backup og meta

เครื่องดื่มสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน มีอะไรบ้าง

เครื่องดื่มสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน มีอะไรบ้าง

เครื่องดื่มสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ควรเป็นเครื่องดื่มที่ไม่มีน้ำตาลเป็นส่วนผสม หรือมีน้ำตาลผสมอยู่ในปริมาณน้อยมาก ๆ เช่น น้ำเปล่า ชา กาแฟที่ไม่ใส่น้ำตาล เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานนั้นมีระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงอยู่แล้ว หากบริโภคเครื่องดื่มหรืออาหารที่มีส่วนประกอบของน้ำตาล ระดับน้ำตาลในเลือดก็จะยิ่งสูงขึ้น นับเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น โรคไต โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะเบาหวานขึ้นตา และยังควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงอย่างน้ำอัดลม เพื่อช่วยในการควบคุมโรคเบาหวานให้อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย

[embed-health-tool-bmi]

รคเบาหวาน คืออะไร

เบาหวาน คือ ภาวะที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ หรือตั้งแต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป โดยเกิดจากการที่ตับอ่อนผลิตอินซูลินได้ลดลงไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย หรือร่างกายมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งคือการที่เซลล์ตอบสนองต่ออินซูลินได้ไม่ดีนัก ทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดบกพร่องไป

ทั้งนี้ หากผู้ป่วยเบาหวานปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานานอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเบาหวานต้องเผชิญกับภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น โรคไต โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะเบาหวานขึ้นตา อาการปลายประสาทเสื่อม และเพื่อป้องกันมิให้เกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าว ผู้ป่วยเบาหวานจึงควรดูแลตัวเองและปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอ และหนึ่งในวิธีดูแลตนเองนั้น คือควรเลือกดื่มเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ไม่มีน้ำตาลหรือมีน้ำตาลน้อย

เครื่องดื่มสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน มีอะไรบ้าง

สมาคมโรคเบาหวานทั่วโลกแนะนำว่า เครื่องดื่มสำหรับผู้ป่วยเบาหวานควรเป็นเครื่องดื่มที่มีแคลอรี่ต่ำหรือไม่มีเเคลอรี่ เพื่อป้องกันระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น

เครื่องดื่มที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน อาทิเช่น

  • น้ำเปล่า เป็นเครื่องดื่มที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวานมากที่สุด เพราะปราศจากน้ำตาล จึงไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น นอกจากนั้น การดื่มน้ำเปล่ายังช่วยบรรเทาอาการคอแห้ง กระหายน้ำ ซึ่งเป็นหนึ่งของโรคเบาหวานที่คุมได้ไม่ดีเพราะไตจะขับน้ำตาลส่วนเกินทิ้งทางปัววาสะ ทำให้เป็นการสูญเสียน้ำออกจากร่างกาย โดยทั่วไปแนะนำว่าควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 เเก้ว หรือ ประมาณ 2 ลิตร เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพ
  • กาแฟดำ ไม่ใส่น้ำตาล เป็นเครื่องดื่มที่ผู้ป่วยเบาหวานสามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย เนื่องจากไม่มีน้ำตาลผสม อีกทั้งกาเเฟยังมีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการทำงานของน้ำตาลกลูโคส-6-ฟอสเฟต (Glucose 6-phosphate) ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาล มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณกาแฟและชาที่บริโภค กับความเสี่ยงโรคเบาหวานตีพิมพ์ในวารสาร Diabetologia ปี พ.ศ. 2557 โดยทีมผู้วิจัยได้ติดตามและเก็บข้อมูลจากผู้ดื่มกาแฟจำนวน 123,733 ราย ตลอดระยะเวลาประมาณ 20 ปี พบว่า ผู้ที่ดื่มกาแฟเพิ่มขึ้น 1 แก้วต่อวัน ในช่วงระยะเวลามากกว่า 4 ปี มีแนวโน้มเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน น้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เพิ่มปริมาณกาแฟประมาณ 11 เปอร์เซ็นต์
  • ชา การบริโภคชา อาจช่วยบรรเทาหรือป้องกันเบาหวานได้ เนื่องจากมีการศึกษาว่า ชาอาจมีสรรพคุณในการบำรุงรักษาเบตา เซลล์ (β-cells) ในตับอ่อน ซึ่งมีหน้าที่ผลิตอินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดรวมทั้งยังช่วยส่งเสริมการทำงานของอินซูลิน ลดภาวะดื้ออินซูลิน และต้านอนุมูลอิสระ แต่อย่างไรก็ตามยังต้องการการศึกษายืนยันเพิ่มเติมในอนาคต
  • นม เป็นเครื่องดื่มสำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่สามารถบริโภคได้ เนื่องจากอุดมไปด้วยโปรตีน เเละมีสัดส่วนของน้ำตาลไม่สูงโดยควรเลือกนมรสจืด นมพร่องมันเนย นมไขมันต่ำ หรือนมจากพืช เช่น นมอัลมอนด์ นมถั่วเหลือง นมข้าวโอ๊ต เพราะหากเป็นนมรสหวานหรือปรุงเเต่งรส จะมีการใส่น้ำตาลเพิ่มเติม ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น และควบคุมเบาหวานได้ยากขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ หากผู้ป่วยมีภาวะไขมันในเลือดสูงร่วมด้วย เเนะนำให้เลือกรับประทานนมชนิดพร่องมันเนยเพื่อลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เกิดจากการสะสมหรืออุดตันของไขมันในหลอดเลือด
  • น้ำผัก มีน้ำตาลน้อยและมีใยอาหาร และ อุดมไปด้วยแร่ธาตุ/วิตามินที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เเต่อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการเติม/ผสม น้ำตาล น้ำผึ้ง หรือ น้ำผลไม้สำเร็จรูปร่วมด้วย

เครื่องดื่มที่ผู้ป่วยเบาหวานควรหลีกเลี่ยง

เครื่องดื่มที่ผู้ป่วยเบาหวานควรหลีกเลี่ยง คือ เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ เพราะจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นเมื่อบริโภคเข้าสู่ร่างกาย ทั้งนี้ เครื่องดื่มที่ผู้ป่วยเบาหวานควรหลีกเลี่ยง ได้แก่

  • น้ำอัดลม
  • น้ำผลไม้
  • นมเปรี้ยว นมปรุงแต่งรส
  • เครื่องดื่มที่เติมน้ำตาล น้ำเชื่อม นมข้น หรือน้ำผึ้ง เช่น ชานมไข่มุก ชามะนาว กาแฟเย็น
  • เครื่องดื่มชูกำลัง รวมทั้งเครื่องดื่มเกลือเเร่
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์ ค็อกเทล โชจู

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What to Know About Diabetes and Milk. https://www.webmd.com/diabetes/what-to-know-about-diabetes-and-milk. Accessed August 11, 2022

What You Can Drink, Besides Water, When You Have Diabetes. https://www.webmd.com/diabetes/ss/slideshow-diabetes-friendly-drinks. Accessed August 11, 2022

Diabetes and Alcohol. https://www.webmd.com/diabetes/drinking-alcohol#:~:text=While%20moderate%20amounts%20of%20alcohol,and%20may%20raise%20blood%20sugar. Accessed August 11, 2022

Changes in coffee intake and subsequent risk of type 2 diabetes: three large cohorts of US men and women. https://link.springer.com/article/10.1007/s00125-014-3235-7. Accessed August 11, 2022

Alcohol & Diabetes. https://diabetes.org/healthy-living/medication-treatments/alcohol-diabetes. Accessed August 11, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

09/04/2023

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

เกณฑ์ เบาหวาน มีอะไรบ้าง มีวิธีตรวจวัดอย่างไร

โรคเบาหวาน การรักษา ทำได้อย่างไรบ้าง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 09/04/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา