โรคไข้หวัดใหญ่ คือโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ที่ส่งผลให้มีอาการเป็นไข้สูง ไอ และอ่อนเพลีย คล้ายกับอาการของโรคไข้หวัดธรรมดา แต่อาจมีอาการรุนแรงกว่า อีกทั้งยังอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ปอดบวม หลอดลมอักเสบ หายใจลำบากเฉียบพลัน ดังนั้น ควรศึกษาความแตกต่างระหว่างไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดธรรมดา และควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างรวดเร็ว เมื่อรู้สึกเหมือนไม่สบายและมีไข้สูง
[embed-health-tool-bmr]
โรคไข้หวัดใหญ่ คืออะไร
โรคไข้หวัดใหญ่ คือ โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza) ที่แพร่กระจายผ่านสารคัดหลั่งเช่น น้ำมูก น้ำลาย จากการไอและจาม หรือการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น หลอด แก้วน้ำ ช้อนส้อม ผ้าเช็ดหน้า นอกจากนี้ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ก็อาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ได้ง่ายกว่าปกติอีกด้วย
เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่แบ่งออกเป็น 4 สายพันธุ์ ดังนี้
- ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ (Influenza A) เป็นสายพันธุ์ที่พบได้บ่อยและมีความรุนแรงมากที่สุด สามารถแพร่เชื้อสู่คนและสัตว์ โดยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอยังแบ่งย่อยได้อีก 2 ชนิด คือ A (H1N1) และ A (H3N2)
- ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์บี (Influenza B) เป็นสายพันธุ์ที่แพร่เชื้อสู่คนเพียงเท่านั้นและมีความรุนแรงน้อยกว่าไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ โดยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์บียังแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ คือ Yamagata และ Victoria
- ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ซี (Influenza C) เป็นสายพันธุ์ที่พบได้ในคนแต่ไม่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาด อีกทั้งยังมีความรุนแรงน้อยกว่าไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอและสายพันธุ์บี
- ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ดี (Influenza D) เป็นสายพันธุ์ที่ไม่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดในคน โดยจะแพร่เชื้อสู่สัตว์เพียงเท่านั้น
ไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ เป็นประจำทุกปี เพื่อช่วยกระตุ้นภู้มคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรงและสามารถรับมือกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้
โรคไข้หวัดใหญ่ และไข้หวัด แตกต่างกันอย่างไร
ไข้หวัดใหญ่และไข้หวัด เป็นโรคติดเชื้อไวรัสในทางเดินระบบหายใจที่อาจได้รับเชื้อผ่านสารคัดหลั่งจากการไอและจาม หรือการใช้สิ่งของร่วมกันเหมือนกัน แต่แตกต่างที่ไข้หวัดใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสฟลูเอนซา ส่วนไข้หวัดธรรมดามักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสไรโนไวรัส (Rhinovirus) อีกทั้งยังมีอาการที่แตกต่างกันดังนี้
- โรคไข้หวัดใหญ่อาจส่งผลให้มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส ในขณะที่ไข้หวัดธรรมดาอาจทำให้มีไข้ต่ำหรือบางคนอาจไม่มีไข้เลย
- อาการไข้หวัดธรรมดามักไม่มีอาการปวดศีรษะ แต่ไข้หวัดใหญ่มักส่งผลให้มีอาการปวดศีรษะบ่อยครั้ง
- โรคไข้หวัดใหญ่อาจไม่ทำให้มีน้ำมูกมาก แต่โรคไข้หวัดธรรมดามักส่งผลให้มีน้ำมูกและคัดจมูก
- โรคไข้หวัดใหญ่อาจมีอาการไอที่รุนแรงและเรื้อรัง ส่วนโรคไข้หวัดธรรมดามักจะมีอาการไอเล็กน้อย
- โรคไข้หวัดใหญ่มักส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกเหนื่อยง่าย เมื่อยล้า อ่อนแรง และปวดกล้ามเนื้อมากกว่าไข้หวัดธรรมดา
อย่างไรก็ตาม หากอาการดังกล่าวมีอาการแย่ลง หรือมีอาการนานกว่า 7-10 วัน หลังจากรับประทานยาลดไข้แล้ว ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างรวดเร็ว เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคปอดบวม โรคปอดอักเสบ โรคหอบหืด การติดเชื้อที่หูชั้นกลางเฉียบพลัน โรคไซนัสอักเสบ โรคหลอดลมอักเสบ การติดเชื้อที่หัวใจ หายใจลำบากเฉียบพลัน ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้
การรักษาโรคไข้หวัดใหญ่
การรักษาไข้หวัดใหญ่ อาจทำได้ดังนี้
- ดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อป้องกันภาวะร่างกายขาดน้ำ โดยควรเลือกเป็นน้ำเปล่าอุณหภูมิห้องหรือน้ำอุ่น
- พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันสามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้อย่างเต็มที่
- ยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol)
- ยาแก้ไอ เพื่อช่วยบรรเทาอาการไอ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของเภสัชกรหรือข้อมูลที่ระบุไว้บนฉลากยา โดยเฉพาะเมื่อใช้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงร้ายแรงหรือได้รับยาเกินขนาด ที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้
- ยาลดน้ำมูก ใช้เพื่อลดน้ำมูกและอาการคัดจมูก เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการน้ำมูกไหล หายใจลำบาก สำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาลดน้ำมูกในรูปแบบสเปรย์พ่น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากแพทย์
- ยาซานามิเวียร์ (Zanamivir) ใช้เพื่อรักษาอาการที่เกิดจากไวรัสไข้หวัดใหญ่และช่วยลดไข้ บรรเทาอาการคัดจมูก เจ็บคอ อาการหนาวสั่น และอาการปวดเมื่อย โดยควรใช้วันละ 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกันประมาณ 12 ชั่วโมง เป็นเวลา 5 วัน
- ยาเพอรามิเวียร์ (Peramivir) เป็นยาในรูปแบบฉีดเข้าทางหลอดเลือด เพื่อช่วยรักษาอาการที่เกิดจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ เช่น อาการไอ เจ็บคอ คัดจมูก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และอาจช่วยลดไข้ โดยขนาดยาอาจขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์
- ยาโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) เป็นยาในรูปแบบรับประทาน เพื่อช่วยหยุดการเจริญเติบโตของไวรัสและช่วยบรรเทาอาการของโรคไข้หวัดใหญ่ เช่น อาการไอ เจ็บคอ หนาวสั่น คัดจมูก ปวดเมื่อย โดยอาจให้รับประทานยาพร้อมอาหารเพื่อป้องกันอาการปวดท้อง วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน หรือตามที่แพทย์แนะนำ เพื่อให้ยามีประสิทธิภาพสูงสุดควรรับประทานยานี้ภายใน 2 วัน หลังจากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไข้หวัดใหญ่
การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่
การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ อาจทำได้ดังนี้
- ควรล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ อย่างน้อย 20 วินาที เพื่อกำจัดเชื้อโรคและสิ่งสกปรกบนมือ
- สวมใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด เช่น ร้านอาหาร โรงยิม โรงเรียน สำนักงาน
- ควรปิดปากขณะไอและจามด้วยทิชชูหรือผ้าเช็ดหน้า หรือหันหน้าเข้าหาข้อพับแขนตนเอง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัสผ่านละอองสารคัดหลั่งไปยังบุคคลอื่น
- ทำความสะอาดของใช้ภายในบ้านเป็นประจำ โดยเฉพาะสิ่งของจำเป็นต้องสัมผัสบ่อย ๆ เช่น โทรศัพท์ สวิตช์ไฟ โซฟา ผ้าปูที่นอน หมอน ลูกบิดประตู
- ไม่ควรใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น หลอด แก้วน้ำ ช้อนส้อม จาน ผ้าเช็ดหน้า เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่
- รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับเชื้อไวรัสที่อาจส่งผลให้เป็นโรคไข้หวัดใหญ่
- ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ เป็นประจำทุกปี โดยสามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป หรือตามที่แพทย์แนะนำ
- ตรวจสุขภาพประจำปี