backup og meta

ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ช่วยอะไร และเหมาะสำหรับใครบ้าง

ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ช่วยอะไร และเหมาะสำหรับใครบ้าง

ไข้หวัดใหญ่ คือ โรคติดเชื้อในทางเดินระบบหายใจที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza Virus) ซึ่งมี 2 ชนิดที่พบได้บ่อย ได้แก่ ชนิด A และ B โดยสามารถได้รับเชื้อไวรัสนี้ได้จากการสูดดมละอองสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อที่ลอยอยู่ในอากาศและการสัมผัสกับสารคัดหลั่งที่มีเชื้อโดยตรงตามวัตถุต่าง ๆ ยกตัวอย่าง กรประตู สวิตช์ไฟ ราวจับรถสาธารณะ โทรศัพท์ ช้อน ส้อม แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ เป็นต้น ดังนั้น เพื่อป้องกันตัวเองและคนในครอบครัว ควรเข้ารับการ ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เป็นประจำทุกปีและดูแลสุขภาพให้แข็งแรงด้วยการพักผ่อนให้มาก ๆ รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

ทำความรู้จักกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ คือ วัคซีนที่ช่วยป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ และช่วยบรรเทาอาการของไข้หวัดใหญ่ ไม่ให้มีอาการรุนแรงมากเกินไปและสามารถฟื้นตัวได้ไวมากขึ้น โดยแพทย์อาจฉีดบริเวณต้นแขนหรือต้นขาหรือพ่นจมูก

วัคซีนไข้หวัดใหญ่แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

  • วัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตาย (Live Attenuated Influenza Vaccines : LAIV) เป็นวัคซีนที่ประเทศไทยนิยมใช้ ผลิตขึ้นจากเชื้อไวรัสที่ตายแล้วโดยใช้เฉพาะโปรตีนบางส่วนที่มีลักษณะเป็นหนามมาผลิตขึ้นใหม่ วัคซีนไข้หวัดชนิดเชื้อตายแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มวัคซีนที่มีส่วนประกอบของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ และกลุ่มวัคซีนที่มีส่วนประกอบของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ โดยสามารถเข้ารับการฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป รวมถึงสตรีมีครรภ์และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ที่ควรฉีดเป็นประจำทุกปี ปีละ 1 ครั้ง สำหรับเด็กที่อายุ 6 เดือน ถึง 8 ปี ที่ไม่ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนตามกำหนดอาจจำเป็นต้องเข้ารับการฉีดวัคซีน 2 โดส ห่างกันโดสละ 4 สัปดาห์
  • วัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อเป็น (Inactivated Influenza Vaccines : IIV) เป็นวัคซีนที่จะนำเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ยังมีชีวิตอยู่มาทำให้มีฤทธิ์อ่อนลงจนไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้ แต่จะยังคงมีฤทธิ์ในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันเพื่อให้ร่างกายคุ้นเคยกับเชื้อ เมื่อฉีดวัคซีนนี้เข้าสู่ร่างกายจะทำให้ร่างกายตอบสนองต่อไวรัสและสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเพื่อจัดการกับเชื้อไวรัส ทำให้สามารถรับมือกับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในภายหลังได้ วัคซีนนี้มีในรูปแบบยาพ่นทางจมูก เหมาะสำหรับกลุ่มอายุ 2-49 ปี และไม่มีโรคประจำตัว แต่ไม่แนะนำให้ใช้ในสตรีตั้งครรภ์และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยแพทย์อาจให้พ่นวัคซีนผ่านทางจมูก 1 โดส นอกจากนี้ สำหรับเด็กอายุ 2-8 ปี ที่ไม่ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนตามกำหนดอาจจำเป็นต้องเข้ารับการพ่นวัคซีน 2 โดส ห่างกันโดสละ 4 สัปดาห์

ความสำคัญของการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

เนื่องจากไวรัสไข้หวัดใหญ่อาจมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะอย่างรวดเร็วจึงอาจทำให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ฉีดมาปีก่อน ๆ ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ ดังนั้น การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี จึงอาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ และบรรเทาอาการรุนแรงเมื่อเป็นไข้หวัดใหญ่ในแต่ละสายพันธุ์ได้ โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวและฤดูฝน อีกทั้งยังอาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของหัวใจ โรคหอบหืด โรคปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ การติดเชื้อที่หู และกลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน

นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ยังอาจช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ได้ และอาจช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและลดปัญหาค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยได้อีกด้วย

การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เหมาะสำหรับใคร

การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ สามารถฉีดได้ทุกคนตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ที่มีปัญหาสุขภาพบางกลุ่ม ดังต่อไปนี้

  • ผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วน โรคไต โรคตับ
  • ผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคปอดอักเสบ โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
  • ผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบประสาท เช่น โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง โรคพาร์กินสัน
  • ผู้ที่เป็นโรคที่ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเอดส์ โรคมะเร็ง โรคลูปัส (Systemic Lupus Erythematosus) รวมถึงผู้ที่อยู่ในระหว่างการฉายรังสีหรือทำเคมีบำบัดเพื่อรักษามะเร็ง และผู้ที่ผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ
  • สตรีตั้งครรภ์ โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3
  • ผู้ที่อยู่ในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวกและมีผู้คนแออัด เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน สนามบิน เครื่องบิน รถไฟฟ้า รถเมล์

ข้อควรรู้ก่อนฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

ข้อควรรู้ก่อนฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ มีดังนี้

  • ควรแจ้งประวัติสุขภาพให้แพทย์ทราบก่อนฉีด เพื่อให้แพทย์เลือกชนิดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือมีอาการแพ้ไข่ เนื่องจากวัคซีนไข้หวัดใหญ่บางชนิดอาจมีส่วนผสมของไข่
  • ควรพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 7-9 ชั่วโมง ก่อนฉีดวัคซีน เพื่อลดอาการอ่อนเพลียและอาจช่วยลดผลข้างเคียงหลังจากฉีดวัคซีน
  • การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น มีไข้เล็กน้อย ปวดกล้ามเนื้อบริเวณที่ฉีดวัคซีน ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาการตอบสนองระหว่างระบบภูมิคุ้มกันและวัคซีน ปกติแล้วมักจะหายได้เอง 6-12 ชั่วโมง หรือ 1-2 วัน หากรู้สึกไม่สบายตัวสามารถรับประทานยาแก้ปวดและลดไข้ เช่น ยาพาราเซตามอล ยาไอบูโพรเฟน
  • สตรีตั้งครรภ์ควรรับวัคซีนชนิดเชื้อตายเท่านั้น เพราะวัคซีนชนิดเชื้อเป็นอาจมีผลข้างเคียงรุนแรงที่กระทบต่อสุขภาพของทารกในครรภ์ได้
  • วัคซีนไข้หวัดใหญ่จะทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพภายในประมาณ 10-14 วัน หลังฉีดวัคซีน และภูมิคุ้มกันจะมีอายุนาน 1 ปี ดังนั้น จึงควรเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี เพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ไข้หวัดใหญ่ (Influenza). https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=311.Accessed January 20, 2023   

Influenza. https://www.cdc.gov/flu/index.htm.Accessed January 20, 2023   

Influenza. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/flu/symptoms-causes/syc-20351719.Accessed January 20, 2023   

Types of seasonal influenza vaccine. https://www.who.int/europe/news-room/fact-sheets/item/types-of-seasonal-influenza-vaccine.Accessed January 20, 2023   

Flu vaccine. https://www.nhs.uk/conditions/vaccinations/flu-influenza-vaccine/.Accessed January 20, 2023   

Flu shot: Your best bet for avoiding influenza. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/flu/in-depth/flu-shots/art-20048000.Accessed January 20, 2023   

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/03/2023

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: Pattarapa Thiangwong


บทความที่เกี่ยวข้อง

ไข้หวัดใหญ่ อาการ เป็นอย่างไร และควรรับมืออย่างไร

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A แตกต่างจาก ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B อย่างไร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 24/03/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา