backup og meta

เกณฑ์ เบาหวาน มีอะไรบ้าง มีวิธีตรวจวัดอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 10/02/2023

    เกณฑ์ เบาหวาน มีอะไรบ้าง มีวิธีตรวจวัดอย่างไร

    เกณฑ์ เบาหวาน เป็นเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาว่า กำลังเข้าข่ายเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ ซึ่งเป็นการตรวจวัดจากระดับน้ำตาลในเลือด โดยคนทั่วไปหากทำการตรวจระดับน้ำตาลหลังอดอาหารมาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง จะมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แต่ผู้ที่เข้าข่ายเป็นเบาหวาน จะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงตั้งเเต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป ทั้งนี้ ผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน อาทิเช่น ผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี ผู้ที่มีดัชนีมวลกาย (BMI) สูงกว่า 25 กิโลกรัม/ตารางเมตร ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน รวมไปถึงผู้ที่เคยได้รับการตรวจเเล้วพบว่ามีภาวะก่อนเบาหวาน

    เบาหวาน คือโรคอะไร

    เบาหวาน เป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่งซึ่งผู้ป่วยจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง เนื่องจากตับอ่อนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ได้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย หรือเซลล์ในร่างกายมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้ตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลินบกพร่อง ส่งผลให้มีระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูง ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้เรื้อรัง อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ภาวะเบาหวานขึ้นตา ปลายประสาทเสื่อม

    ส่วนภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ นั้นเกิดจาก เมื่อตั้งครรภ์ รกหลั่งฮอร์โมนฮิวแมนพลาเซนต้าแลกโตรเจน (Human Placental Lactogen หรือ HPL) ออกมา ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินได้มากขึ้น ทำให้เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินบกพร่องไป จนทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงได้

    เกณฑ์ เบาหวาน มีอะไรบ้าง

    เกณฑ์ที่ใช้พิจารณาว่าเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ คือ ค่าระดับน้ำตาลในเลือด โดยสมาคมโรคเบาหวานแห่งสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดเกณฑ์ระดับน้ำตาลในเลือดแและวิธีการตรวจต่าง ๆ ดังนี้

    การตรวจน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร

    การตรวจน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (Fasting Blood Sugar Test) เป็นการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดโดยการเจาะจากหลอดเลือด หลังงดอาหารและเครืองดื่มที่ให้พลังงาน มาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง จึงมักทำการตรวจก่อนรับประทานอาหารในช่วงเช้า

    หากระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร มีค่าตั้งเเต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึนไป จะเข้าเกณฑ์ของเบาหวาน หากระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ระหว่าง 100-125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หมายถึง กำลังมีภาวะก่อนเบาหวานหรือเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน และหากค่าระดับน้ำตาลไม่เกิน 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หมายถึง สุขภาพปกติ

    การตรวจน้ำตาลสะสม ( Hba1c )

    การตรวจน้ำตาลสะสม HbA1c ย่อมาจาก ฮีโมโกลบิน เอ วัน ซี (Hemoglobin A1C) เป็นการตรวจเลือดเพื่อให้ทราบค่าน้ำตาลโดยรวม เฉลี่ยในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา โดยอ้างอิงจากปริมาณน้ำตาลกลูโคสในโปรตีนฮีโมโกลบินซึ่งเป็นส่วนประกอบหนึ่งของเม็ดเลือดแดง

    การตรวจน้ำตาลสะสม Hba1c หากค่า Hba1c สูงตั้งเเต่ 6.5 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นไป จะเข้าเกณฑ์วินิจฉัยหนึ่งของเบาหวาน

    ส่วนในผู้ที่มีสูขภาพดี ไม่เป็นเบาหวาน ค่า Hba1c จะไม่เกิน 5.6 เปอร์เซ็นต์ เเละ หากค่า Hba1c อยู่ระหว่าง 5.7-6.4 เปอร์เซ็นต์ จะถือว่ากำลังมีภาวะก่อนเบาหวาน หรือมีความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานได้

    การตรวจน้ำตาลในเลือดแบบสุ่ม

    การตรวจน้ำตาลในเลือดแบบสุ่ม (Random Blood Sugar Test) คือการเจาะเลือดเพื่อตรวจระดับน้ำตาลในช่วงเวลาใดก็ได้ โดยไม่ต้องงดอาหารมาก่อน และหากพบค่าน้ำตาลในเลือดสูงตั้งเเต่ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป ร่วมกับมีอาการที่เป็นสัญญานของโรคเบาหวาน เช่น กระหายน้ำบ่อย ความอยากอาหารเพิ่ม หิวบ่อย ปัสสาวะบ่อย ก็จะนับว่าเข้าเกณฑ์หนึ่งของการวินิจฉัยโรคเบาหวาน

    การตรวจความทนทานต่อน้ำตาล

    การตรวจความทนทานต่อน้ำตาล (Oral Glucose Tolerance Test) คือการตรวจความสามารถของร่างกายในการจัดการกับน้ำตาล ซึ่งมีขั้นตอนการตรวจคร่าว ๆ คือ ผู้เข้ารับการตรวจต้องงดอาหารและเครื่องดื่มที่ให้พลังงานมาเป็นเวลา 8-14 ชั่วโมง หลังจากนั้น จะทำการเจาะเลือดเพื่อตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร เเล้วจะให้ผู้เข้ารับการตรวจดื่มสารละลายน้ำตาลกลูโคส 75 กรัม แล้วรอเป็นระยะเวลา 2 ชั่วโมง โดยระหว่างนี้จะยังคงให้งดอาหารไว้ก่อน เมือครบเวลา 2 ชั่วโมง จะทำการเจาะเลือดเพื่อตรวจระดับน้ำตาลซ้ำอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นค่าที่บอกถึงความสามารถในการจัดการน้ำตาลของร่างกาย

    การเเปลผลการตรวจ หากระดับน้ำตาลในเลือดหลังดื่มสารละลายกลูโคส 2 ชั่วโมง มีการตั้งเเต่ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป หมายถึง เข้าเกณฑ์เป็นโรคเบาหวาน หากค่าระดับน้ำตาลอยู่ระหว่าง 140-199 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หมายถึง มีภาวะก่อนเบาหวาน ส่วนในผู้ที่มีสุขภาพปกติ จะมีระดับน้ำตาลในเลือด ไม่เกิน 139 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

    สำหรับการตรวจคัดกรอง ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ จะเป็นการตรวจความทนทานต่อน้ำตาลโดยการใช้ สารละลาย กลูโคส 50 กรัม เเทนในเบื้องต้น ซึ่งจะมีขั้นตอนการตรวจ เเละ วิธีการแปลผล ต่างไปจากบุคคลทั่วไป ซึ่งจะไม่ขอลงรายละเอียดในครั้งนี้

    กลุ่มเสี่ยงที่ควรเข้ารับการตรวจ เบาหวาน

    ผู้ที่อาจเข้าเกณฑ์ เบาหวาน และควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน ได้แก่ กลุ่มเสี่ยง ดังต่อไปนี้

    1. ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 25กิโลกรัม/ตารางเมตร
    2. ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน
    3. ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจเเละหลอดเลือด โรคถุงน้ำในรังไข่
    4. ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน
    5. ผู้ที่มีพฤติกรรมเนือยนิ่ง ไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย
    6. ผู้ที่เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือ เคยคลอดบุตรที่น้ำหนักตัวมากกว่า 4 กิโลกรัม
    7. ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป
    8. ผู้ที่เคยตรวจพบว่ามีภาวะก่อนเบาหวาน
    9. มีอาการที่อาจเป็นสัญญาณโรคเบาหวาน เช่น กระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย น้ำหนักลดกะทันหันและไม่ทราบสาเหตุ ตาพร่ามัว เป็นแผลแล้วแผลหายช้า

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 10/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา