Pneumonia คือ โรคปอดอักเสบ หรือโรคปอดบวม เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย รา หรือไวรัสที่ถุงลม ซึ่งอาจเกิดขึ้นที่ปอดข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง 2 ข้างก็ได้ โดยปอดของผู้ติดเชื้อมักมีของเหลวหรือหนอง ทำให้หายใจลำบาก ไอ และมีไข้ ทั้งนี้ โรคปอดอักเสบอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นทารก คนชรา หรือมีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
อาการ
อาการของ Pneumonia
โรคปอดอักเสบมักแสดงอาการอย่างรวดเร็วในช่วง 24 ถึง 48 ชั่วโมงหลังจากการติดเชื้อ หรืออาจแสดงหลังจากการติดเชื้อหลายวัน โดยอาการที่พบบ่อย มีดังนี้
- ไอแห้งหรือไอมีเสมหะ
- เจ็บหน้าอก
- หายใจลำบาก
- หัวใจเต้นแรง
- ไข้สูง
- ไม่อยากอาหาร
- เหงื่อออกมากและตัวสั่น
นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ โดยเฉพาะเด็ก คนชรา หรือผู้ป่วยที่มีโรคอยู่ก่อนแล้ว เช่น เบาหวาน อาจพบอาการแทรกซ้อนดังต่อไปนี้
- เยื่อหุ้มปอดอักเสบ (Pleuritis) หรือ การอักเสบของเนื้อเยื่อที่หุ้มรอบปอดทั้ง 2 ข้าง โดยผู้ป่วยจะเจ็บหน้าอก อาการอาจแย่ลงเมื่อหายใจ ไอ หรือจาม นอกจากนี้ อาการเยื่อหุ้มปอดอักเสบยังอาจนำไปสู่ภาวะการหายใจล้มเหลวได้
- ฝีในปอด (Lung Abscess) เป็นอาการที่พบได้ยาก มักพบในผู้ป่วยซึ่งป่วยเป็นโรคอื่นก่อนแล้ว หรือผู้มีประวัติโรคพิษสุราเรื้อรัง
- ภาวะเลือดมีแบคทีเรีย (Bacteremia) หรือโลหิตเป็นพิษ เนื่องจากมีแบคทีเรียในเลือด โดยปกติ ในเลือดของมนุษย์จะไม่มีแบคทีเรียเจือปน หากมีแบคทีเรียในเลือด อาจเกิดได้จากชีวิตประจำวัน เช่น การแปรงฟันอย่างรุนแรง หรือการเข้ารับการรักษาโรค รวมทั้งอาจเกิดได้จากการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ หรือแผลติดเชื้อ รวมทั้งจากโรคปอดอักเสบ
สาเหตุ
สาเหตุของ Pneumonia
โรคปอดอักเสบเกิดจากสาเหตุ ดังนี้
- แบคทีเรีย แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคปอดอักเสบที่พบบ่อย คือ Streptococcus Pneumoniae ซึ่งอาจเกิดขึ้นเองหรือเกิดจากการเป็นหวัด แบคทีเรียชนิดนี้ ทำให้เกิดโรคปอดอักเสบ หรือการติดเชื้อแบคทีเรียที่กลีบของปอดได้
- เชื้อรา เป็นสาเหตุหลักของโรคปอดอักเสบในผู้มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอหรือป่วยเป็นโรคเรื้อรัง โดยการสูดดมเชื้อราซึ่งอาจปนเปื้อนอยู่ในดิน มูลนก และสภาพแวดล้อมรอบ ๆ ตัว
- ไวรัส เป็นสาเหตุหลักของโรคปอดอักเสบในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ โดยไวรัส SARS-CoV-2 ต้นเหตุของโรคโควิด-19 ก็สามารถทำให้เกิดโรคปอดอักเสบได้เช่นกัน และผู้ป่วยโควิด-19 มีแนวโน้มสูงที่จะป่วยเป็นโรคปอดอักเสบ ทั้งนี้ ไวรัสซึ่งทำให้เกิดโรคหวัด ทำให้เกิดโรคปอดอักเสบได้เช่นกัน
นอกจากสาเหตุหลักทั้ง 3 ที่กล่าวมา โรคปอดอักเสบยังเกิดได้จากการสำลักอาหาร น้ำ อาเจียน หรือน้ำลาย ซึ่งเรียกว่า โรคปอดอักเสบจากการสำลัก (Aspiration Pneumonia) โรคปอดอักเสบประเภทนี้ มีแนวโน้มเกิดในคนที่มีปัญหาเกี่ยวการไอ โดยหากไม่สามารถไอเอาสิ่งที่หลุดเข้าไปในปอดออกมาได้ เชื้อแบคทีเรียก็จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นในปอด
เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ
เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ
ควรไปพบคุณหมอเมื่อพบอาการต้องสงสัยของโรคปอดอักเสบ เช่น ไอ ไข้สูง หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก
หากบุคคลในกลุ่มเสี่ยงมีอาการที่เข้าข่ายเป็นโรคปอดอักเสบ ควรรีบไปหาคุณหมอทันที เพราะอาจมีอาการของโรคที่รุนแรงกว่าปกติ หรืออันตรายถึงชีวิต โดยกลุ่มเสี่ยงประกอบด้วย
- เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี
- ผู้ใหญ่อายุ 65 ปี ขึ้นไป
- บุคคลซึ่งมีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน เช่น ผู้ป่วยเอชไอวี หรือผู้ที่ผ่านการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ
- บุคคลที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง เช่น หอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจ
- บุคคลที่สูบบุหรี่ เพราะสารในบุหรี่อาจไปทำลายระบบในร่างกายที่จะต่อสู้กับแบคทีเรียหรือเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของโรคปอดอักเสบ
ในกรณีที่มีอาการต้องสงสัยของโรคปอดอักเสบ และสูญเสียความสามารถในการรับรสและดมกลิ่นร่วมด้วย อาจเป็นไปได้ว่า กำลังติดเชื้อโควิด-19 ควรเข้ารับการตรวจเชื้อและทำการรักษาทันที
การวินิจฉัยและการรักษาโรค
การวินิจฉัย Pneumonia
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ในการวินิจฉัยโรคปอดอักเสบ คุณหมอจะเริ่มสอบถามเกี่ยวกับอาการของคนไข้ ตามด้วยประวัติการเจ็บป่วย และการสูบบุหรี่ จากนั้นคุณหมอจะตรวจปอดด้วยการฟังเสียง หากเป็นโรคปอดอักเสบมักได้ยินเสียงครืดคราดเมื่อหายใจเข้า
นอกจากนี้ คุณหมออาจขอตรวจเพิ่มเพื่อยืนยันว่าคนไข้เป็นโรคปอดอักเสบ ด้วยวิธีการดังนี้
- ตรวจเลือด เพื่อหาสัญญาณของการติดเชื้อจากแบคทีเรีย
- เอกซเรย์หน้าอก เพื่อมองหาการติดเชื้อบริเวณปอด และการกระจายตัวของโรค
- วัดออกซิเจนในเลือด เพื่อตรวจระดับออกซิเจนในเลือด เนื่องจากหากป่วยเป็นโรคปอดอักเสบ ปอดจะไม่สามารถทำหน้าที่กระจายออกซิเจนสู่กระแสเลือดได้อย่างเพียงพอ
- ตรวจเสมหะ เพื่อหาสาเหตุของการติดเชื้อว่าเป็นแบคทีเรียหรือเชื้อรา
- ตรวจของเหลวในเยื่อหุ้มปอด (Pleural Fluid Culture) เป็นอีกวิธีหนึ่งในการหาสาเหตุการติดเชื้อ โดยเจาะเอาของเหลวจากช่องเยื่อหุ้มปอดเอาออกมาตรวจวิเคราะห์
การรักษา Pneumonia
โรคปอดอักเสบรักษาได้ โดยเน้นการรักษาอาการติดเชื้อและป้องกันโรคแทรกซ้อน โดยทั่วไป คุณหมอมักอนุญาตให้คนไข้กลับบ้านไปพักผ่อน พร้อมกับจ่ายยารักษาโรคพื้นฐานให้ เช่น ยาฆ่าเชื้อ ยาแก้ไอ ยาลดไข้ ซึ่งมักหายภายใน 2-3 วัน หรืออาจเป็นสัปดาห์ ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ป่วยแต่ละคน แต่หากคนไข้ป่วยเป็นโรคปอดอักเสบเนื่องจากโควิด-19 คุณหมอจะรักษาด้วยยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir)
อย่างไรก็ตาม คุณหมออาจให้คนไข้นอนโรงพยาบาลเพื่อรักษาตัว ในกรณีดังนี้
- อายุน้อยกว่า 2 ปี หรืออายุมากกว่า 65 ปี
- สมองมีอาการสับสนเกี่ยวกับเวลา สถานที่ หรือผู้คน
- การทำงานของไตอยู่ในเกณฑ์ผิดปกติ
- ความดันช่วงหัวใจบีบตัวต่ำกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท
- ความดันช่วงหัวใจคลายตัวเท่ากับหรือต่ำกว่า 60 มิลลิเมตรปรอท
- หายใจเร็วตั้งแต่ 30 ครั้งต่อนาที เพราะโดยปกติคนเราหายใจอยู่ที่ 20-26 ครั้งต่อนาที
- ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
- มีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำ
- อัตราการเต้นของหัวใจเต้นต่ำกว่า 50 ครั้งต่อนาที หรือมากกว่า 100 ครั้งต่อนาที
การปรับพฤติกรรมและดูแลตัวเอง
เพื่อลดโอกาสป่วยด้วยโรคปอดอักเสบ ควรปรับพฤติกรรมดังนี้
- ล้างมือสม่ำเสมอ ด้วยวิธีการล้างมือ 7 ขั้นตอนเพื่อลดความเสี่ยงในการนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย
- งดสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่ทำให้ปอดเสียหาย และในเวลาเดียวกัน เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อเพราะสารนิโคตินทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ
- ดื่มแอลกอฮอล์ให้น้อยลง ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากและเป็นประจำทุกวัน มีผลทำให้ระบบป้องกันโรคของปอดทำงานแย่ลง จึงควรลดปริมาณและความถี่ในการดื่มลง
- รักษาสุขภาพให้ระบบภูมิคุ้มกันมีประสิทธิภาพ ด้วยการออกกำลังกาย เลือกบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย รวมถึงนอนหลับให้เพียงพอ
- ฉีดวัคซีน วัคซีนสามารถป้องกันโรคปอดอักเสบได้ในบางกรณี เช่น การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 หรือโรคนิวโมคอคคัล (Pneumococcal Disease) อันเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคปอดอักเสบ