backup og meta

ก่อนฉีดวัคซีนห้ามกินอะไร และข้อควรปฏิบัติก่อนและหลังฉีดวัคซีน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

    ก่อนฉีดวัคซีนห้ามกินอะไร และข้อควรปฏิบัติก่อนและหลังฉีดวัคซีน

    การฉีดวัคซีน เป็นวิธีที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรค ช่วยลดความรุนแรงของโรค และช่วยลดการแพร่กระจายของโรค เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคโควิด-19 โรคไข้เลือดออก ทั้งนี้ การทราบข้อควรปฎิบัติในการเข้ารับการฉีดวัคซีน เช่น ก่อนฉีดวัคซีนห้ามกินอะไร อาจช่วยให้สามารถเตรียมตัวได้อย่างเหมาะสม และช่วยให้วัคซีนสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

    โดยทั่วไป คนที่จะไปฉีดวัคซีนสามารถกินอาหารได้ตามปกติ ดื่มน้ำให้เพียงพอ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพราะอาจลดประสิทธิภาพของวัคซีน และควรดูแลสุขภาพไม่ให้เจ็บป่วยก่อนวันฉีดวัคซีน พักผ่อนอย่างน้อย 8-10 ชั่วโมง เพื่อให้สุขภาพแข็งแรงและพร้อมเข้ารับการฉีดวัคซีนที่สุด และอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนได้ด้วย

    ก่อนฉีดวัคซีนห้ามกินอะไร

    โดยทั่วไปแล้ว ก่อนไปฉีดวัคซีนสามารถกินอาหารได้ตามปกติ ไม่ต้องงดอาหารชนิดใดเป็นพิเศษ และไม่ควรอดอาหารด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะไปฉีดวัคซีนควรจำกัดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์ บรั่นดี โซจู สาเก ทั้งก่อนและหลังฉีดวัคซีนอย่างน้อย 24 ชั่วโมง เนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ และหากเป็นไปได้ ควรจำกัดการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟดำ ลาเต้ คาปูชิโน่ ชาเขียว ชาเย็น เพราะคาเฟอีนมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ หากบริโภคมากไปอาจทำให้ถ่ายปัสสาวะบ่อยจนมีน้ำน้อยเกินไป

    อาหารที่ควรกินก่อนไปฉีดวัคซีน

    ผู้ที่จะไปฉีดวัคซีนสามารถกินอาหารได้ตามปกติ โดยอาจเน้นอาหารต้านการอักเสบ (Anti-Inflammatory Diet) ซึ่งเป็นอาหารตามธรรมชาติที่ลดความเสี่ยงในการเกิดอาการอักเสบในร่างกาย เช่น

  • ผักและผลไม้ ผักใบเขียวอย่างปวยเล้ง ผักเคล กวางตุ้ง ผักชีฝรั่ง โหระพา กะหล่ำปลี บรอกโคลี ผลไม้ เช่น เชอร์รี ราสเบอร์รี แบล็กเบอร์รี ทับทิม อะโวคาโด เป็นผักและผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินเค สารโพลีฟีนอล และสารฟลาโวนอยด์ที่ช่วยลดการอักเสบ
  • ธัญพืชเต็มเมล็ด เช่น ข้าวโอ๊ต ข้าวกล้อง ข้าวบาร์เลย์ ข้าวฟ่าง ขนมปังโฮลวีท อุดมไปด้วยใยอาหารและพรีไบโอติกที่เป็นอาหารของโพรไบโอติกส์ ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ที่อาศัยอยู่ในลำไส้ ช่วยปล่อยสารลดระดับการอักเสบทั่วร่างกาย
  • พืชตระกูลถั่วและเมล็ดพืช เช่น เกาลัด ถั่วลิสง อัลมอนด์ วอลนัท เฮเซลนัท เมล็ดทานตะวัน เม็ดมะม่วงหิมพานต์ มีใยอาหารสูง ทั้งยังอุดมไปด้วยโพลีฟีนอล (Polyphenols) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันและมีคุณสมบัติต้านอักเสบ
  • เนื้อปลา เช่น ปลาทู ปลาสวาย ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน เป็นปลาที่มีไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งมีคุณสมบัติในการต้านอักเสบได้ดี
  • การปฏิบัติตัวก่อนไปฉีดวัคซีน

    การปฏิบัติตัวก่อนไปฉีดวัคซีน อาจทำได้ดังนี้

  • นอนหลับให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 7-10 ชั่วโมง ไม่ควรอดนอนก่อนไปฉีดวัคซีน
  • งดออกกำลังกายอย่างหนัก เช่น เล่นเวท ยกน้ำหนัก อย่างน้อย 2 วัน
  • ตรวจสอบตารางเวลาและสถานที่ที่ให้บริการฉีดวัคซีนให้ดีก่อนถึงเวลานัดหมาย และไปตามนัดหมายให้ตรงเวลา และควรนำบัตรประชาชนไปด้วยทุกครั้งเพื่อยืนยันตัวตน
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อย 8-10 แก้ว/วัน เพื่อให้ร่างกายมีน้ำในระดับที่เหมาะสม ไม่ขาดน้ำจนทำให้เลือดข้นหนืดจนเสี่ยงเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังจากฉีดวัคซีน
  • ไม่ต้องงดน้ำหรืออาหารก่อนไปฉีดวัคซีน และสามารถกินยาประจำตัวได้ตามปกติ
  • ไม่จำเป็นต้องกินยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ล่วงหน้า ให้กินเมื่อมีอาการปวดที่แขนข้างที่ฉีด ปวดศีรษะ หรือมีไข้หลังฉีดวัคซีนแล้วเท่านั้น เพื่อให้ไม่ยารบกวนการตอบสนองต่อวัคซีนของระบบภูมิคุ้มกัน
  • สังเกตตัวเองว่ามีอาการไม่สบาย มีไข้สูง ไอ มีน้ำมูก ภายใน 1-2 วันก่อนฉีดวัคซีนหรือไม่ หากพบว่าป่วยควรเลื่อนการวัคซีนไปอีกอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ เพื่อให้ฉีดวัคซีนแล้วระดับภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
  • ควรฉีดวัคซีนบริเวณแขนข้างที่ไม่ถนัด และสวมเสื้อแขนสั้นเพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการฉีดวัคซีน
  • การดูแลตัวเองหลังฉีดวัคซีน

    การดูแลตัวเองหลังฉีดวัคซีน อาจทำได้ดังนี้

    • นั่งรอที่จุดสังเกตอาการอย่างน้อย 15-30 นาที หากมีอาการผิดปกติ เช่น แขนบวมมาก ปวดศีรษะ วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที
    • หลังฉีดวัคซีน ควรหลีกเลี่ยงการยกของหนักหรือการใช้งานแขนข้างที่ฉีดวัคซีนมากเกินไป เพราะอาจทำให้อาการปวดบวมหายได้ช้าลง
    • หากฉีดวัคซีนแล้วมีอาการปวดบวมแขนข้างที่ฉีดวัคซีนหรือมีไข้ สามารถกินยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล ไอบูโพรเฟน ตามขนาดที่เหมาะสมหรือประมาณ 10-15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง หรือเมื่อมีอาการ เพื่อบรรเทาปวดได้ตามปกติ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา