ปัสสาวะขุ่น อาจเกิดจากการติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะโดยมีสาเหตุมาจากอายุที่มากขึ้น ปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง และอาจเป็นสัญญาณของโรคเบาหวานได้ เนื่องจากมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ไตจะขับน้ำตาลส่วนเกินทิ้งทางปัสสาวะ เรียกว่า ภาวะไกลโคซูเรีย (Glycosuria) ซึ่งเชื้อโรคแบคทีเรียสามารถใช้น้ำตาลเป็นอาหาร ส่งผลให้แบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดีและเกิดการติดเชื้อขึ้น จนทำให้มีปัสสาวะขุ่น
[embed-health-tool-bmi]
โรคเบาหวาน คืออะไร
โรคเบาหวาน คือ ภาวะสุขภาพที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติอย่างเรื้อรัง เนื่องจากร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานได้อย่างเหมาะสม จึงส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้มีอาการอาการหิวบ่อย ปากแห้ง กระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อย อ่อนเพลีย เเละ น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ หากปล่อยให้ร่างกายมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นเป็นเวลานาน หรือไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย เช่น ชาตามปลายนิ้วมือและนิ้วเท้าจากเส้นประสาทเสื่อม เบาหวานลงไต ตามัว ไตวาย โรคหัวใจและหลอดเลือด
สาเหตุของปัสสาวะขุ่น
ปัสสาวะขุ่นอาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ พบบ่อยในผู้สูงอายุ เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้นผู้สูงอายุอาจมีปัญหาระบบทางเดินปัสสาวะบกพร่อง ทำให้ไม่สามารถขับปัสสาวะทิ้งออกจากร่างกายได้หมด รวมถึงระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง จึงอาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลง เช่น โรคเบาหวาน โรคไตเสื่อม โรคอ้วน โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือผู้จำเป็นต้องรับประทานยากดภูมิ ก็อาจมีความเสี่ยงในการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้เช่นกัน
ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะอาจมีอาการ ดังนี้
- ปวดท้องน้อย รู้สึกแสบหรือขัดเมื่อปัสสาวะ
- ปัสสาวะเล็ด กลั้นปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะบ่อย กะปริบกะปรอย รู้สึกปัสสาวะไม่สุด
- ปัสสาวะมีกลิ่นฉุนหรือมีเลือดปน
- ปัสสาวะขุ่น อาจมีตะกอนปน
- มีไข้
- คลื่นไส้/อาเจียน
- หากลุกลามจนเกิดกรวยไตอักเสบ อาจมีอาการปวดหลังบริเวณสีข้างร่วมด้วย
ปัสสาวะขุ่น สัญญาณเตือนของโรคเบาหวาน
ปัสสาวะขุ่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคเบาหวานได้ เนื่องจากผู้ที่เป็นโรคเบาหวานหากควบคุมไม่ดี อาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ส่งผลให้มีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายขึ้น อีกทั้งน้ำตาลส่วนเกินที่ร่างกายขับออกมาทางปัสสาวะยังเป็นแหล่งอาหารของแบคทีเรีย จึงทำให้แบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดีขึ้น และเป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ จึงมีปัสสาวะขุ่นตามมา
หากในปัสสาวะมีปริมาณน้ำตาลมากกว่า 25 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จะถือว่ามีภาวะไกลโคซูเรีย ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุหลัก ๆ คือ
- ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเกินไป ทั้งจากการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูงในช่วงระยะเวลาหนึ่ง หรือจากอินซูลินทำงานบกพร่องทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
- ภาวะโรคไตบางประเภท ที่ทำให้การดูดกลับน้ำตาลผิดปกติไป