backup og meta

Malnutrition คือ อะไร มีสาเหตุและการรักษาอย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 18/01/2023

    Malnutrition คือ อะไร มีสาเหตุและการรักษาอย่างไร

    Malnutrition (ภาวะทุพโภชนาการ) คือ ภาวะที่ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เหมาะสมโดยอาจได้รับมากหรือน้อยเกินไปซึ่งอาจส่งผลให้มีน้ำหนักตัวมากหรือน้อยเกินไป อีกทั้งยังอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคกระดูกพรุน หากสังเกตพบอาการผิดปกติ เช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักลดหรือเพิ่มอย่างกะทันหัน เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ผิวซีด ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็ว 

    Malnutrition คืออะไร 

    Malnutrition หรือ ภาวะทุพโภชนาการ คือ ภาวะที่ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างไม่เหมาะสม โดยอาจได้รับไม่เพียงพอ หรือมากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

    • ภาวะโภชนาการต่ำ (Undernutrition) คือ ภาวะที่ร่างกายได้รับสารอาหารบางชนิดไม่เพียงพอ เช่น วิตามินเอ วิตามินซี โพแทสเซียม แคลเซียม โปรตีน ที่อาจส่งผลให้มีน้ำหนักที่ต่ำกว่าเกณฑ์ และร่างกายเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ
  • ภาวะโภชนาการเกิน (Overnutrition) คือ ภาวะที่ร่างกายได้รับประทานสารอาหารเกินกว่าที่ร่างกายต้องการซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการสะสมไขมันตาม ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และเสี่ยงต่อโรคอ้วน
  • สาเหตุของ Malnutrition คืออะไร

    สาเหตุของภาวะทุพโภชนาการ มีดังนี้

    • ความผิดปกติของระบบย่อยอาหาร เช่น โรคโครห์น (Crohn’s Disease) โรคท้องร่วง โรคลำไส้ใหญ่อักเสบ ที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบย่อยอาหาร ทำให้การดูดซึมสารอาหารไม่ดี ส่งผลให้ร่างกายขาดสารอาหารและเสี่ยงต่อภาวะโภชนาการต่ำ
    • การรับประทานอาหารน้อยหรือมากเกินไป การรับประทานอาหารน้อยเกินไปเนื่องจากปัญหาสุขภาพ เช่น ปัญหาในช่องปาก กลืนอาหารลำบากคลื่นไส้และอาเจียนบ่อยครั้ง โรคมะเร็ง โรคตับ อาจส่งผลให้เกิดภาวะโภชนาการต่ำ แต่การรับประทานอาหารมากเกินไปเนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การออกกำลังกาย ทำงานหนัก ส่งผลให้รู้สึกหิวและรับประทานอาหารมากขึ้นเพื่อชดเชยพลังงานที่สูญเสียไป อาจส่งผลให้เกิดภาวะโภชนาการเกินได้
    • สภาวะทางจิตใจ เช่น โรคคลั่งผอม โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า อาจทำให้ความอยากอาหารลดลงหรือเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้รับประทานอาหารมากเกินไปหรือน้อยเกินไปได้
    • ปัญหาทางสังคม ผู้ที่มีฐานะยากจนหรือรายได้น้อยอาจไม่มีเงินพอที่จะซื้ออาหารมารับประทาน หรือผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลอาจไม่สะดวกต่อการเดินทางไปซื้ออาหารทำให้จำเป็นต้องรับประทานอาหารสำเร็จรูปบ่อยครั้ง ซึ่งอาจเสี่ยงต่อภาวะทุพโภชนาการ
    • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก อาจทำให้กระเพาะอาหารและตับอ่อนเสียหายในระยะยาวทำให้ประสิทธิภาพของการดูดซึมสารอาหารลดลง หรืออาจทำให้รู้สึกอิ่มจนรู้สึกไม่อยากรับประทานอาหารอื่น ๆ จึงนำไปสู่ภาวะทุพโภชนาการ

    อาการของ Malnutrition คืออะไร

    อาการที่พบได้บ่อยของภาวะทุพโภชนาการ  มีดังนี้

    • น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นในช่วง 3-6 เดือน
    • รู้สึกเบื่ออาหารหรือมีความอยากอาหารมากกว่าปกติ
    • รู้สึกเหนื่อยและอ่อนเพลียตลอดเวลา
    • เจ็บป่วยบ่อยครั้ง และใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวนาน
    • ผิวซีด และผิวแห้ง
    • มีผื่นขึ้น
    • ผมขาดร่วงง่าย
    • ปวดข้อต่อและกระดูก
    • มีเลือดออกจากเหงือกบ่อยครั้ง
    • มีปัญหาด้านการมองเห็น โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืน
    • วิงเวียนศีรษะ
    • หงุดหงิดง่าย 
    • การเคลื่อนไหว การคิดวิเคราะห์ และการเรียนรู้ช้าลง

    ผลกระทบของ Malnutrition คืออะไร

    หากไม่เข้ารับการรักษาภาวะทุพโภชนาการทันทีที่สังเกตว่ามีอาการผิดปกติและปล่อยไว้เป็นเวลานาน อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพเนื่องจากร่างกายขาดสารอาหารและได้รับสารอาหารเกิน ดังนี้

    ผลกระทบต่อสุขภาพของภาวะโภชนาการต่ำ

    • ภาวะแคระแกร็น
    • ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
    • ภาวะโลหิตจาง
    • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
    • โรคกระดูกพรุน
    • โรคท้องร่วง
    • ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องที่ส่งผลให้ติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา นำไปสู่การเจ็บป่วยได้ง่าย

    ผลกระทบต่อสุขภาพของภาวะโภชนาการเกิน

    • โรคอ้วน
    • ภาวะคอเลสเตอรอลสูง
    • โรคข้ออักเสบ
    • โรคเบาหวาน
    • โรคหัวใจ
    • โรคหลอดเลือดตีบตัน
    • โรคตับ
    • โรคไต

    การรักษา Malnutrition 

    การรักษาภาวะทุพโภชนาการคุณหมออาจวางแผนการรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับอาการที่เป็น ดังนี้

    • สำหรับผู้ที่มีโภชนาการต่ำ อาจจำเป็นต้องเพิ่มการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีน ไขมันดี วิตามิน และแร่ธาตุ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช เนื้อหมู ปลา ไข่ ถั่ว หรืออาจเพิ่มมื้ออาหารจาก 3 มื้อ เป็น 4 มื้อ/วัน เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารเพียงพอ
    • สำหรับผู้ที่มีภาวะโภชนาการเกิน อาจจำเป็นต้องจำกัดปริมาณแคลอรี่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว น้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตสูง เช่น ของทอด ขนมหวาน ชีส อาหารแปรรูป น้ำผลไม้ น้ำอัดลม รวมถึงวางแผนการออกกำลังกายให้เหมาะสม เพื่อช่วยเผาผลาญไขมันและเพิ่มมวลกล้ามเนื้อให้ร่างกาย

    ในกรณีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือไม่สามารถรับประทานได้ด้วยตัวเอง คุณหมออาจจำเป็นต้องให้อาหารผ่านทางสายยางต่อเข้าสู่กระเพาะอาหารโดยตรง นอกจากนี้ ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต ความผิดปกติของระบบย่อยอาหาร หรือเสพติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาโรคเหล่านี้ร่วมด้วย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 18/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา