backup og meta

อาหาร แม่ หลัง คลอด ห้าม กิน มีอะไรบ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 18/10/2022

    อาหาร แม่ หลัง คลอด ห้าม กิน มีอะไรบ้าง

    คุณแม่หลายคนที่เพิ่งคลอดและอยู่ในช่วงให้นมบุตร อาจสงสัยว่า มี อาหาร แม่ หลัง คลอด ห้ามกิน หรือไม่ โดยทั่วไปแล้ว คุณแม่หลังคลอดไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงอาหารชนิดใดเป็นพิเศษ และควรกินอาหารที่หลากหลายและมีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน เพื่อให้ทารกมีสุขภาพแข็งแรงและมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย อย่างไรก็ตาม อาจมีอาหารบางอย่างที่ควรหลีกเลี่ยงหรือจำกัดปริมาณในการบริโภค เช่น อาหารที่มีคาเฟอีน ปลาบางชนิดที่มีสารปรอทสูง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ แม่หลังคลอดยังควรงดสูบบุหรี่ ยาสูบ และกัญชา เพราะเป็นอันตรายต่อสุขภาพและพัฒนาการของทารก

    อาหาร แม่ หลัง คลอด ห้าม กิน มีอะไรบ้าง

    อาหารที่แม่หลังคลอดควรงดบริโภค หรือบริโภคให้น้อยที่สุด อาจมีดังนี้

    อาหารและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน

    คาเฟอีนในอาหารและเครื่องดื่มอย่างชา กาแฟ ชาเขียว น้ำอัดลม ดาร์กช็อกโกแลต อาจทำให้ร่างกายแม่หลังคลอดผลิตน้ำนมได้น้อยลง และคาเฟอีนอาจถูกส่งต่อไปยังทารกผ่านน้ำนมแม่ และส่งผลให้ทารกนอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ตื่นตัวจนกินนมได้น้อยลง ท้องผูก มีแก๊สในกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะในทารกคลอดก่อนกำหนดที่สลายคาเฟอีนได้ช้ากว่าทารกทั่วไปและทารกที่เซนซิทีฟต่อคาเฟอีนมากกว่าปกติ

    แม่หลังคลอดอาจเปลี่ยนไปดื่มกาแฟไม่มีคาเฟอีน หรือดื่มเครื่องดื่มชนิดอื่น เช่น น้ำผลไม้น้ำตาลน้อย หรือหากยังต้องการบริโภคเครื่องดื่มคาเฟอีน ก็ควรจำกัดปริมาณคาเฟอีนไม่เกิน 300 มิลลิกรัม/วัน โดยปริมาณคาเฟอีนในน้ำนมแม่จะมีความเข้มข้นสูงสุดในช่วง 1 ชั่วโมงหลังบริโภคเข้าไป จึงควรรออย่างน้อย 2 ชั่วโมงหลังดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนจึงค่อยให้ทารกกินนมจากเต้า หรือให้กินนมที่ปั๊มเก็บเอาไว้แทนการกินนมจากเต้าโดยตรง

    ปริมาณคาเฟอีนต่อวันที่แนะนำสำหรับแม่หลังคลอด อาจมีดังนี้

    • กาแฟฟิลเตอร์ (Filter coffee) หรือกาแฟที่ผ่านการกรองแล้ว ปริมาณ 140 มิลลิกรัม
    • เอสเปรซโซ่ ปริมาณ 100 มิลลิกรัม
    • กาแฟสำเร็จรูป ปริมาณ 100 มิลลิกรัม
    • ชา ปริมาณ 75 มิลลิกรัม

    ปลาที่มีสารปรอท

    โดยทั่วไป ปลาและสัตว์ทะเลล้วนมีสารปรอทซึ่งเป็นโลหะหนักอยู่ในกล้ามเนื้อในปริมาณมากน้อยต่างกันไปตามชนิดของปลา ขนาด อายุ และแหล่งที่อยู่อาศัย สารปรอทมักพบมากในปลาอินทรี ปลาฉลาม ปลาทูน่า ปลากระโทงดาบ ปลาไทล์ฟิช (Tilefish) ปลาหัวเมือก (Orange roughy) เป็นต้น เนื่องจากเป็นปลานักล่าและมีชีวิตยืนยาวกว่าปลาหลายชนิด จึงอาจมีสารปรอทสะสมอยู่ในปริมาณมาก หากแม่หลังคลอดกินปลาที่มีสารปรอทสูง อาจส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองและระบบประสาทของทารกได้

    เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

    เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์ เป็นอันตรายต่อสุขภาพและพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของทารกทั้งในครรภ์และหลังคลอด หากแม่ดื่มแอลกอฮออล์ขณะตั้งครรภ์ อาจทำให้เกิดภาวะผิดปกติ เช่น ทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้ากว่าปกติ การคลอดก่อนกำหนด ทารกมีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่าเกณฑ์หรือน้อยกว่า 2.5 กิโลกรัม นอกจากนี้ ยังทำให้ทารกมีภาวะผิดปกติจากแม่ดื่มสุรา (Fetal Alcohol Spectrum Disorder) ซึ่งส่งผลให้ทารกที่คลอดออกมามีลักษณะผิดปกติ เช่น

    • ความผิดปกติด้านการเรียนรู้และพฤติกรรม
    • ความผิดปกติของข้อต่อ กระดูก กล้ามเนื้อ และอวัยวะบางส่วน
    • การจัดการอารมณ์และการพัฒนาทักษะทางสังคม
    • โรคสมาธิสั้นและปัญหาด้านการควบคุมความต้องการของตัวเอง (Impulse control)
    • ปัญหาด้านการสื่อสาร เช่น การพูด

    แม่หลังคลอดควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปจนกว่าจะผ่านช่วงให้นมบุตรหรืออย่างน้อย 6 เดือนแรกหลังคลอด เนื่องจากแอลกอฮอล์อาจถูกส่งต่อไปยังทารกผ่านน้ำนมแม่ได้ หากต้องการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ควรให้แอลกอฮอล์ในกระแสเลือดเจือจางลงอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมงก่อนให้ทารกกินนมจากเต้า หรือเปลี่ยนมาให้ทารกกินนมที่ปั๊มเก็บไว้ในช่วงที่ไม่ได้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แทนการกินนมจากเต้าโดยตรง

    หลังคลอด กินอะไรได้บ้าง

    อาหารที่เหมาะสมสำหรับแม่หลังคลอดและให้นมบุตร อาจมีดังนี้

    • ปลา เช่น ปลากะพง ปลาเก๋า ปลาแซลมอน ปลานิล เนื่องจากย่อยง่าย ทั้งยังเป็นแหล่งโปรตีนที่มีประโยชน์และอุดมไปด้วยกรดไขมันดีอย่างกรดไขมันโอเมก้า 3 โดยแม่หลังคลอดควรรับประทานเมนูปลา เช่น ปลานึ่ง ข้าวต้มปลา ปลาช่อนผัดขิง อย่างน้อย 2 มื้อ/สัปดาห์
    • อาหารที่มีโปรตีน เช่น ไข่ นมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัว พืชตระกูลถั่วอย่างถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วแดง เนื้อสัตว์ไม่ติดมันอย่างอกไก่ อย่างน้อย 5-7 มื้อย่อย ๆ /วัน หลังคลอดและให้นมบุตร อาจช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูได้ดีขึ้นและช่วยในการผลิตน้ำนม
    • อาหารที่มีธาตุเหล็ก เช่น เนื้อแดงอย่างเนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อวัว รวมไปถึงสัตว์ปีกอย่างไก่ เป็ด เครื่องในสัตว์ต่าง ๆ อย่างตับไก่ ไตวัว ผักอย่างถั่วลิสง อัลมอนด์ คะน้า พริกหวาน มะเขือพวง อาจช่วยให้ร่างกายมีธาตุเหล็กที่เพียงพอต่อการสร้างฮีโมโกลบินซึ่งเป็นส่วนประกอบเซลล์เม็ดเลือดแดงเพื่อทดแทนเลือดที่สูญเสียไประหว่างคลอด
    • ธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวสาลี ข้าวไรย์ ข้าวบาร์เลย์ ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลเกรน มีเส้นใยอาหารสูง ทั้งยังมีวิตามินบี วิตามินอี ทองแดง แมกนีเซียม ช่วยให้ขับถ่ายคล่องขึ้น

    วิธีดูแลตัวเองสำหรับแม่หลังคลอด

    วิธีดูแลตัวเองสำหรับแม่หลังคลอด อาจมีดังนี้

    • แม่หลังคลอดควรดื่มน้ำหรือของเหลว เช่น น้ำผลไม้ นมจืด อย่างน้อย 8-10 แก้ว/วัน เพื่อช่วยให้ร่างกายมีของเหลวเพียงพอสำหรับผลิตน้ำนม
    • ในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกหลังคลอด แม่หลังคลอดควรให้คนรอบข้าง เช่น คู่ชีวิต พ่อแม่พี่น้อง ญาติสนิท ช่วยเหลือและจัดการเรื่องต่าง ๆ ภายในบ้าน จะได้มีเวลาพักฟื้นและให้นมบุตรได้อย่างเต็มที่
    • แม่หลังคลอดควรหาเวลาผ่อนคลายให้ตัวเองและใช้เวลาอยู่กับตัวเองบ้าง เช่น แช่น้ำในอ่าง เดินเล่นระยะสั้น อ่านหนังสือ ดูภาพยนตร์ งีบหลับ และให้คนอื่นในบ้านช่วยดูแลทารกให้ในระหว่างนั้น
    • หลีกเลี่ยงการยกของหนัก โดยเฉพาะหากใช้วิธีผ่าตัดคลอด เพราะอาจทำให้แผลฉีกขาดและหายช้ากว่าเดิมได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 18/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา