เบาหวาน เท้าดํา เป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นเมื่อควบคุมเบาหวานได้ไม่ดีเป็นระยะเวลานาน ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงมากเกินไปจะส่งผลให้หลอดเลือดแดงส่วนปลายและเส้นประสาทส่วนปลายถูกทำลาย ผิวหนังที่เท้าจึงมีสีซีดหรือคล้ำลงเนื่องจากขาดเลือด ทั้งนี้ ผู้ป่วยเบาหวานสามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนนี้ได้ด้วยการดูแลสุขภาพเท้าอย่างถูกวิธี ไปพบคุณหมอตามนัด และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์เป้าหมายอยู่เสมอ หากพบว่าเท้าดำหรือคล้ำลง หรือมีแผลที่หายช้าผิดปกติ ควรไปพบคุณหมอเพื่อตรวจและรับการรักษาให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้แผลลุกลามไปยังบริเวณข้างเคียง
เบาหวาน เท้าดํา เกิดจากอะไร
หากผู้ป่วยโรคเบาหวานควบคุมเบาหวานได้ไม่ดี จะทำให้เป็นแผลได้ง่ายและแผลหายช้ากว่าปกติ เนื่องจากการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังจะทำให้เส้นประสาทและหลอดเลือดเสื่อมลง ทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่ดี รวมถึงมีอาการชา ปวด เสียวแปล๊บคล้ายไฟช็อต ไปจนถึงสูญเสียประสาทการรับความรู้สึกที่เท้า (Diabetic neuropathy) ปัญหาสุขภาพเท้าเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวานเรื้อรัง
เมื่อมีอาการเท้าชาจะทำให้การรับความรู้สึกลดลง จึงอาจไม่ทันรู้ตัวเมื่อเท้าเป็นแผล มีตุ่มพุพอง หรือเป็นตาปลา ทำให้เสี่ยงติดเชื้อแทรกซ้อนง่ายขึ้น และการที่หลอดเลือดเสื่อมลง จะทำให้เลือดไหลเวียนไปยังบาดแผลและบริเวณใกล้เคียงได้ไม่ดี จึงอาจส่งผลให้เนื้อเยื่อบริเวณที่ติดเชื้อค่อย ๆ เสื่อมสภาพ และเปลี่ยนเป็นสีซีดหรือสีคล้ำลง หากปล่อยทิ้งไว้หรือรักษาไม่ถูกวิธี แผลอาจลุกลามจนต้องตัดเท้าหรือเนื้อเยื่อส่วนที่เสียหายออกไป เพื่อรักษาเนื้อเยื่อข้างเคียงที่ยังไม่ติดเชื้อเอาไว้
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอาการ เบาหวาน เท้าดํา มีดังนี้
- ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์เป้าหมายไม่ได้
- เป็นโรคเบาหวานมานาน และควบคุมเบาหวานได้ไม่ดีเป็นประจำ
- มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน
- สูบบุหรี่
- มีภาวะความดันโลหิตสูง
- มีภาวะไขมันในเลือดสูง (คอเลสเตอรอลสูง)
อาการ เบาหวาน เท้าดํา
อาการเท้าดำอาจพบร่วมกับอาการแสดงอื่น ๆ ดังนี้
- ผิวหนังบริเวณเท้าบวมแดง รู้สึกเจ็บ จับแล้วรู้สึกอุ่น เป็นสัญญาณของการติดเชื้อ
- มีการติดเชื้อที่เท้าและเท้าเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ อาจเป็นสัญญาณว่าเนื้อเยื่อขาดเลือดจนเกิดเนื้อตาย
วิธีรักษาอาการเท้าดำของผู้ป่วยเบาหวาน
การรักษาปัญหาสุขภาพเท้าในผู้ป่วยเบาหวานจะแตกต่างกันไปตามความรุนแรงของอาการที่พบ วิธีรักษาโดยทั่วไปอาจมีดังนี้
การดูแลรักษาเบื้องต้นด้วยตนเอง
- ล้างทำความสะอาดแผล และรักษาแผลและบริเวณโดยรอบให้สะอาด เพื่อป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อน
- รับประทานยาฆ่าเชื้อตามที่คุณหมอสั่งอย่างเคร่งครัด เพราะหากรับประทานยาไม่สม่ำเสมออาจเสี่ยงทำให้เชื้อดื้อยาได้
- หากเป็นหูดหรือตาปลา ควรไปพบคุณหมอเพื่อกำจัดหูดหรือตาปลาออกอย่างถูกวิธี
- ควบคุมโรคเบาหวานให้ดี เพราะยิ่งมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ก็จะยิ่งทำให้แผลหายช้าลงและเสี่ยงติดเชื้อง่ายขึ้น
การรักษาด้วยการผ่าตัด
หากรักษาด้วยยาและวิธีการดูแลตัวเองเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดดังตัวอย่างต่อไปนี้ ซึ่งคุณหมอจะพิจารณาตามข้อบ่งชี้
- การผ่าเอาเนื้อเยื่อที่ตายหรือส่วนที่ติดเชื้อรุนแรงออกจากบาดแผล
- การผ่าตัดเล็บขบ
- การผ่าตัดเนื้อเยื่อหรืออวัยวะส่วนที่ตายและขาดเลือด ซึ่งอาจจำเป็นต้องตัดนิ้วเท้า เท้า หรือขาออก เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ อาจทำให้การติดเชื้อหรือการขาดเลือดลุกลามสู่บริเวณข้างเคียง
- การผ่าตัดกระดูกเพื่อปรับรูปเท้าให้กลับมาเป็นปกติ
- การผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดแดง ในกรณีที่มีเส้นเลือดตีบตัน เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ตามปกติ
- การผ่าตัดขยายหลอดเลือดที่ตีบตัน เพื่อช่วยให้เลือดกลับมาไหลเวียนได้อีกครั้ง
วิธีการดูแลเท้าที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
การดูแลเท้าในเบื้องต้นอย่างถูกวิธีสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดบาดแผล ซึ่งอาจนำไปสู่การติดเชื้อเรื้อรัง จนต้องตัดขา สามารถทำได้ดังนี้
- หมั่นสังเกตและตรวจสุขภาพเท้าเป็นประจำทุกวัน เพื่อหาบาดแผล อาการบวม หรือความเปลี่ยนแปลงของสีผิวบริเวณเท้าและเล็บเท้า
- รักษาความสะอาดเท้าอยู่เสมอ โดยการล้างเท้าด้วยน้ำสะอาดแล้วเช็ดให้แห้งทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้อับชื้น จากนั้นทาโลชั่นเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง หลีกเลี่ยงการทาโลชั่นระหว่างซอกนิ้ว เพราะอาจทำให้อับชื้นและเสี่ยงติดเชื้อได้
- หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่า และควรสวมถุงเท้า รองเท้าที่หุ้มปลายเท้า หรือสลิปเปอร์ ทั้งภายนอกและภายในบ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแผลที่เท้าจากการกระแทกเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยไม่ทันระวัง
- สวมรองเท้าที่พอดีกับขนาดเท้า แนะนำให้เลือกรองเท้าแบบหุ้มส้นที่ช่วยให้เท้าไม่เลื่อนหลุด และควรเป็นรองเท้าที่ไม่เปิดส่วนปลายเท้า นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าหน้าแคบหรือหัวแหลมเพราะอาจบีบรัดและเสียดสีเท้าจนทำให้เกิดแผล หากเป็นไปได้ควรสวมถุงเท้าด้วยเสมอ
- ตัดเล็บเท้าเป็นแนวตรง และตะไบเล็บเพื่อลบคม ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่ขอบเล็บจะฝังเข้าไปในเนื้อด้านข้างเล็บ จนเกิดแผลเล็บขบได้
- หากมีตาปลาหรือหูดที่เท้า ควรไปพบคุณหมอเพื่อรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการตัด ดึง หรือซื้อยามาทาเอง เนื่องจากอาจทำให้เกิดแผลขนาดใหญ่และลึกขึ้น
- ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเท้าเบาหวานประจำปี โดยเฉพาะผู้ที่เริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับเส้นประสาทเสื่อมหรือปัญหาแผลที่เท้าหายช้า โดยคุณหมอจะตรวจสุขภาพเท้าโดยรวม และตรวจระบบเส้นประสาท รวมทั้งความยืดหยุ่นของหลอดเลือดด้วย
เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ
หากผู้ป่วยสังเกตเห็นว่าเท้าเริ่มเปลี่ยนสีหรือคล้ำลง หรือมีอาการต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอโดยเร็วที่สุดเพื่อรับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้อาการลุกลามไปยังบริเวณข้างเคียง
- มีแผล ตุ่มพุพอง ฝี การติดเชื้อ เล็บขบ ที่บริเวณเท้า
- บาดแผลไม่หายหลังจากทำแผลเองเบื้องต้นแล้ว 2-3 วัน
- มีอาการปวดขามากผิดปกติ หรือขาชา เวลาออกกำลังกาย เดิน หรือขึ้นบันได
- รู้สึกเสียวคล้ายไฟช็อต แสบร้อน หรือปวดที่เท้า
- เท้าชา หรือ รับรู้สึกได้ลดลง
- เท้ามีรูปร่างเปลี่ยนไปจากเดิม
- ขนที่นิ้วเท้าหรือเท้าขาร่วงและขึ้นใหม่น้อยลง
- ผิวหนังบริเวณเท้าแตกเป็นแผล
- เท้ามีสีและอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงไป
- เล็บเท้าหนาขึ้นและเปลี่ยนเป็นสีเหลือง จนตัดเล็บเองลำบาก
- ติดเชื้อรา
[embed-health-tool-bmi]