backup og meta

เมนูอาหารหลังผ่าตัดมดลูก มีอะไรบ้าง ที่ควรกินเพื่อฟื้นฟูร่างกาย

เมนูอาหารหลังผ่าตัดมดลูก มีอะไรบ้าง ที่ควรกินเพื่อฟื้นฟูร่างกาย

สำหรับผู้ที่เข้ารับการรักษาหรือผ่าตัดมดลูก เมนูอาหารหลังผ่าตัดมดลูก ควรเน้นเป็นอาหารที่หลากหลาย โดยเน้นผัก ผลไม้ และอาหารที่มาจากธรรมชาติ ผ่านกระบวนการปรุงแต่งและแปรรูปน้อยที่สุด เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อการสมานแผลและฟื้นฟูร่างกาย นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารบางชนิด เช่น อาหารไขมันสูง คาเฟอีน อาหารรสเผ็ด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันปัญหาระบบย่อยอาหารและอาการไม่พึงประสงค์หลังผ่าตัด

[embed-health-tool-ovulation]

เมนูอาหารหลังผ่าตัดมดลูก

เมนูอาหารหลังผ่าตัดมดลูก ที่ควรกินเพื่อปรับปรุงสุขภาพและช่วยในการสมานแผล อาจมีดังนี้

  • อาหารที่มีไฟเบอร์สูง เช่น ผักและผลไม้ต่าง ๆ พืชตระกูลถั่ว เมล็ดพืช ธัญพืช เพื่อปรับปรุงสุขภาพลำไส้และป้องกันอาการท้องผูกที่อาจทำให้เกิดความกระทบกระเทือนต่อแผลผ่าตัด
  • ผักและผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินซี เช่น บร็อคโคลี่ สตรอว์เบอร์รี่ มะระขี้นก พริกหยวก ส้ม สับปะรด ฝรั่ง ลิ้นจี่ มะละกอ
  • ธัญพืชและโปรตีนที่อุดมไปด้วยสังกะสี เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ อาหารทะเล หอยนางรม หอย กุ้ง ปู ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีนกระป๋อง ผักปวยเล้ง ถั่ว เมล็ดฟักทอง เมล็ดแตงโม เม็ดมะม่วงหิมพานต์
  • อาหารที่มีโปรตีนเพียงพอตลอดทั้งวัน เนื่องจากโปรตีนมีส่วนช่วยในการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย จึงอาจช่วยในการสมานแผลจากการผ่าตัดมดลูกได้ ดังนั้น ควรเลือกเมนูอาหารหลังผ่าตัดมดลูกที่มีโปรตีนสูง เช่น เมนูไข่ต่าง ๆ เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาแมคเคอเรล กุ้ง กั้ง นม โยเกิร์ต ชีส
  • อาหารที่อุดมไปด้วยไฟโตนิวเทรียนท์ (Phytonutrients) ซึ่งเป็นสารประกอบจากพืชที่พบมากในผักและผลไม้ มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยชะลอความเสื่อมสภาพของเซลล์ และช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะการผ่าตัดมดลูกที่อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ผู้ป่วยจึงควรกินอาหารที่มีสารไฟโตนิวเทรียนท์ เช่น หน่อไม้ฝรั่ง อะโวคาโด หัวผักกาด บร็อคโคลี่ กะหล่ำปลี แครอท ผักใบเขียว ฟักทอง มะเขือเทศ มะละกอ ถั่ว แอปเปิ้ล เบอร์รี่ เกรปฟรุ๊ต ส้ม ลูกพีช ชาเขียว ชาดำ
  • อาหารที่อุดมไปด้วยไฟโตเอสโตรเจน (Phytoestrogens) สำหรับผู้ที่ผ่าตัดมดลูกโดยการเอารังไข่ออกจะทำให้ร่างกายขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน และส่งผลให้ประจำเดือนหยุดลง จึงอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการร้อนวูบวาบ เหนื่อยล้า ช่องคลอดแห้ง เหงื่อออกมาก และอาจมีอาการอื่น ๆ ของวัยหมดประจำเดือน จึงควรเลือกเมนูอาหารที่มีไฟโตเอสโตรเจนสูง เพื่อช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนในร่างกาย เช่น ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง แขนง ฟักทอง บวบ ถั่ว เมล็ดพืช กระเทียม สตรอว์เบอร์รี่ ผลไม้อบแห้ง
  • ดื่มน้ำให้มากขึ้น โดยควรดื่มน้ำวันละ 2-3 ลิตร/วัน เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับร่างกาย และป้องกันอาการท้องผูก
  • สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยการหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสหวานจัด กินอาหารเพื่อสุขภาพที่มีเส้นใยสูงและเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยป้องกันบาดแผลไม่ให้ลุกลามรุนแรง และช่วยให้การรักษาฟื้นตัวดีขึ้น

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงหลังผ่าตัดมดลูก

เมนูอาหารหลังผ่าตัดมดลูกที่ควรหลีกเลี่ยง เพื่อป้องกันปัญหาระบบย่อยอาหารที่อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น แก๊สในกระเพาะอาหาร ท้องผูก ที่อาจทำให้เกิดความกระทบกระเทือนต่อมดลูกเมื่อขับถ่ายหรือเกิดการเบ่งอย่างรุนแรง รวมถึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจทำให้การสมานตัวของแผลช้าลง โดยอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง มีดังนี้

  • อาหารรสเผ็ด เช่น หม่าล่า น้ำพริก ส้มตำ ยำวุ้นเส้น
  • อาหารหวานจัด เช่น เค้ก คุกกี้ ขนมไทย
  • อาหารไขมันสูง ของทอด ของมันที่มีไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์  เช่น มันฝรั่งทอด แฮมเบอร์เกอร์ ไก่ทอด หมูทอด ลูกชิ้นทอด ฮอทดอก แฮม เบคอน หมูสามชั้น
  • คาเฟอีน เช่น กาแฟ น้ำอัดลม ช็อกโกแลต
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดมดลูก

การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดมดลูก เพื่อช่วยในการฟื้นตัวอาจทำได้ ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์หลังผ่าตัด โดยควรงดการมีเพศสัมพันธ์ประมาณ 2-3 เดือน หรือจนกว่าแผลจะหายสนิท เพื่อป้องกันแผลที่มดลูกปริและอาจมีความเสี่ยงในการติดเชื้อ
  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมหรือการรับประทานอาหารที่อาจก่อให้เกิดอาการท้องผูก หรือต้องออกแรงเบ่งอุจจาระ เช่น การไม่กินผักและผลไม้ การดื่มน้ำน้อย การอั้นอุจจาระ เพราะอาจทำให้เกิดแรงดันจนแผลที่มดลูกปริ
  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในช่วง 6 สัปดาห์แรก โดยเฉพาะการออกกำลังกายที่ต้องใช้แรงมาก เช่น กระโดด แอโรบิก สควอช วิ่ง
  • หลีกเลี่ยงการทำงานบ้านอย่างหนักหรือการยกของหนัก เพราะอาจทำให้เกิดแรงดันหรือการกระทบกระเทือนไปยังแผลที่มดลูกได้
  • หลีกเลี่ยงการขับรถ เนื่องจากยาที่ได้รับหลังจากการผ่าตัดอาจทำให้เกิดอาการง่วง และแรงกระแทกจากการขับรถอาจกระทบกระเทือนมดลูก
  • ไม่ควรสวนล้างช่องคลอด เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ การนอนหลับพักผ่อนอาจช่วยลดความเครียด และช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูบาดแผลได้ดี

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Five Nutrition Tips to Promote Wound Healing. https://www.eatright.org/health/wellness/preventing-illness/nutrition-tips-to-promote-wound-healing. Accessed September 2, 2022

The Six Super Foods Every Woman Needs. https://www.webmd.com/women/features/six-super-foods-every-woman-needs. Accessed September 2, 2022

Nutrition. https://www.allinahealth.org/health-conditions-and-treatments/health-library/patient-education/preparing-for-your-hysterectomy/care-after-surgery/what-you-need-to-know-about-nutrition. Accessed September 2, 2022

15 Healthy Lifestyle Tips After Your Hysterectomy. https://www.webmd.com/women/features/healthy-lifestyle-tips-after-hysterectomy. Accessed September 2, 2022

Recovering from your hysterectomy. https://www.dana-farber.org/health-library/articles/recovering-from-your-hysterectomy/#:~:text=Eat%20a%20well%2Dbalanced%20diet,doctor%20about%20your%20fluid%20intake. Accessed September 2, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/10/2024

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาหารช่วยขับถ่าย มีอะไรบ้าง

เป็นเมนส์ห้ามกินอะไร และอาหารที่เหมาะสำหรับคนเป็นเมนส์


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 3 สัปดาห์ก่อน

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา