backup og meta

มะเร็งเต้านมกับทางเลือกรักษาที่ไม่ต้องตัดเต้า

มะเร็งเต้านมกับทางเลือกรักษาที่ไม่ต้องตัดเต้า

การมีเต้านมถือเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงออกถึงความเป็นผู้หญิง สร้างความมั่นใจและความสวยงามให้กับสรีระของผู้หญิง แต่เต้านมก็สร้างปัญหาให้กับผู้หญิงได้เช่นกัน นั่นคือการเกิดโรคมะเร็งเต้านมนั่นเอง ซึ่งความเสี่ยงในผู้หญิงสูงกว่าในผู้ชาย ถึง 100 เท่า

มะเร็งเต้านม เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้หญิงทั่วโลก และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้หญิงเป็นอันดับต้น ๆ มะเร็งเต้านมเกิดจากความผิดปกติของการแบ่งตัวของเซลล์ภายในเต้านม โดยเซลล์ที่ผิดปกตินั้นจะแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว จนเกิดเป็นก้อนขึ้นมาบริเวณเต้านม หากไม่ได้รับการรักษา เซลล์มะเร็งนี้อาจแพร่กระจายไปยังบริเวณข้างเคียงอย่างต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ หรืออวัยวะอื่นได้ทั่วร่างกาย เช่น ปอด กระดูก หรือตับ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่รู้สึกเจ็บ หรือไม่รู้สึกถึงความผิดปกติ ทำให้กว่าจะมาพบแพทย์ อาจเป็นระยะที่ก้อนใหญ่จนสามารถคลำเจอได้ง่าย หรือเต้านมมีลักษณะที่ผิดปกติไปแล้ว

มะเร็งเต้านม หากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มต้น สามารถรักษาได้ โดยมีเป้าหมายเพื่อการหายขาดจากโรค คือ ไม่มีก้อนหรือเซลล์มะเร็งหลงเหลืออยู่ในร่างกาย และป้องกันไม่ให้ก้อนมะเร็งนั้นลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าการกำจัดก้อนหรือเซลล์มะเร็งให้หมดไป จำเป็นจะต้องผ่าตัดเต้านมออกเท่านั้น แต่ที่จริงแล้ว ในปัจจุบัน มีวิธีการรักษามะเร็งเต้านมอยู่หลายวิธี ขึ้นอยู่กับระยะของโรค ขนาดของก้อนมะเร็ง ชนิดของมะเร็ง อาการของผู้ป่วย ปัจจัยอื่น ๆ รวมถึงดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา ข้อมูลที่มีการตีพิมพ์แสดงให้เห็นว่า การวางแผนการรักษาด้วยยาควบคู่กับการผ่าตัด โดยอาจให้ยาก่อน และ/หรือ หลังการผ่าตัดนั้น จะช่วยให้เพิ่มโอกาสในการเก็บเต้านมได้ถึงประมาณ 60% ดังนั้นการรักษามะเร็งเต้านมจึงไม่จำเป็นต้องตัดเต้านมออกเสมอไป

การผ่าตัดแบบสงวนเต้านม (Breast conservation surgery)

คือ การตัดเนื้องอกออก หรือ ตัดเต้านมส่วนที่เป็นมะเร็งออกเท่านั้น โดยเก็บโครงสร้างเต้านมของคนไข้ไว้ วิธีนี้นอกจากเป็นการกำจัดมะเร็งออกแล้ว ยังเป็นการรักษาสภาพจิตใจของผู้ป่วยด้วย การสำรวจทางการแพทย์พบว่า การตัดเต้านมออกทั้งหมด ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยหลายด้าน ทั้งด้านร่างกาย บุคลิกภาพ การใช้ชีวิต รวมทั้งผลกระทบด้านจิตใจ ขาดความมั่นใจในการเข้าสังคมหรือการใช้ชีวิตคู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในผู้ป่วยอายุน้อยซึ่งข้อมูลสถิติมีแนวโน้มพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมวัย 20-30 ปีสูงมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนการผ่าตัดแบบสงวนเต้านมในประเทศไทยยังมีไม่มากนัก เปรียบเทียบกับข้อมูลในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมของประเทศตะวันตก ที่ได้รับการผ่าตัดแบบสงวนเต้านมมากถึง 2 ใน 3 ของจำนวนผู้ป่วย แต่เนื่องจากปัจจุบันมีการพัฒนาตัวยาที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น การให้ยาดังกล่าวก่อนการผ่าตัด จะช่วยทำให้ก้อนมะเร็งลดขนาดลง เพิ่มโอกาสการผ่าตัดแบบสงวนเต้านมให้กับคนไข้ได้มากขึ้น อีกทั้งมีการศึกษาผลการรักษาแบบผ่าตัดสงวนเต้าร่วมกับการรักษาวิธีอื่นในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในไทย ก็พบว่ามีอัตราการรอดชีวิตอยู่ในเกณฑ์สูง อัตราการกลับมาเป็นซ้ำของโรคอยู่ในเกณฑ์ต่ำ และให้ผลด้านความสวยงามของเต้านมกับผู้ป่วยเป็นที่น่าพอใจ

การรักษามะเร็งเต้านมวิธีอื่นที่สามารถให้ร่วมกับการผ่าตัด ได้แก่

การรักษาโดยการฉายแสง หรือรังสีรักษา (Radiotherapy)

การฉายแสงคือการใช้รังสีเพื่อทำให้เซลล์หยุดการเจริญ และหยุดการแบ่งตัว วิธีการฉายแสงนี้จะมีผลกับทั้งเซลล์ปกติและเซลล์มะเร็ง แต่เนื่องจากเซลล์ปกตินั้นสามารถเจริญเป็นเซลล์ใหม่ขึ้นทดแทนได้ จึงไม่มีผลกับอวัยวะหรือการทำงานของร่างกาย แต่เซลล์มะเร็งนั้น เมื่อถูกหยุดการเจริญและไม่สามารถแบ่งตัวต่อไปได้ จึงทำให้เซลล์มะเร็งค่อย ๆ หายไป ก้อนมะเร็งนั้นก็จะค่อย ๆ ยุบลงด้วย

การรักษาโดยการใช้ยาต้านฮอร์โมน (Hormonal therapy)

การรักษาด้วยวิธีนี้จะเป็นการใช้ยาต้านฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) หากตรวจพบว่ามะเร็งเต้านมนั้น ตอบสนองต่อฮอร์โมน คือ จะเติบโตขึ้น เมื่อได้รับการกระตุ้นจากฮอร์โมน การรักษาโดยการลดปริมาณฮอร์โมนในร่างกายลง หรือ ใช้ยาที่เข้าไปขัดขวางการส่งสัญญาณของฮอร์โมนที่เซลล์มะเร็ง เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง โดยทั่ว ๆ ไปแล้วการรักษาด้วยวิธีฮอร์โมนจะได้ผลดีในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ตรวจพบว่า เป็นเซลล์ที่มีตัวรับสัญญาณฮอร์โมนอยู่ในเซลล์ ซึ่งพบได้ประมาณ  60 – 70% ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั้งหมด

การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด (Chemotherapy)

เป็นการให้ยาเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง ทำให้เซลล์มะเร็งหยุดการเจริญเติบโต ยาเคมีบำบัดมีหลายสูตร ทั้งที่เป็นยารับประทานและยาฉีด และอาจเป็นยาหลายตัวผสมกันเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษา แต่การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดจะมีผลข้างเคียงคือ ยาสามารถทำลายได้ทั้งเซลล์มะเร็งและเซลล์ปกติ ดังนั้นผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธีนี้อาจมีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก เช่น ผมร่วง ติดเชื้อง่าย เกิดแผลในปาก เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียนได้ แต่อาการเหล่านี้จะหายเป็นปกติได้ เมื่อหยุดให้ยาเคมีบำบัด

การรักษาแบบพุ่งเป้า (Targeted Therapy)

คือ การรักษาที่มุ่งหวังให้ตัวยาไปทำลายเซลล์มะเร็งอย่างจำเพาะเจาะจง โดยอาศัยการศึกษาหาสาเหตุของมะเร็งว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร มีความผิดปกติตรงไหนในระดับเซลล์ และพัฒนายาขึ้นเพื่อตอบสนองหรือขัดขวางกระบวนการที่ทำให้เกิดเซลล์มะเร็งเหล่านั้นขึ้นมา

ตัวอย่างเช่น ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมบางรายอาจตรวจพบ ตัวรับเฮอร์ทู (HER-2 receptor) ในจำนวนที่มากผิดปกติบนผิวเซลล์มะเร็ง การรักษาแบบพุ่งไปที่การยับยั้งตัวรับเฮอร์ทู จะเข้าไปยับยั้งการเจริญเติบโต ลดการแพร่กระจาย และอาจทำลายเซลล์มะเร็งได้ดีกว่าการรักษาด้วยวิธีอื่น ซึ่งยานี้จะมีผลต่อเซลล์ที่มีตัวรับดังกล่าวเท่านั้น ไม่มีผลกระทบหรือผลกระทบน้อยต่อเซลล์ปกติอื่น ๆ ดังนั้นจึงให้ประสิทธิภาพที่ดี และเจาะจงมากกว่า ในขณะที่ผลข้างเคียงจากยาน้อยกว่า แต่ผู้ป่วยที่จะรักษาด้วยวิธีนี้ได้ก็ต้องเป็นผู้ป่วยที่มีตัวรับสัญญาณดังกล่าวบนผิวเซลล์เท่านั้น

ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ทราสทูซูแมบ (Trastuzumab) และเพอร์ทูซูแมบ (Pertuzumab) ลาพาตินิบ (Lapatinib) และ ทีดีเอ็มวัน (T-DM1) ซึ่งเป็นตัวใหม่ในกลุ่มยาต้านเฮอร์ทู ประกอบขึ้นด้วยทราสทูซูแมบและยาเคมีบำบัด เป็นรูปแบบยาฉีด จะออกฤทธิ์ทำลายมะเร็งเมื่อตัวยาเข้าไปจนถึงเซลล์มะเร็งแล้ว ดังนั้นจึงเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งเต้านมได้มากขึ้น

ปัจจุบัน การรักษาแบบพุ่งเป้า ถือเป็นทางเลือกใหม่ที่ให้ผลการรักษาที่ดี โดยเฉพาะกับกลุ่มคนไข้มะเร็งเต้านมชนิดที่ติดตัวรับ HER2 (HER2 Positive Breast Cancer) ซึ่งเป็นชนิดที่รุนแรง และอาจแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกายได้ง่าย การรักษาจึงเน้นไปที่การใช้ ยาต้านเฮอร์ทู (HER2) ทั้งนี้ ประเทศไทยอยู่ในระหว่างการผลักดันทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมกลุ่ม HER2 Positive สามารถเข้าถึงการรักษาทางเลือกใหม่นี้ได้กว้างขวางขึ้น

การรักษาแบบพุ่งเป้า อีกตัวอย่างหนึ่ง ได้แก่ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ติดตัวรับทางฮอร์โมน จะเป็นการรักษาแบบพุ่งเป้า ที่เน้นการจับกับตัวรับฮอร์โมนเพื่อยับยั้งสัญญาณที่เกี่ยวข้องกับวงจรการแบ่งตัวของเซลล์ และช่วยให้ก้อนมะเร็งยุบลงได้ ซึ่งยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ พาลโบไซคลิบ (Palbociclib) ไรโบไซคลิบ (Ribociclib) และ อะมีบาไซคลิบ (Abemaciclib)

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่า การรักษามะเร็งเต้านมนั้นมีหลากหลายวิธีที่ไม่ใช่การผ่าตัดเต้านมออก หากเราตรวจพบก่อน เริ่มรักษาได้เร็วโอกาสที่จะหายขาดจาดโรคมะเร็งได้ก็ยิ่งมีมากขึ้น ดังนั้นสิ่งสำคัญของผู้หญิงอย่างเรา ๆ ก็คือการตรวจสุขภาพประจำปี และหมั่นสังเกตเต้านมตัวเองเป็นประจำ หากตรวจพบความผิดปกติ ให้รีบปรึกษาแพทย์ผู้ทำการรักษาเพื่อหาแนวทางวิธีการรักษาที่ดีเหมาะสมที่สุดร่วมกัน

 

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

เวอร์ชันปัจจุบัน

26/08/2021

เขียนโดย Jittraporn Pichaikarn

อัปเดตโดย: Jittraporn Pichaikarn


บทความที่เกี่ยวข้อง

ไขข้อข้องใจทำไมต้องรีบ ตรวจเต้านม

มาทำความเข้าใจ ระยะมะเร็งเต้านม ที่ทุกคนควรรู้



เขียนโดย Jittraporn Pichaikarn · แก้ไขล่าสุด 26/08/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา