่ควรได้รับต่อวันคือไม่เกิน 2,300 มิลลิกรัม นอกจากนี้สำหรับผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือผู้ที่มีอายุ 51 ปีขึ้นไป ควรจำกัดปริมาณโซเดียม

    ผู้ที่แพ้อาหารควรระวัง

    ถ้าคุณแพ้อาหาร ควรหลีกเลี่ยงการกินปูอัดที่ไม่มีฉลากข้อมูลทางโภชนาการกำกับ เนื่องจากคุณอาจแพ้สารบางชนิด เช่น ปลา สารสกัดจากปู และไข่ นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ปูอัดบางยี่ห้อยังติดป้ายฉลากผิด เนื่องจากมีรายงานว่าผลิตภัณฑ์ปูอัดบางยี่ห้อทำมาจากปลาที่อาจก่อให้เกิดภาวะพิษชิกัวเทอรา (Ciguatera fish poisoning) ซึ่งเป็นอาการเจ็บป่วยเนื่องจากพิษจากอาหารทะเลที่พบบ่อยที่สุด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 10/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา