backup og meta

กรวยไตอักเสบ ห้ามกินอะไร และควรดูแลตัวเองอย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 06/12/2022

    กรวยไตอักเสบ ห้ามกินอะไร และควรดูแลตัวเองอย่างไร

    กรวยไตอักเสบ เป็นโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะชนิดหนึ่งที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ส่งผลให้ผู้ป่วยเป็นไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร หนาวสั่น เจ็บขณะถ่ายปัสสาวะ นอกจากจะรักษาด้วยการกินยาปฏิชีวนะและปรับพฤติกรรมตามที่คุณหมอแนะนำอย่างเคร่งครัดแล้ว การเลือกอาหารก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน ผู้ป่วยควรทราบว่า กรวยไตอักเสบ ห้ามกินอะไร เพื่อไม่ให้อาการแย่ลง โดยทั่วไป ผู้ป่วยกรวยไตอักเสบห้ามกินอาหารที่มีสารอาหารบางชนิดในปริมาณมาก เช่น โซเดียม โพแทสเซียม แคลเซียม เพราะร่างกายไม่สามารถขับสารอาหารเหล่านั้นออกไปได้ตามปกติ จึงอาจส่งผลให้อาการแย่ลงได้

    สาเหตุกรวยไตอักเสบ

    กรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis) คือ โรคติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณกรวยไต มักเกิดจากแบคทีเรียเอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia coli.) หรือที่เรียกว่าเชื้อแบคทีเรียอีโคไล (E. coli) โดยเชื้อจะเดินทางเข้าสู่กรวยไตและทำให้เกิดการติดเชื้อได้ 2 ลักษณะ คือ การติดเชื้อที่ลุกลามจากระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่างขึ้นมาถึงกรวยไต และการติดเชื้อทางกระแสเลือด แต่ส่วนใหญ่แล้วกรวยไตอักเสบมักเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะมากกว่า ซึ่งเป็นผลมาจากหลายปัจจัย เช่น กลั้นปัสสาวะบ่อย ติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ดูแลรักษาสุขอนามัยบริเวณอวัยวะเพศได้ไม่ดี ในขณะที่การติดเชื้อทางกระแสเลือดพบได้น้อยกว่า และมักเกิดกับผู้ที่มีท่อไตอุดตันจากการผ่าตัดหรือผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องและอ่อนแอ

    ภาวะสุขภาพที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดกรวยไตอักเสบ อาจมีดังนี้

    • เป็นนิ่วในไต
    • สอดสายสวนปัสสาวะ
    • ต่อมลูกหมากโต
    • เป็นโรคปัสสาวะไหลย้อนกลับ (Vesicoureteral reflux หรือ VUR)
    • กำลังตั้งครรภ์
    • เป็นโรคเบาหวาน
    • มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอกว่าปกติ

    อาการกรวยไตอักเสบ

    อาการกรวยไตอักเสบ อาจมีดังนี้

    • ปวดศีรษะ
    • หนาวสั่น
    • มีไข้
    • อ่อนเพลีย
    • ปวดหลัง สีข้าง และขาหนีบ
    • เบื่ออาหาร
    • คลื่นไส้
    • อาเจียน
    • ถ่ายปัสสาวะเป็นสีเข้ม ออกเป็นเลือด หรือมีกลิ่นเหม็น
    • รู้สึกเจ็บหรือแสบร้อนขณะถ่ายปัสสาวะ

    กรวยไตอักเสบ ห้ามกินอะไร

    ผู้ที่กรวยไตอักเสบหรือมีปัญหาการติดเชื้อบริเวณไต ต้องจำกัดอาหารและเครื่องดื่มบางชนิดที่อาจทำให้ไตทำงานหนักขึ้น เพื่อไม่ให้มีของเหลวและอิเล็กโทรไลต์ (Electrolytes) สะสมตกค้างอยู่ในร่างกายมากเกินไป อิเล็กโทรไลต์เป็นแร่ธาตุที่ช่วยปรับความสมดุลของกรด-ด่างและระดับน้ำในร่างกาย หากมีมากเกินไป อาจทำให้อาการกรวยไตอักเสบแย่ลงได้ ทั้งนี้ ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบทั้ง 5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่เพียงพอ อาหารที่ผู้ป่วยกรวยไตอักเสบควรหลีกเลี่ยงหรือกินแต่น้อย อาจมีดังนี้

    ไตของผู้ป่วยกรวยไตอักเสบไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ หากกินอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น อาหารแปรรูปอย่างแคบหมู ไส้กรอกอีสาน กุนเชียง แฮม โบโลน่า เบคอน เนื้อสัตว์แช่แข็ง ปลากระป๋อง อาหารหมักดอง ปลาร้า ปลาเค็ม กุ้งแห้ง ผลไม้แช่อิ่ม ผลไม้กระป๋อง เต้าเจี้ยว มายองเนส ผงชูรส ซุปก้อน ซอสปรุงรส ซอสหอยนางรม อาจทำให้ร่างกายกักเก็บน้ำส่วนเกินไว้ในปริมาณมาก จนเกิดปัญหาสุขภาพ เช่น ข้ออักเสบและบวมแดง ความดันโลหิตสูง หายใจไม่สะดวก มีของเหลวรอบ ๆ หัวใจและปอด และทำให้อาการไตอักเสบแย่ลงได้ ผู้ป่วยกรวยไตอักเสบจึงควรจำกัดการบริโภคโซเดียมไม่ให้เกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน

    โดยปกติแล้ว โพแทสเซียมเป็นแร่ธาตุที่สำคัญต่อการทำงานของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ แต่สำหรับผู้ที่เป็นโรคกรวยไตอักเสบ ไตอาจไม่สามารถกรองโพแทสเซียมส่วนเกินได้ ทำให้มีโพแทสเซียมสะสมอยู่ในร่างกายมากเกินไป จนเกิดภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง (Hyperkalemia) ที่ทำให้มีอาการปวดท้อง ท้องเสีย เจ็บหน้าอก กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต แขนขาชา หัวใจเต้นแรง หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น อาหารที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น

    • ผัก เช่น บรอกโคลี มะเขือเทศ แครอท มะเขือเปราะ กะหล่ำปลีม่วง กะหล่ำดอก หัวปลี
    • ผลไม้ เช่น แคนตาลูป แก้วมังกร แตงโม แตงไทย ฝรั่ง ทุเรียน ส้ม มะละกอ อะโวคาโด
    • นมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัว เช่น โยเกิร์ต ชีส ครีม เนย
    • เนื้อสัตว์และเครื่องในสัตว์ เช่น เนื้อไก่ เนื้อหมู ปลา ตับหมู
    • เห็ด เช่น เห็ดฟาง เห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดหูหนูแห้ง เห็ดกระดุม เห็ดตับเต่า

    อาหารที่มีฟอสฟอรัส เช่น นมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัว พืชตระกูลถั่ว ธัญพืชไม่ขัดสี ข้าวโอ๊ต เนื้อแดง สัตว์ปีก น้ำอัดลม อาจทำให้กรวยไตอ่อนแอและเสื่อมสภาพมากกว่าเดิม เนื่องจากร่างกายไม่สามารถกำจัดฟอสฟอรัสส่วนเกินได้ทัน ทั้งยังอาจทำให้กระดูกอ่อนแอลงและอาจทำลายหลอดเลือด ดวงตา และหัวใจ นอกจากนี้ ผู้ป่วยกรวยไตอักเสบควรระวังอาหารที่มีแคลเซียมเช่นกัน เนื่องจากอาหารที่มีแคลเซียมมักจะมีฟอสฟอรัสด้วย ในผู้ที่กรวยไตอักเสบรุนแรง คุณหมออาจแนะนำให้จำกัดการบริโภคฟอสฟอรัส ไม่ให้เกิน 1,000 มิลลิกรัม/วัน

    สำหรับผู้ป่วยกรวยไตอักเสบในระยะเริ่มต้น อาจไม่ต้องจำกัดอาหารที่กินอย่างเคร่งครัดมากนัก แต่หากผู้ป่วยติดเชื้อรุนแรง อาจจำเป็นต้องใส่ใจอาหารที่กินเป็นพิเศษ หรืออาจต้องจำกัดอาหารอื่น ๆ ร่วมกับการกินยารักษาโรค เช่น อาหารที่มีโปรตีนสูงอย่างเนื้อสัตว์ อาหารทะเล นม เนื่องจากร่างกายไม่สามารถกำจัดของเสียจากอาหารเหล่านี้ได้ดีนัก อาจทำให้ไตทำงานหนักและเพิ่มความดันภายในไต กรวยไตจึงอาจเสียหายมากขึ้น

    การดูแลตัวเองเมื่อกรวยไตอักเสบ

    การดูแลตัวเองเมื่อกรวยไตอักเสบ อาจทำได้ดังนี้

    • ปรึกษาคุณหมอหรือนักโภชนาการเพื่อวางแผนโภชนาการให้เหมาะสมกับภาวะสุขภาพมากที่สุด
    • กินผักผลไม้สด และอาหารที่ปรุงสุกใหม่ หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปหรืออาหารแช่แข็ง
    • ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อย 8-10 แก้ว/วัน เพื่อช่วยกระตุ้นให้ถ่ายปัสสาวะและขับของเสียออกจากร่างกายได้มากที่สุด
    • หากปวดปัสสาวะควรรีบไปถ่ายปัสสาวะทันที ไม่ควรกลั้นปัสสาวะ เพราะอาจทำให้อาการกรวยไตยิ่งอักเสบ
    • รักษาสุขอนามัยให้ดีอยู่เสมอ เช่น เช็ดอวัยวะเพศให้แห้งหลังถ่ายปัสสาวะโดยเช็ดจากข้างหน้าไปข้างหลัง ถ่ายปัสสาวะหลังมีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 06/12/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา