backup og meta

วิธีแก้แฮงค์ ด้วยอาหารและเครื่องดื่ม มีอะไรบ้าง

วิธีแก้แฮงค์ ด้วยอาหารและเครื่องดื่ม มีอะไรบ้าง

แฮงค์ หรือเมาค้าง หมายถึง อาการของร่างกายหลังจากตื่นนอนในเช้าวันรุ่งขึ้นต่อจากคืนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป เช่น ปวดหัว กระหายน้ำ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ปวดท้อง ทั้งนี้ วิธีแก้แฮงค์ นั้นมีอยู่หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการดื่มน้ำมาก ๆ การรับประทานอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าว ก๋วยเตี๋ยว หรืออาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี 3 และสังกะสี เช่น อะโวคาโด มันฝรั่ง อย่างไรก็ตาม หากไม่อยากแฮงค์หรือเมาค้าง อาจรับประทานอาหารให้ท้องไม่ว่างก่อนดื่ม ดื่มให้ช้าลง จำกัดปริมาณการดื่ม หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มสีเข้มอย่างบรั่นดี ไวน์แดง วิสกี้ หรือเบอร์เบิน เป็นต้น

[embed-health-tool-bmi]

งค์คืออะไร

แฮงค์ หรือแฮงค์โอเวอร์ (Hangover) หมายถึง กลุ่มของอาการที่ร่างกายแสดงออกมาในเช้าวันรุ่งขึ้นหลังจากคืนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเกินไป โดยอาการมักแสดงออกดังนี้

  • เหนื่อยล้า อ่อนแรง
  • กระหายน้ำ
  • ปวดหัว
  • บ้านหมุน
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • คลื่นไส้
  • ปวดท้อง
  • ไวต่อแสงและเสียง
  • วิตกกังวล
  • เหงื่อออก
  • ความดันโลหิตสูง

ทั้งนี้ อาการแฮงค์ของแต่ละคนอาจแตกต่างกัน ซึ่งเกิดจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ที่มีต่อร่างกายดังต่อไปนี้

  • ทำให้ร่างกายขาดน้ำ แอลกอฮอล์ออกฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนวาโซเพรสซิน (Vasopressin) จากสมองซึ่งมีหน้าที่ส่งสัญญาณให้ไตกักเก็บน้ำในร่างกายไว้ ดังนั้น เมื่อดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้ถ่ายปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ และมีอาการกระหายน้ำ อ่อนแรง หรือปวดหัวตามมา นอกจากนั้น ถ้ามีเหงื่อออกหรืออาเจียนระหว่างดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มักทำให้เกิดภาวะขาดน้ำได้ง่าย
  • ทำให้น้ำตาลในเลือดลดลง การดื่มเครื่องดื่มแอลกฮอล์ทำให้ร่างกายหลั่งอินซูลินมากขึ้นซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยลำเลียงน้ำตาลจากกระแสเลือดเข้าสู่เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย เป็นผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงได้ง่ายกว่าปกติ สมองจึงทำงานโดยขาดพลังงาน และส่งผลให้มีอาการปวดหัวหรืออ่อนเพลียได้
  • ทำให้นอนหลับไม่สนิท แอลกอฮอล์มีฤทธิ์รบกวนการนอนหลับในระยะ REM (Rapid Eye Movement) ซึ่งเป็นระยะการนอนหลับในช่วงหลับฝัน เมื่อดื่มแอลกอฮอล์จึงทำให้คุณภาพการนอนแย่ลงและนำไปสู่การนอนหลับไม่เต็มอิ่ม หรือรู้สึกถูกรบกวนขณะนอนหลับ ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการอ่อนเพลียหลังตื่นนอน
  • รบกวนการทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้ แอลกอฮอล์มีฤทธิ์รบกวนเยื่อบุช่องท้อง กระตุ้นให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดออกมา รวมทั้งทำให้ลำไส้ระคายเคือง หลังดื่มแอลกอฮอล์จึงอาจรู้สึกแสบท้อง คลื่นไส้ หรือไม่สบายท้อง
  • เป็นสาเหตุของการอักเสบในร่างกาย สารอะเซตาลดีไฮด์ (Acetaldehyde) ที่เกิดจากกระบวนการย่อยสลายแอลกอฮอล์ที่ตับ ออกฤทธิ์เป็นพิษต่อร่างกาย ส่งผลให้เกิดการอักเสบที่สมอง ตับ ตับอ่อน และระบบทางเดินอาหาร
  • เป็นสาเหตุของอาการวิตกกังวล แอลกอฮอล์มีฤทธิ์ทำให้ระดับฮอร์โมนเซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยควบคุมอารมณ์และลดอาการซึมเศร้า รวมถึงสารสื่อประสาทอื่น ๆ ในสมองไม่สมดุล ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์จึงมักมีอาการวิตกกังวล หรือทำให้ยิ่งวิตกกังวลมากขึ้น

วิธีแก้แฮงค์ มีอะไรบ้าง

การบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มต่อไปนี้ อาจช่วยแก้แฮงค์หรือบรรเทาอาการเมาค้างได้

  • น้ำเปล่า การดื่มน้ำเปล่าหรือของเหลวต่าง ๆ จะช่วยบรรเทาอาการขาดน้ำหลังจากดื่มแอลกอฮอล์ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์เพื่อแก้แฮงค์หรือที่เรียกกันว่า “ถอน” เพราะจะยิ่งทำให้อาการแย่ลง
  • น้ำผลไม้ น้ำผลไม้บางชนิด เช่น น้ำองุ่น น้ำลูกแพร์ นอกจากช่วยบรรเทาอาการขาดน้ำแล้ว ยังช่วยกระตุ้นการย่อยสลายแอลกอฮอล์ด้วย งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับคุณสมบัติของน้ำผักผลไม้รวม ต่ออาการแฮงค์ในผู้ที่มีสุขภาพดี ตีพิมพ์ในวารสาร Preventive Nutrition and Food Science ปี พ.ศ. 2561 นักวิจัยแบ่งกลุ่มตัวอย่างเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ให้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามด้วยน้ำเปล่า ส่วนกลุ่มที่ 2 ให้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามด้วยเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำองุ่นเขียว น้ำลูกแพร์ และน้ำผักอะชิตะบะ (Angelica Keiskei หรือ Ashitaba) แล้วตรวจหาความแตกต่าง พบว่า กลุ่มที่บริโภคเครื่องดื่มน้ำผักผลไม้รวม มีระดับแอลกอฮอล์ทั้งในเลือดและในลมหายใจต่ำกว่ากลุ่มที่ดื่มน้ำเปล่าอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ นักวิจัยยังพบว่า เครื่องดื่มน้ำผักผลไม้รวมดังกล่าว มีคุณสมบัติกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์แอลกอฮอล์ ดีไฮโดรจีเนส (Alcohol Dehydrogenase) และแอลดีไฮด์ ดีไฮโดรจีเนส (Aldehyde Dehydrogenase) ซึ่งมีหน้าที่ย่อยสลายแอลกอฮอล์ในร่างกายด้วย
  • อาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต อาจช่วยบรรเทาอาการปวดหัวหรืออ่อนเพลียในผู้ที่ดื่มแอลกอลฮอล์มากเกินไปจนทำให้ร่างกายขาดน้ำตาลไปหล่อเลี้ยงสมอง ทั้งนี้ อาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตซึ่งได้แก่ แป้งและน้ำตาล เช่น ข้าว ก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง จะช่วยเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดได้มากที่สุด ส่งผลให้สมองได้รับพลังงานอย่างเต็มที่
  • อาหารที่ประกอบด้วยวิตามินบี 3 และธาตุสังกะสี เนื่องจากสารไนอะซิน (Niacin) ในวิตามินบี 3 มีคุณสมบัติช่วยส่งเสริมระบบประสาท ช่วยย่อยสลายแอลกอฮอล์ที่ตกค้างในร่างกาย ช่วยให้การไหลเวียนเลือดดี ส่วนสังกะสีมีคุณสมบัติช่วยกำจัดสารพิษต่าง ๆ และลดอาการอักเสบในร่างกาย การบริโภคอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารดังกล่าว เช่น อกไก่ ปลาทูน่า ปลาแซลมอน เนื้อหมู อะโวคาโด ข้าวกล้อง ถั่วต่าง ๆ ไข่ไก่ มันฝรั่ง จึงอาจเป็นหนึ่งในวิธีแก้แฮงค์ได้ งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เรื่องสารอาหารที่ร่างกายได้รับ การเผาผลาญแอลกอฮอล์ และความรุนแรงของอาการแฮงค์ ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Clinical Medicine ปี พ.ศ. 2562 นักวิจัยได้ตรวจสอบอาหารที่นักดื่มจำนวน 23 รายบริโภคในวันที่ดื่มและไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า นักดื่มที่บริโภคอาหารที่มีวิตามินบี 3 และธาตุสังกะสี ระบุถึงอาการแฮงค์ของตัวเองว่าอยู่ในระดับที่ไม่รุนแรง นอกจากนี้ นักวิจัยยังเสริมว่าการบริโภคไขมันและใยอาหารไม่มีความสัมพันธ์ใด ๆ ต่อระดับความรุนแรงของอาการแฮงค์

ทั้งนี้ ควรรับประทานยาชนิดต่าง ๆ อย่างระมัดระวัง เพราะยาบางชนิดอาจเป็นพิษต่อร่างกายของผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) ที่อาจทำให้ตับเสียหายได้ ส่วนแอสไพริน (Aspirin) และไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) อาจออกฤทธิ์รบกวนการทำงานของเยื่อบุช่องท้อง

วิธีป้องกันอาการ แฮงค์

หากต้องการดื่มแอลกอฮอล์แต่ไม่ต้องการให้ตนเองมีอาการแฮงค์ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้

  1. ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มสีเข้ม อย่างบรั่นดี ไวน์แดง วิสกี้ หรือคอนยัค เพราะมีสารคอนจีเนอร์ (Congener) ในปริมาณสูง ซึ่งเป็นสารเคมีชนิดหนึ่งที่ช่วยให้เครื่องดื่มมีรสชาติและกลิ่นดี ส่งผลให้อาการแฮงค์รุนแรงกว่าการดื่มเครื่องดื่มคอนเจเนอร์ต่ำอย่างไวน์ขาว จิน สาเก เบียร์แอลกอฮอล์ต่ำ
  2. ค่อย ๆ ดื่ม เพราะหากรีบดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้เมาได้ง่าย เมื่อเมาจึงอาจทำให้เกิดอาการแฮงค์
  3. ไม่ควรดื่มขณะท้องว่าง หากท้องอิ่มจะช่วยลดการดูดซึมแอลกอฮอล์ ช่วยให้ร่างกายค่อย ๆ ย่อยสลายคอนจีเนอร์และเอทานอลจากการดื่มแอลกอฮอล์ได้ดีกว่า
  4. จำกัดปริมาณการดื่ม เมื่อร่างกายได้รับปริมาณแอลกอฮอล์และคอนจีเนอร์ในระดับต่ำ โอกาสแฮงค์จึงลดน้อยลงตามไปด้วย
  5. ดื่มน้ำตามมาก ๆ หลังดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ เพราะหากร่างกายขาดน้ำจะยิ่งทำให้อ่อนเพลีย และเกิดอาการแฮงค์ได้ง่าย

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ว่าด้วยบทบาทของคอนจีเนอร์ต่ออาการแฮงค์และผลกระทบอื่น ๆ ของพิษจากแอลกอฮอล์ เผยแพร่ในวารสาร Current Drug Abuse Reviews ปี พ.ศ. 2553 ระบุว่า คอนจีเนอร์เป็นสารที่ได้จากกระบวนการกลั่นหรือบ่มเครื่องดื่มเช่นเดียวกับแอลกอฮอล์ โดยผลการศึกษาจำนวนหนึ่งสนับสนุนว่า การบริโภคเครื่องดื่มที่มีปริมาณคอนจีเนอร์สูงสุดอย่างเบอร์เบิน เป็นสาเหตุของอาการแฮงค์ในระดับที่รุนแรงกว่าการบริโภคเครื่องดื่มที่ปราศจากคอนจีเนอร์อย่างวอดก้า อย่างไรก็ตาม พิษของแอลกอฮอล์ที่อยู่ในวอดก้าหรือเบอร์เบินนั้นส่งผลร้ายต่อสุขภาพไม่แตกต่างกัน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Dietary Nutrient Intake, Alcohol Metabolism, and Hangover Severity. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6780234/. Accessed September 8, 2022

Hangovers. https://www.niaaa.nih.gov/publications/brochures-and-fact-sheets/hangovers#:~:text=What%20Causes%20Hangover%20Symptoms%3F,and%20excess%20loss%20of%20fluids. Accessed September 8, 2022

7 steps to cure your hangover. https://www.health.harvard.edu/staying-healthy/7-steps-to-cure-your-hangover-and-ginkgo-biloba-whats-the-verdict. Accessed September 8, 2022

What to Know About Congeners in Alcohol. https://www.webmd.com/mental-health/addiction/what-to-know-congeners-alcohol#:~:text=Affect%20Your%20Brain%3F-,Which%20Drinks%20Are%20Low%20in%20Congeners%3F,drink%20is%20not%20heavily%20distilled. Accessed September 8, 2022

Effect of Mixed Fruit and Vegetable Juice on Alcohol Hangovers in Healthy Adults. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5894779/. Accessed September 8, 2022

The role of beverage congeners in hangover and other residual effects of alcohol intoxication: a review. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/20712591/. Accessed September 8, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

15/09/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

หน้าแดง ตัวแดง เพราะเมาหรือ แพ้แอลกอฮอล์ กันแน่

กระเพาะทะลุ ระวัง! ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป อาจเป็นอันตราย


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 15/09/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา