backup og meta

โซเดียมคืออะไร สำคัญต่อร่างกายอย่างไร

โซเดียมคืออะไร สำคัญต่อร่างกายอย่างไร

โซเดียมคืออะไร? โซเดียม เป็นธาตุอาหารชนิดหนึ่ง ซึ่งพบได้ทั่วไปในอาหาร รวมถึงในเกลือ น้ำปลา และเครื่องปรุงรสต่าง ๆ โซเดียมมีประโยชน์หลายประการ เช่น ช่วยรักษาสมดุลของของเหลวภายในร่างกาย ช่วยควบคุมความดันเลือด ช่วยในกระบวนการหดตัวของกล้ามเนื้อ ทั้งนี้ หากร่างกายขาดโซเดียมอาจก่อให้เกิดอาการผิดปกติอย่างคลื่นไส้ กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือสมองบวม ในขณะที่การรับประทานโซเดียมมากเกินไปจะทำให้ความดันเลือดสูงขึ้น และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด

[embed-health-tool-bmi]

โซเดียมคืออะไร ใช่เกลือหรือไม่

โซเดียมเป็นธาตุอาหารอย่างหนึ่ง พบได้ในอาหารหลาย ๆ ชนิด เช่น เนื้อสัตว์ ชีส ไข่ รวมถึงอาหารแปรรูปอย่างขนมปัง พิซซ่า หมูหยอง ไส้กรอก

บ่อยครั้ง คำว่าโซเดียมกับเกลือมักถูกใช้แทนกัน จนหลายคนคิดว่าเป็นอย่างเดียวกัน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว โซเดียมไม่ใช่เกลือ แต่เป็นส่วนประกอบของเกลือ เช่นเดียวกับธาตุอาหารคลอไรด์ (Chloride) ทั้งนี้ เกลือประกอบด้วยโซเดียม 40 เปอร์เซ็นต์และคลอไรด์ 60 เปอร์เซ็นต์

โซเดียมคืออะไร สำคัญต่อร่างกายอย่างไร

โซเดียมเป็นแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย มีดังต่อไปนี้

  • ช่วยรักษาสมดุลของปริมาณเลือดในระบบหมุนเวียนเลือด ระดับโซเดียมในร่างกายสัมพันธ์กับปริมาณของเลือด เมื่อโซเดียมสูงขึ้น ปริมาณเลือดจะสูงขึ้นตาม และหากโซเดียมสูงเกินไป ไตจะขับโซเดียมออกทางปัสสาวะ เพื่อให้ปริมาณเลือดกลับสู่ระดับปกติ แต่หากโซเดียมและปริมาณเลือดลดต่ำลงกว่าปกติ ต่อมหมวกไตจะหลั่งฮอร์โมนแอลโดสเตอโรน (Aldosterone) ออกมาเพื่อทำให้ไตหยุดขับโซเดียมและไม่เกิดการขับปัสสาวะออกจากร่างกาย ช่วยให้ปริมาณเลือดสูงขึ้นสู่ระดับปกติ
  • ช่วยลดการขาดน้ำ โซเดียมช่วยให้ร่างกายกักเก็บน้ำได้มากขึ้น ดังนั้น จึงช่วยป้องกันการขาดน้ำหลังใช้แรงงานหรือออกกำลังกายได้ ทั้งนี้ การบริโภคโซเดียม 400 มิลลิกรัม อาจช่วยให้ร่างกายกักเก็บน้ำได้มากขึ้นประมาณ 2 แก้ว หรือ 240 มิลลิลิตร
  • ช่วยทำให้กล้ามเนื้อหดตัว การหดตัวของกล้ามเนื้อ เป็นการเปลี่ยนแปลงของกล้ามเนื้อเมื่อออกกำลังกายหรือยกสิ่งของ โดยโซเดียมในร่างกายจะทำหน้าที่ส่งสัญญาณผ่านไปยังเซลล์ประสาทเพื่อทำให้กล้ามเนื้อหดตัว

 ร่างกายควรได้รับโซเดียมมากแค่ไหน

เด็กอายุ 11 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ควรบริโภคโซเดียมไม่เกิน 2.4 กรัม/วัน หรือปริมาณเทียบเท่าเกลือ 1 ช้อนชา

ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 11 ปีนั้น ควรบริโภคโซเดียมในปริมาณดังต่อไปนี้

  • เด็กอายุ 1-3 ปี ควรบริโภคโซเดียมไม่เกิน 0.8 กรัม/วัน
  • เด็กอายุ 4-6 ปี ควรบริโภคโซเดียมไม่เกิน 1.2 กรัม/วัน
  • เด็กอายุ 7-10 ปี ควรบริโภคโซเดียมไม่เกิน 2 กรัม/วัน

จะเป็นอย่างไรเมื่อร่างกายขาดโซเดียม

การขาด โซเดียม หรือมีภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ (Hyponatremia) เป็นสาเหตุของอาการผิดปกติต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดหัว สับสน มึนงง
  • อ่อนล้า อ่อนเพลีย ง่วงนอน เมื่อยล้า
  • อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นตะคริว
  • สมองบวม ซึ่งอาจนำไปสู่อาการโคม่าและเสียชีวิตได้

ปัจจุบัน ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำนั้นพบได้ไม่บ่อยนัก เพราะอาหารส่วนใหญ่ล้วนมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุมักเกิดภาวะโซเดียมต่ำ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถกักเก็บน้ำและโซเดียมได้ดีเท่ากับคนหนุ่มสาว

สำหรับปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้โซเดียมในเลือดลดต่ำลงกว่าปกติ ได้แก่

  • การอาเจียนหรือท้องร่วงเรื้อรังและรุนแรง
  • การดื่มน้ำมากเกินไปจนร่างกายต้องขับปัสสาวะออกมามากขึ้น
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ส่งผลต่อการทำงานของต่อมหมวกไต
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด ยากล่อมประสาท ยาแก้ปวด
  • ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพหัวใจ ไต และตับ
  • กลุ่มอาการของการหลั่งฮอร์โมนต้านการขับปัสสาวะไม่เหมาะสม (Syndrome of Inappropriate Antidiuretic Hormone Secretion หรือ SIADH)

การบริโภค โซเดียม มากเกินไป ส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างไร

หากบริโภคโซเดียมในปริมาณมาก ปริมาณเลือดจะสูงขึ้น และส่งผลให้ความดันเลือดสูงขึ้นตาม และหากบริโภคโซเดียมในปริมาณมากอย่างต่อเนื่อง ความดันเลือดก็จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การที่ร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินไปจึงอาจทำให้เสี่ยงเป็นโรคหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดโป่งพอง และโรคไตได้

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เรื่องการบริโภคโซเดียมและโรคความดันเลือดสูง เผยแพร่ในวารสาร Nutrients ปี พ.ศ. 2562 ระบุว่า เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางและมีงานวิจัยหลายชิ้นรองรับว่าระดับโซเดียมนั้นมีผลต่อความดันเลือด หากร่างกายได้รับโซเดียมในปริมาณมาก จะส่งผลให้ความดันเลือดสูง ซึ่งมักเพิ่มความเสี่ยงให้เจ็บป่วยหรือเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Top 10 Sources of Sodium. https://www.cdc.gov/salt/sources.htm. Accessed November 4, 2022

Salt: the facts. https://www.nhs.uk/live-well/eat-well/food-types/salt-nutrition/#:~:text=How%20much%20salt%3F&text=Adults%20should%20eat%20no%20more,)%20%E2%80%93%20that’s%20around%201%20teaspoon.&text=Children%20aged%3A,a%20day%20(0.8g%20sodium). Accessed November 4, 2022

Sodium Intake and Hypertension. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6770596/. Accessed November 4, 2022

Nutrition and healthy eating. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/nutrition-and-healthy-eating/in-depth/sodium/art-20045479. Accessed November 4, 2022

High blood pressure (hypertension). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/high-blood-pressure/symptoms-causes/syc-20373410. Accessed November 4, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

10/11/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

เกลือขัดผิว ประโยชน์ และข้อควรระวัง

ประโยชน์ของเกลือ และข้อควรระวังในการบริโภค


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 10/11/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา