backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

อ้วน สังเกตได้อย่างไร และสาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง วิธีรักษา โรคอ้วน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 09/12/2022

อ้วน สังเกตได้อย่างไร และสาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง วิธีรักษา โรคอ้วน

อ้วน หรือโรคอ้วน เป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากร่างกายมีไขมันสะสมมากผิดปกติ โดยสาเหตุของโรคอ้วนอาจเกิดจากพันธุกรรม การเผาผลาญของร่างกาย นอกจากนี้ โรคอ้วนยังอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคและปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวานชนิดที่ 2 มะเร็งบางชนิด รวมถึงบางคนอาจทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ได้ลำบากขึ้น

คำจำกัดความ

อ้วน คืออะไร

อ้วน คือ ภาวะที่ร่างกายสะสมไขมันมากผิกปกติหรือมากเกินไป รวมถึงการได้รับแคลอรี่มากเกินกว่าที่ร่างกายจะเผาผลาญออกไปในแต่ละวัน โดยโรคอ้วนนั้นมีความสัมพันธ์ต่อการเกิดโรคร้ายแรง เช่น เบาหวานชนิดที่ 2 โรคหัวใจ มะเร็งบางชนิด 

ตามข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค ในผู้ใหญ่ โรคอ้วนถูกกำหนดให้มีดัชนีมวลกาย 30.0 หรือมากกว่า ซึ่งค่าดัชนีมวลกาย (BMI) อาจคำนวณได้จากการนำน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมหารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง ซึ่งค่า BMI ที่ออกมานั้น อาจบอกสถานะน้ำหนักได้ ดังนี้

  • ต่ำกว่า 18.5 คือ น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์
  • 18.5-24.9 คือ น้ำหนักปกติ
  • 25.0-29.9 คือ น้ำหนักเกินมาตรฐาน
  • 30.0 หรือมากกว่า คือ อ้วน

สำหรับโรคอ้วนอาจแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ ดังนี้

  • ค่า BMI 30-35 คือ โรคอ้วนระดับ 1
  • ค่า BMI 35-40  คือ โรคอ้วนระดับ 2
  • ค่า BMI 40 หรือมากกว่า คือ โรคอ้วนระดับ 3 ซึ่งบางครั้งอาจเรียกว่า โรคอ้วนผิดปกติ หรือ โรคอ้วนรุนแรง

อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีมวลกายนั้นไม่ได้วัดไขมันในร่างกายโดยตรง เพราะบางคน เช่น นักกีฬาเล่นกล้าม นักกีฬาเพาะกาย อาจมีค่าดัชนีมวลกายในกลุ่มโรคอ้วน แม้จะไม่มีไขมันส่วนเกินในร่างกายนอกจากนี้ การวัดรอบเอว ก็อาจสามารถบ่งชี้ถึงภาวะโรคอ้วนได้ โดยผู้หญิงที่มีรอบเอวมากกว่า 35 นิ้ว และผู้ชายที่มีรอบเอวมากกว่า 40 นิ้ว ถือว่ามีภาวะโรคอ้วน

โรคอ้วนพบบ่อยเพียงใด

ตั้งแต่ปี พ.ศ 2518 ถึง พ.ศ. 2559 เด็กและวัยรุ่นอายุ 5-19 ปีทั่วโลก มีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนเพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่า จาก 4% เป็น 18% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี นอกจากนี้ โรคอ้วนหรือน้ำหนักเกินสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย

อาการ

อาการของโรคอ้วน

โรคอ้วนอาจมีอาการ ดังนี้ 

  • หายใจลำบาก หรือหายใจไม่ค่อยสะดวก
  • ปวดข้อ ปวดหลัง
  • เหนื่อยง่าย แม้ขยับร่างกายเพียงเล็กน้อย
  • เหงื่อออกง่าย รวมถึงอาจรู้สึกออกกำลังกายลำบาก
  • เวลานอนหลับ อาจมีอาการกรน 
  • บางคนอาจขาดความมั่นใจในตัวเอง
  • ปัญหาทางจิตเวช เช่น ภาวะซึมเศร้า  

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

หากกังวลเกี่ยวกับน้ำหนักเกินเกณฑ์และปัญหาสุขภาพต่าง ๆ รวมถึงเริ่มส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรไปปรึกษาคุณหมอเพื่อหาวิธีจัดการกับโรคอ้วนที่เกิดขึ้น รวมถึงการลดน้ำหนักอย่างถูกวิธี 

สาเหตุ

สาเหตุของโรคอ้วน

โรคอ้วนอาจมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น 

  • กรรมพันธุ์
  • รับประทานอาหารที่มีแคลอรี่สูง เช่น อาหารจานด่วน 
  • ความเครียด ความวิตกกังวล
  • ระบบการเผาผลาญในร่างกายไม่ดี
  • พฤติกรรม เช่น นั่งอยู่กับที่นานเกินไป ไม่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของโรคอ้วน

โรคอ้วนอาจเกิดจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ดังนี้ 

  • กรรมพันธุ์ ยีนบางอย่างที่ส่งต่อรุ่นต่อรุ่น อาจทำให้ลดน้ำหนักได้ยาก รวมถึงพฤติกรรมการรับประทานอาหารของแต่ละครอบครัว
  • พันธุกรรม เช่น  กลุ่มอาการเพรเดอร์-วิลลี (Prader-Willi Syndrome) เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 15 อาจส่งผลทำให้อาจรู้สึกหิวตลอดเวลา
  • อายุ เมื่ออายุที่เพิ่มขึ้น มวลกล้ามเนื้อในร่างกายอาจลดลงและอาจส่งผลให้การเผาผลาญลดลงตามด้วย
  • พฤติกรรมการรับประทานอาหาร พวกของมัน ของทอด อาหารจานด่วน รวมถึงเครื่องดื่ม น้ำอัดลม น้ำหวาน
  • พฤติกรรมการนั่งอยู่กับที่เป็นระยะเวลานาน เช่น นั่งดูหนัง นั่งเล่นเกม
  • พฤติกรรมการนอน นอนหลับมากเกินไปหรือนอนหลับน้อยเกินไป อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในร่างกาย ทำให้เพิ่มความอยากอาหารและส่งผลทำให้อ้วน    
  • ขาดการออกกำลังกาย ส่งผลให้มีปริมาณไขมันสะสมในร่างกายมาก
  • รับประทานยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ ยาคุมกำเนิด ยารักษาโรคเบาหวาน ยากล่อมประสาท ยารักษาโรคจิตเภท
  • ภาวะปัญหาด้านสุขภาพ เช่น ไฮโปไทรอยด์ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย โรคข้ออักเสบ โรคคุชชิง (Cushing’s syndrome) ร่างกายมีระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) หรือฮอร์โมนความเครียดสูง ส่งผลทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น และเกิดโรคอ้วนได้
  • ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล
  • ตั้งครรภ์ ระหว่างการตั้งครรภ์ น้ำหนักอาจเพิ่มขึ้นเนื่องจากการรับประทานอาหารที่เพิ่มขึ้น และหลังคลอดอาจลดน้ำหนักได้ยาก ส่งผลให้อาจพัฒนากลายเป็นโรคอ้วนในผู้หญิงได้ 
  • เลิกบุหรี่ เนื่องจากในบุหรี่มีสารนิโคตินที่อาจส่งผลต่อระบบการเผาผลาญในร่างกาย ทำให้รู้สึกไม่ค่อยอยากอาหาร แต่เมื่อเลิกบุหรี่อาจทำให้ระบบเผาผลาญกลับมาทำงานปกติ ร่างกายกระตุ้นความอยากอาหาร อาจทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม การเลิกบุหรี่นั้นอาจส่งผลดีต่อสุขภาพในระยะยาว 

การวินิจฉัยและการรักษา

การวินิจฉัยและการรักษาโรคอ้วน

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยโรคอ้วน

คุณหมออาจวินิจฉัยโรคอ้วนดังนี้ 

  • สอบถามประวัติ เช่น พฤติกรรมการรับประทาน การใช้ชีวิตประจำวัน 
  • หาค่าดัชนีมวลกาย (BMI)
  • วัดไขมันในร่างกาย เช่น วัดรอบเอว วัดความหนาของชั้นไขมันที่สะสมอยู่ใต้ผิวหนัง
  • ตรวจคัดกรอง เช่น อัลตราซาวด์ CT Scan MRI

นอกจากนี้ คุณหมออาจทำการทดสอบบางอย่าง เพื่อนำไปวินิจฉัยความเสี่ยงด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน เช่น

  • การตรวจเลือด เพื่อวัดระดับคอเลสเตอรอล และระดับน้ำตาลในเลือด
  • การตรวจหัวใจ เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG หรือ EKG) เพื่อดูว่าอัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติหรือไม่ 
  • การตรวจต่อมไทรอยด์ 
  • การตรวจคัดกรองเบาหวาน 
  • การทดสอบการทำงานของตับ 

การรักษาโรคอ้วน

การรักษาโรคอ้วนอาจทำได้ดังนี้ 

  • ควบคุมอาหาร โดยอาจมีนักโภชนาการอาหารที่ช่วยกำหนดอาหารที่ควรรับประทานในแต่ละวัน
  • เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอาหาร โดยการคำนวณแคลอรี่การรับประทานอาหารในแต่ละวัน โดยทั่วไปผู้หญิงต้องการพลังงานประมาณ 1,200-1,500 แคลอรี่/วัน ผู้ชาย 1,500-1,800 แคลอรี่/วัน 
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารแปรรูป ขนมขบเคี้ยว ลูกอม รวมถึงอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต และไขมันสูง 
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยออกกำลังกายในระดับปานกลางหรือออกกำลังกายแบบแอโรบิกอย่างน้อย 30 นาที/วัน 
  • ใช้ยาลดน้ำหนัก อย่างไรก็ตาม ยาลดน้ำหนักอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาวได้ หากหยุดรับประทานยาลดน้ำหนัก น้ำหนักที่ลดไปอาจจะกลับมามากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งการรักษานี้ควรอยู่ภายใต้การดูแลของคุณหมอ  
  • ผ่าตัดกระเพาะอาหาร หากไม่สามารถลดด้วยวิธีการคุมอาหารหรือออกกำลังกายได้ อาจผ่าตัดกระเพาะอาหารให้แคบลง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกอิ่มเร็วขึ้นและรับประทานอาหารได้น้อยลง  

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์บางอย่างและการดูแลตัวเองอาจช่วยป้องกันไม่ให้อ้วน เช่น 

  • หาแรงบันดาลใจในการลดความอ้วน  
  • ตั้งเป้าหมายในการลดน้ำหนัก กำหนดเป้าหมายรายวันหรือรายสัปดาห์ในการออกกำลังกายและการลดน้ำหนัก
  • ควบคุมอาหาร และรับประทานอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำ รวมถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มจำพวกน้ำอัดลม น้ำหวาน 
  • ออกกำลังกายระดับปานกลางอย่างน้อย 30 นาที/วัน เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ๆ ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ และพยายามไม่เครียด เพราะหากนอนน้อยและเครียด อาจส่งผลให้รู้สึกอยากรับประทานอาหารมากขึ้น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 09/12/2022

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา