backup og meta

โกโก้ลดน้ำหนัก ได้จริงหรือไม่ และคำแนะนำในการบริโภค

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 01/09/2022

    โกโก้ลดน้ำหนัก ได้จริงหรือไม่ และคำแนะนำในการบริโภค

    โกโก้ (Cocoa) เป็นผลผลิตจากต้นโกโก้ที่นิยมนำไปทำเป็นอาหารและเครื่องดื่มในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ดาร์กช็อกโกแลต เครื่องดื่มโกโก้ น้ำมันโกโก้ ครีมเนยโกโก้ มาอย่างช้านาน หลายคนอาจมีข้อสงสัยว่า โกโก้ลดน้ำหนัก ได้จริงหรือไม่ การบริโภคโกโก้อาจช่วยลดน้ำหนักและควบคุมน้ำหนักตัวได้ เนื่องจากโกโก้มีสารต้านอนมุลอิสระที่ช่วยควบคุมระดับไขมันและน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ และช่วยลดระดับคอเรลเตอรอล ทั้งยังมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพอีกมากมาย เช่น แคลเซียม โพแทสเซียม ธาตุเหล็ก วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 โฟเลต ทั้งนี้ ควรบริโภคโกโก้ในปริมาณและรูปแบบที่เหมาะสม

    คุณค่าทางโภชนาการของโกโก้

    ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture หรือ USDA) ระบุว่า ผงโกโก้ชนิดไม่หวานปริมาณประมาณ 100 กรัม ให้พลังงาน 228 กิโลแคลอรี่ และอุดมไปด้วยสารอาหาร วิตามินและแร่ธาตุ เช่น

    • คาร์โบไฮเดรต 57.9 กรัม
    • โปรตีน 19.6 กรัม
    • ไขมัน 13.7 กรัม
    • โพแทสเซียม 1,520 มิลลิกรัม
    • ฟอสฟอรัส 734 มิลลิกรัม
    • แคลเซียม 128 มิลลิกรัม
    • ธาตุเหล็ก 13.9 มิลลิกรัม

    นอกจากนี้ ในโกโก้ยังมีสังกะสี ทองแดง แมงกานีส ซีลีเนียม วิตามินบี 1 (ไทอะมีน) วิตามินบี 2 (ไรโบฟลาวิน) วิตามินบี 3 (ไนอะซิน) วิตามินเค (ฟิลโลควิโนน) โคลีน (Choline) โฟเลต ทริปโตเฟน (Tryptophan) เมไทโอนีน (Methionine) ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ

     โกโก้ลดน้ำหนัก ได้จริงหรือไม่

    โกโก้มีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ เนื่องจากมีสารกลุ่มโพลีฟีนอล (Polyphenol) ในปริมาณสูง โดยเฉพาะสารฟลาโวนอล (Flavanols) ที่ออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและมีประสิทธิภาพในการต้านการอักเสบ จึงอาจช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ช่วยลดระดับความดันโลหิต ช่วยปรับระดับคอเลสเตอรอลและระดับน้ำตาลในเลือด จึงอาจนำมาเป็นอาหารและเครื่องดื่มสำหรับผู้ที่กำลังควบคุมน้ำหนัก และช่วยลดน้ำหนักได้

    งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร International Archives of Medicine เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2558 ศึกษาเรื่อง “ช็อกโกแลตที่มีปริมาณโกโก้สูงเป็นตัวเร่งการลดน้ำหนัก” โดยการแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกให้รับประทานโลว์คาร์บไดเอท (Low Carb Diet) และช็อกโกแลตที่มีโกโก้ 81% ในปริมาณ 42 กรัม กลุ่มที่ 2 ให้รับประทานโลว์คาร์บไดเอทเพียงอย่างเดียว และกลุ่มที่ 3 ให้รับประทานอาหารตามปกติและไม่ควบคุมอาหารใด ๆ เป็นเวลา 3 สัปดาห์ พบว่า กลุ่มที่รับประทานช็อกโกแลตที่มีโกโก้ 81% ในปริมาณ 42 กรัม สามารถลดน้ำหนักได้ง่ายและเห็นผลชัดเจนที่สุด อีกทั้งน้ำหนักยังลดลงเรื่อย ๆ ตลอดระยะเวลาทดลอง จึงอาจสรุปได้ว่า การบริโภคโกโก้ช่วยให้ลดน้ำหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    นอกจากนี้ โกโก้ยังอาจช่วยลดการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่ร่างกาย จึงอาจช่วยควบคุมน้ำหนักตัวและอาจช่วยป้องกันการเกิดโรคเบาหวานได้ด้วยการลดการอักเสบและอุดตันของหลอดเลือด โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Antioxidants เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2560 ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของสารต้านอนุมูลอิสระจากโกโก้ในโรคเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่า ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) ในโกโก้เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีฤทธิ์ต้านเบาหวาน ด้วยการเพิ่มการหลั่งอินซูลินและเพิ่มความไวต่ออินซูลินของเนื้อเยื่อส่วนปลาย (Peripheral tissue) ทั้งยังช่วยลดไขมันและป้องกันความเสียหายจากปฏิกิริยาออกซิเดชันและการอักเสบที่ทำให้เกิดโรคเบาหวาน

    คำแนะนำในการบริโภค โกโก้ลดน้ำหนัก

    การรับประทานโกโก้อาจเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักตัว ทั้งนี้ ควรระมัดระวังเมื่อรับประทานผลิตภัณฑ์จากโกโก้บางชนิด เช่น ช็อกโกแลตนมชนิดแท่ง เนื่องจากบางยี่ห้ออาจมีปริมาณน้ำตาลและแคลอรีสูงและอาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้ หากต้องการบริโภคโกโก้เพื่อลดน้ำหนัก ควรเลือกผลิตภัณฑ์จากโกโก้ชนิดไม่หวานหรือหวานน้อยที่สุด เช่น ผงโกโก้ชงกับน้ำเปล่า หรือหากอยากดื่มเครื่องดื่มโกโก้ผสมนม ควรเลือกใช้นมไขมันต่ำ หากอยากเพิ่มรสหวานควรใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล เช่น หญ้าหวาน แทนการใช้นมข้นหวาน ครีมเทียม หรือน้ำตาล

    อย่างไรก็ตาม โกโก้มีสารคล้ายคาเฟอีนอย่างธีโอโบรมีน (Theobromine) และฟีนิลอะลานีน (Phenylalanine) ที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาทส่วนกลาง หากรับประทานมากเกินไป อาจทำให้มีอาการข้างเคียง เช่น กระวนกระวาย ปัสสาวะเพิ่มขึ้น นอนไม่หลับ หัวใจเต้นเร็ว จึงควรบริโภคโกโก้ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ให้เกิน 40 กรัม (4-6 ช้อนชา) ต่อวัน หรืออาจเปลี่ยนมาใช้ผงโกโก้ชนิดไม่มีคาเฟอีน (Decaffeinated cocoa powder) เพื่อลดปริมาณคาเฟอีนที่ร่างกายได้รับต่อวัน

    โกโก้ยังอาจทำให้เกิดอาการอาการแพ้ต่าง ๆ เช่น ผื่นคันบนผิวหนัง คลื่นไส้ ไม่สบายท้อง ท้องผูก มีแก๊สในกระเพราะอาหาร ผู้ที่มีมีอาการแพ้โกโก้ ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคโกโก้ เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 01/09/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา