เท้าบวม เบาหวาน คือ อาการเท้าบวมในผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งเป็นภาวะโรคแทรกซ้อนนอกเหนือจากโรคอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจาก เท้าเป็นอวัยวะสำคัญในการดำเนินชีวิต แต่ในผู้ป่วยเบาหวาน การดูแลสุขภาพเท้าจะทำได้ยากขึ้น เนื่องจาก มีปัญหาในเรื่องของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงเท้า ส่งผลให้เส้นประสาทชา และไม่รู้สึกเจ็บปวด ทำให้หลีกเลี่ยงการบาดเจ็บและอันตรายได้ยาก แต่การดูแลเท้าให้มีสุขภาพดีก็จะทำให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถใช้ชีวิตด้วยเท้าไปอย่างปกติได้
[embed-health-tool-bmi]
ปัญหาสุขภาพเท้าในผู้ป่วยโรคเบาหวาน
โรคแทรกซ้อนอย่างหน่งที่มักเกิดขึ้นกับผู้ป่วยเบาหวาน คือปัญหาสุขภาพเท้าบวมหรือเท้าเป็นแผล โดยเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยเนื่องจากผู้ป่วยโรคเบาหวานมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน จึงเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้ระบบประสาทและหลอดเลือดส่วนปลายเสื่อม ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการ ดังนี้
– ระบบประสาทรับรู้ความรู้สึกเสียหาย เมื่อเกิดอาการบาดเจ็บ ผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่จะไม่ค่อยรู้ตัว เนื่องจากระบบประสาทรับรู้ความรู้สึกถูกทำลาย อาจไม่รู้สึกร้อน หนาว หรือเจ็บปวด จึงมักเกิด แผลที่เท้า โดยไม่รู้ตัว
– ระบบประสาทสั่งการกล้ามเนื้อในเท้าเสียหาย เมื่อผู้ป่วยมีการเดินหรือลงน้ำหนักเท้าในบางตำแหน่งมากเกินไป จะทำให้หนังบรเวณเท้าด้านแข็ง รวมทั้งอาจทำให้เท้าผิดรูป หรือเท้าเขย่ง ซึ่งหมายถึงการที่เท้าส่วนหน้ายกขึ้น ทำให้เท้ามีลักษณะโค้งคล้ายท้องเรือ หรือคล้ายขาเก้าอี้โยก (rocker bottom)
– ระบบประสาทออโตโนมิกเสียหาย ส่งผลให้ผู้ป่วยผิวแห้งและรู้สึกคัน ทำให้เกาและบางครั้งจะรุนแรงเป็นแผลเรื้อรังได้ง่าย
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เท้าบวม
เท้าบวม เบาหวาน เป็นอาการแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยได้ผู้ป่วยเบาหวาน แต่ทั้งนี้มักเกี่ยวเนื่องกับปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการเป็นเบาหวานอีกด้วย ได้แก่
- โรคอ้วน
- การหมุนเวียนเลือดไม่ดี
- เส้นเลือดขอด
- มีปัญหาโรคหัวใจ
- มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับไต
- ผลข้างเคียงจากตัวยาที่ใช้ในการรักษาเบาหวาน
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดแผลที่เท้า
นอกเหนือจากอาการเท้าบวมแล้ว ผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่ยังมีโอกาสเสี่ยงในการเกิดแผลที่เท้าได้ง่าย ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุและปัจจัย ดังต่อไปนี้
- มีภาวะแทรกซ้อนที่ไตจากโรคเบาหวาน
- มีภาวะแทรกซ้อนที่ตาจากโรคเบาหวาน
- สูบบุหรี่จัด
- การลงน้ำหนักที่ผิดปกติไป จากการตัดนิ้วเท้า
- เท้าผิดรูป หรือเท้าเขย่ง
- มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง
- เพศชายผู้สูงอายุ มีโอกาสเสี่ยงต่ออาการเท้าบวมหรือแผลที่เท้ามากกว่าในเพศหญิง
วิธีแก้ปัญหาเท้าบวมในผู้ป่วยเบาหวาน
ปัญหาเท้าบวมในผู้ป่วยเบาหวาน อาจบรรเทาได้ด้วยวิธีการเบื้องต้น ดังนี้
- ใส่ถุงเท้าหรือถุงน่องรักษาเส้นเลือดขอด
- เวลานอนควรยกเท้าให้อยู่สูงกว่าระดับหน้าอกเพื่อเพิ่มการไหลเวียนให้ดีขึ้น
- หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพยายามเคลื่อนไหวร่างกาย
- พยายามลดน้ำหนักส่วนเกิน
- ดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน
- ลดปริมาณอาหารเค็ม และมีส่วนประกอบของเกลือ
- นวดน้ำมัน หรือแช่เท้าในน้ำผสมดีเกลือฝรั่ง
เคล็ดลับดูแลสุขภาพเท้าในผู้ป่วยโรคเบาหวาน
การดูแลสุขภาพเท้าเป็นสิ่งสำคัญที่ป่วยโรคเบาหวานต้องใส่ใจเป็นพิเศษ หมั่นสังเกตลักษณะของเท้าทุกวัน หากมีอาการผิดปกติจะได้รีบรักษาทันท่วงทีก่อนที่อาการจะแย่ลง นอกจากนั้นแล้วยังมีเคล็ดลับการดูแลเท้าซึ่งปฏิบัติง่าย ๆ ดังต่อไปนี้
- รักษาสุขอนามัย ล้างเท้าเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอทุกวัน และทาโลชั่นทุกวันทันทีหลังทำความสะอาดเท้าแล้ว
- การดูแลเล็บ อย่าปล่อยให้เล็บยาว และตัดเล็บอย่างระมัดระวัง ไม่ให้เล็บสั้นเกินไป
- เลือกสวมใส่รองเท้าที่เหมาะสมกับรูปร่างเท้าตนเอง ไม่คับ หรือหลวมเกินไป
- สวมถุงเท้า เพื่อลดการเสียดสี และคงความชุ่มชื้นของเท้า