backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ

1

ถามคุณหมอ
บันทึก

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับวิธีป้องกันและ วิธี รักษา ไข้หวัดใหญ่

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 24/03/2023

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับวิธีป้องกันและ วิธี รักษา ไข้หวัดใหญ่

องค์การอนามัยโลกชี้ว่า ประเทศในเขตร้อนชื้น เช่น ประเทศไทย สามารถพบโรคไข้หวัดใหญ่ได้ตลอดปี การเรียนรู้วิธีรับมือไข้หวัดใหญ่อย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็น วิธี รักษา ไข้หวัดใหญ่ รวมถึงวิธีป้องกันไข้หวัดใหญ่ จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะช่วยให้สามารถดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดไข้หวัดใหญ่ และภาวะแทรกซ้อนจากไข้หวัดใหญ่ได้เป็นอย่างไร

โรคไข้หวัดใหญ่ คืออะไร

ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza virus) ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ เช่น สายพันธุ์เอ สายพันธุ์บี โดยในประเทศไทยพบบ่อยในฤดูฝน ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่ได้รับเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซาจะป่วยเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ และอาการจะดีขึ้น แต่สำหรับบางคนอาการของโรคไข้หวัดใหญ่อาจนำไปสู่การติดเชื้อในปอดที่รุนแรงยิ่งขึ้น

อาการของการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่พบบ่อย มีดังนี้

  • มีไข้ปานกลางหรือมีไข้สูง
  • ไอแห้ง
  • ปวดศีรษะ
  • เจ็บคอ
  • น้ำมูกไหล
  • เบื่ออาหาร
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • อ่อนเพลีย

อีกหนึ่งโรคที่มีอาการคล้ายคลึงกับโรคไข้หวัดใหญ่ และมักเกิดจากเชื้อไวรัสเหมือนกัน คือ โรคไข้หวัดธรรมดา หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าไข้หวัด แต่ความแตกต่าง คือ อาการของไข้หวัดใหญ่มักจะเกิดขึ้นแบบฉับพลัน และทำให้ร่างกายอ่อนแอลงได้มากกว่า อาการไอแห้งและอาการอ่อนเพลียจากไข้หวัดใหญ่สามารถกินเวลาได้นาน 2-3 สัปดาห์ หากมีสัญญาณที่บ่งบอกว่าไข้หวัดใหญ่เริ่มรุนแรงขึ้น เช่น มีไข้สูง หนาวสั่น หายใจติดขัด ควรรีบไปพบคุณหมอโดยด่วน

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับวิธีป้องกันและ วิธี รักษา ไข้หวัดใหญ่

1. โรคไข้หวัดใหญ่ไม่ร้ายแรง ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ก็ได้

องค์การอนามัยโลกเผยว่า ที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ทั่วโลกในแต่ละปีสูงถึง 290,000-650,000 รายซึ่งนี่เป็นตัวเลขของผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ที่เสียชีวิตด้วยปัญหาในระบบทางเดินหายใจเท่านั้น ยังไม่รวมการเสียชีวิตจากอาการอื่น ๆ ของไข้หวัดใหญ่ คนส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่บางคนอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคไซนัสอักเสบ การติดเชื้อในหู โรคปอดอักเสบหรือปอดบวม โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โรคสมองอักเสบ ยิ่งหากเป็นผู้ที่ร่างกายอ่อนแอหรือระบบภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง เช่น ผู้สูงอายุ ความเสี่ยงในการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่และอาการแทรกซ้อนที่ร้ายแรงก็จะยิ่งสูงขึ้น

2. คนที่มีร่างกายแข็งแรง ไม่จำเป็นต้องได้รับวัคซีน

การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่นั้นสำคัญกับคนทุกเพศทุกวัย ไม่ใช่แค่ผู้ที่มีอาการป่วยเรื้อรังเท่านั้น คนที่มีร่างกายแข็งแรงดีก็ควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เช่นกัน โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกาแนะนำให้ทุกคนที่มีอายุ 6 เดือนขึ้นไป เข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เป็นประจำทุกปี เพื่อป้องกันการเป็นโรค โดยเฉพาะหากเป็นผู้สูงอายุหรือผู้หญิงตั้งครรภ์ยิ่งควรฉีดวัคซีน เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอกว่าปกติ โดยผู้เชี่ยวชาญรับรองแล้วว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตาย (inactivated flu vaccine) นั้นปลอดภัยต่อหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์

3. วัคซีนไข้หวัดใหญ่ สามารถทำให้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เป็นการฉีดเชื้อไวรัสชนิดเชื้อตาย (inactivated virus) ที่ไม่สามารถทำให้ติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซาได้ อย่างไรก็ตาม หลังฉีดวัคซีนอาจเกิดผลข้างเคียงได้ เช่น รู้สึกปวดบริเวณที่ฉีด มีไข้เล็กน้อย ซึ่งถือเป็นปฏิกิริยาปกติของระบบภูมิคุ้มกันต่อการฉีดวัคซีน และโดยทั่วไปจะมีอาการเพียง 1-2 วัน แต่หากมีอาการนานกว่านั้นหรือเกิดผลข้างเคียงรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลโดยเร็ว

4. วัคซีนไข้หวัดใหญ่ อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่นิยมใช้ ได้แก่ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าปลอดภัย และผลข้างเคียงที่รุนแรงนั้นเป็นกรณีที่หาได้ยากมาก โดยมี 1 ในล้านคนที่อาจจะเกิดกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร (Guillain-Barré Syndrome หรือ GBS) ซึ่งทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงและเป็นอัมพาต

5. วิธี รักษา ไข้หวัดใหญ่ คือ การใช้ยาปฏิชีวนะ

ยาปฏิชีวนะทำงานได้ดีในการต้านเชื้อแบคทีเรีย แต่ไม่มีประสิทธิภาพสำหรับการติดเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัดใหญ่ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา อย่างไรก็ดี ยาปฏิชีวนะอาจใช้ได้สำหรับโรคแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย จึงไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะมากินเอง เพราะนอกจากจะไม่ช่วยทำให้อาการของโรคไข้หวัดใหญ่ดีขึ้นแล้ว ยังอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้ ทั้งนี้ หากเป็นไข้หวัดใหญ่รุนแรง คุณหมออาจให้รับประทานยาต้านไวรัส เช่น ยาโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) เพื่อช่วยลดอาการของโรค ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อน และช่วยลดอัตราการเสียชีวิต

6. ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี

ไวรัสอินฟลูเอนซามีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา การฉีดวัคซีนทุกปีจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้แน่ใจว่าระบบภูมิคุ้มกันมีภูมิต้านทานต่อไวรัสสายพันธ์ุใหม่ ๆ ที่อาจก่อให้เกิดโรคได้

7. ถ้ารู้สึกสบายดี แปลว่าไม่สามารถแพร่เชื้อไข้หวัดใหญ่ได้

ในความเป็นจริงผู้ที่มีเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซาประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีอาการใด ๆ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่สามารถแพร่เชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ ดังนั้น หากป่วยหรือมีอาการของไข้หวัดใหญ่ ควรพักผ่อนอยู่ที่บ้าน หลีกเลี่ยงการออกไปที่สาธารณะ สวมหน้ากากอนามัย และงดใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ ช้อน ผ้าเช็ดตัว เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 24/03/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา