พังผืดในปอด หมายถึง แผลเป็นภายในปอดที่เริ่มแข็งตัวขึ้นจนก่อให้เกิดพังผืด โดยอาจมีระดับความรุนแรงของอาการต่างกันตามแต่ละบุคคล หากพบว่า มีอาการหายใจถี่อย่างรุนแรงเป็นเวลาหลายวัน ควรรีบเข้ารับการรักษาก่อนระบบทางเดินหายใจเสียหาย
คำจำกัดความ
พังผืดในปอด คืออะไร
พังผืดในปอด คือ โรคปอดที่เกิดขึ้นเมื่อเนื้อเยื่อของปอดได้รับความเสียหาย จนเกิดแผลภายในปอด หากปล่อยทิ้งเนื้อเยื่อโดยรอบอาจเริ่มแข็งตัวเป็นพังผืด ซึ่งอาจส่งผลให้ปอดมีขนาดเล็กลง นำไปสู่อาการหายใจลำบาก และทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนน้อยลง
อาการ
อาการของพังผืดในปอด
อาการของพังผืดในปอดที่พบได้บ่อย มีดังนี้
- หายใจลำบาก หายใจตื้น โดยเฉพาะขณะทำกิจกรรม หรือใช้แรงมาก
- ไอแห้งเรื้อรัง ไม่มีเสมหะ
- เหนื่อยล้า อ่อนแรง ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ และข้อต่อ
- ความอยากอาหารลดลง เบื่ออาหาร
- น้ำหนักลดลง
- นิ้วปุ้ม หรืออาการปลายนิ้วมือนิ้วเท้าขยายตัวออกจนมีลักษณะคล้ายไม้กระบอง
สาเหตุ
สาเหตุของ พังผืดในปอด
สาเหตุที่ทำให้เกิดแผลในปอด จนกลายเป็นพังผืด อาจมาจากโรคเรื้อรังต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
- โรคลูปัส หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง
- โรคปอดบวม
- กล้ามเนื้ออักเสบ
- โรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพันแบบผสม (Mixed connective tissue disease)
- โรคซาร์คอยโดซิส
- โรคผิวหนังแข็งเฉพาะที่
- มลภาวะทางอากาศ
- การรักษาโรคด้วยรังสี และยาบางชนิด
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของพังผืดในปอด
ปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลให้เกิดพังผืดภายในปอด อาจมีดังต่อไปนี้
- ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่นละออง ฝุ่นจากโลหะ สารซิลิกอน แร่ใยหิน ละอองจากถ่านหิน มูลสัตว์
- ผลจากการรักษาโรคด้วยรังสีและยา เช่น เคมีบำบัด ยากำจัดเซลล์มะเร็ง ยารักษาโรคหัวใจ ยาต้านการอักเสบ ยาปฏิชีวนะบางชนิด
- ปัจจัยเสี่ยงเรื่องการสูบบุหรี่ และอาชีพที่พบสารเคมีเป็นประจำ
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยพังผืดในปอด
คุณหมออาจซักถามประวัติเกี่ยวกับโรคประจำตัว และอาการที่เป็น จากนั้นก็อาจตรวจการทำงานของปอดขณะหายใจโดยใช้อุปกรณ์ การฟังเสียงทางการแพทย์ และอาจทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีเหล่านี้
- เอกซเรย์ทรวงอก เพื่อเช็กความผิดปกติภายในปอด ว่ามีเนื้อเยื่อส่วนใดที่เป็นแผลหรือไม่
- การตรวจเอกซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์ (CT Scan) สร้างภาพตัดขวางของโครงสร้างภายในปอดที่มีความละเอียดสูง ทำให้สามารถตรวจเช็กความเสียหายของปอดที่เกิดจากพังผืดได้
- ทดสอบการทำงานของปอด การทดสอบอาจแตกต่างกันออกไปตามที่คุณหมอเห็นสมควร เช่น การหายใจอออกผ่านท่อที่เชื่อมกับเครื่องวัดปริมาณอากาศว่าปิดมีการกักเก็บอากาศภายในได้ดีเพียงใด
- การวัดความอิ่มตัวของออกซิเจนจากชีพจร โดยใช้เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว
- ตรวจออกซิเจนในเลือด โดยการเก็บตัวอย่างเลือด เพื่อตรวจเช็กระดับออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์
- การสอดกล้องหลอดลม เพื่อเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อปอดไปตรวจเพื่อคัดกรองโรคที่อาจเป็นสาเหตุของพังผืดในปอด
การรักษาพังผืดในปอด
เนื่องจากพังผืดในปอดเกิดจากแผลเป็นจึงไม่สามารถรักษาให้กลับไปเป็นเหมือนเดิมได้ การรักษาอาจมุ่งเน้นเพื่อบรรเทาอาการให้ดี และชะลอการลุกลามของโรค ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- ยา คุณหมออาจให้ยาเพอร์เฟนิโด (Pirfenidone) และยานินเทดานิบ (Nintedanib) ที่อาจสามารถช่วยชะลอการลุกลามของพังผืดในปอดได้
- การบำบัดด้วยออกซิเจน การบำบัดด้วยออกซิเจนอาจสามารถ อาจช่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากระดับออกซิเจนในเลือดต่ำ ลดความดันโลหิตที่หัวใจด้านขวา และทำให้การหายใจดีขึ้นได้
- ฟื้นฟูสมรรถภาพปอด การปรับปรุงการทำงานของปอดอาจเริ่มจากโปรแกรมการออกกำลังกาย เทคนิคการหายใจ และโภชนาการอย่างเหมาะสมตามที่คุณหมอประเมินจากอาการ
- ปลูกถ่ายปอด เพื่อเปลี่ยนเป็นปอดใหม่ที่มีสุขภาพดี วิธีนี้ช่วยส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี และยืนยาวขึ้น อย่างไรก็ตามวิธีนี้อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น การติดเชื้อ ร่างกายปฏิเสธอวัยวะใหม่
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกัน พังผืดในปอด
นอกจากการรักษาด้วยวิธีของทางการแพทย์ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวัน เพื่อใช้ชีวิตร่วมกับอาการของพังผืดในปอดย่อมเป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน
- เลิกสูบบุหรี่
- รับประทานอาหารที่มีคุณค่าโภชนาการ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด ผลิตภัณฑ์จากนมที่มีไขมันต่ำ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน
- ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม พักผ่อนให้เพียงพอ
- รับการฉีดวัคซีนให้ครบตามกำหนด
- เข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ