การนับอายุครรภ์และวิธีคำนวณอายุครรภ์ เป็นสิ่งที่มักเข้าใจกันผิด สับสนว่าจะคำนวณอายุครรภ์จากวันที่มีเพศสัมพันธ์หรือไม่ และต้องนับอายุครรภ์อย่างไรให้แม่นยำ เพื่อประโยชน์ของแม่ตั้งครรภ์และลูกในท้อง
[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]
นับอายุครรภ์ มีประโยชน์อย่างไร
อายุครรภ์ตั้งแต่วันแรกของการตั้งครรภ์จวบจนถึงวันคลอดเป็นสิ่งที่แม่ควรใส่ใจ การคำนวณอายุครรภ์อย่างแม่นยำ มีข้อดีที่เป็นประโยชน์ต่อตัวแม่และทารกในครรภ์ ดังนี้
- การนับอายุครรภ์ ช่วยให้ทราบขนาดของลูกในท้องแต่ละไตรมาส ตลอดจนพัฒนาการของทารกในครรภ์และความสมบูรณ์ของทารก แม่จะได้ดูแลทารกอย่างเหมาะสม
- การนับอายุครรภ์ ช่วยให้แพทย์วางแผนการตรวจครรภ์ แม่จะทราบถึงข้อควรระวังในแต่ละไตรมาส โดยเฉพาะภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ ที่แตกต่างกันไปในแต่ละไตรมาส
- การนับอายุครรภ์ ช่วยให้แพทย์คาดการณ์วันกำหนดคลอดได้
วันแรกที่เริ่ม นับอายุครรภ์ คือวันไหน
การนับอายุครรภ์ เพื่อให้ทราบว่า ตั้งครรภ์มาแล้วกี่สัปดาห์หรือกี่เดือน อาจเข้าใจได้ว่า นับอายุครรภ์ตั้งแต่วันที่มีเพศสัมพันธ์หรือวันที่ปฏิสนธิ แต่จริง ๆ แล้ว แพทย์จะยึดเอาวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งล่าสุดมาคำนวณอายุครรภ์ การจดวันที่มีประจำเดือนทุก ๆ เดือนจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้แพทย์นำประจำเดือนครั้งสุดท้าย มาคำนวณอายุครรภ์ได้อย่างถูกต้อง
ทั้งนี้ หากสงสัยว่ากำลังตั้งครรภ์ ให้ใช้อุปกรณ์ตรวจครรภ์หรือชุดตรวจครรภ์ตรวจการตั้งครรภ์ เมื่อทราบว่า กำลังตั้งครรภ์ควรรีบฝากครรภ์ก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์
วิธีคำนวณอายุครรภ์ นับเป็นเดือนหรือเป็นสัปดาห์
อายุครรภ์ปกติจะอยู่ประมาณ 280 วัน หรือ 40 สัปดาห์ โดยแพทย์จะนับอายุครรภ์เป็นสัปดาห์ และแยกอายุครรภ์ตามไตรมาส ประกอบด้วย
- ตั้งครรภ์ไตรมาสแรก สัปดาห์ที่ 1-14
- ตั้งครรภ์ไตรมาสสอง สัปดาห์ที่ 15-27
- ตั้งครรภ์ไตรมาสสามหรือไตรมาสสุดท้าย สัปดาห์ที่ 28-40
การดูแลตัวเองให้เหมาะสมในแต่ละไตรมาส
เมื่อทราบแล้วว่า ตั้งครรภ์สัปดาห์ที่เท่าไหร่ ไตรมาสไหน แม่ควรระมัดระวังและดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม รวมถึงเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เหมาะกับไตรมาสนั้น เพื่อให้ดีต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ เช่น
-
อายุครรภ์ไตรมาสแรก
การตั้งครรภ์ไตรมาสแรก ร่างกายของแม่จะค่อย ๆ มีความเปลี่ยนแปลง อาจพบอาการท้องผูกได้ จึงควรเลือกรับประทานผักผลไม้ที่มีกากใยสูง ดื่มน้ำให้มาก ส่วนอาการแพ้ท้องที่เกิดขึ้น ให้หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ท้อง ลดขนาดของมื้ออาหารลง เน้นการรับประทานจำนวนน้อย แต่บ่อยครั้ง หากน้ำหนักลดลงในช่วงไตรมาสแรกยังไม่ต้องกังวล เพียงเลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นความหลากหลาย หลีกเลี่ยงอาหารรสจัดและอาหารที่มีเครื่องเทศมาก รับประทานยาหรือวิตามินบำรุงตามที่แพทย์แนะนำ เช่น วิตามินบี 9 หรือโฟลิค ช่วยลดโอกาสที่ทารกในครรภ์จะมีความผิดปกติของระบบประสาท อย่างไรก็ตาม หากมีอาการปวดท้อง เลือดออกผิดปกติ ควรรีบพบคุณหมอ
-
อายุครรภ์ไตรมาสสอง
อาหารในช่วงไตรมาสนี้ ร่างกายของแม่จะต้องการพลังงานและโปรตีน เน้นอาหารที่มีคุณภาพอย่างหลากหลาย จำพวกโปรตีน และแร่ธาตุที่สำคัญ ได้แก่ โฟเลต ธาตุเหล็ก สังกะสี ไอโอดีน และโพแทสเซียม เพราะเป็นระยะที่ทารกกำลังสร้างเนื้อเยื่อ อวัยวะต่าง ๆ รวมทั้งโครงสร้างของร่างกาย โดยเฉพาะพัฒนาการทางสมองและระบบประสาท ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันมาก ขนมหวานและเครื่องดื่มที่มีรสหวาน ช่วงนี้มดลูกเริ่มขยายเพื่อรองรับการเติบโตของทารกในครรภ์ แม่อาจรู้สึกปวดหน่วง โดยยาบำรุงครรภ์ที่สำคัญ คือ ยาบำรุงเลือด ที่จำเป็นต่อการเพิ่มปริมาณเลือดของแม่ การสร้างรก และการเจริญเติบโตของลูก รวมถึงแคลเซียม ที่จำเป็นต่อการสร้างกระดูก ในช่วงไตรมาสนี้ แม่จะเริ่มรู้สึกได้ว่าลูกเริ่มขยับตัว อย่างไรก็ตาม หากมีอาการท้องแข็งทุก 10 นาที เลือดออกผิดปกติ หรือน้ำเดิน ควรรีบพบคุณหมอ
-
อายุครรภ์ไตรมาสสาม
แม่ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างต่อเนื่อง แต่ต้องควบคุมน้ำหนักระหว่างตั้งครรภ์ให้เพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ 0.5 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ ช่วง 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ร่างกายของแม่ต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นประมาณ 300 กิโลแคลอรีต่อวัน แม่จะมีอาการปวดเมื่อยบริเวณเอวหรือท้องน้อย ควรปรับเปลี่ยนท่าทาง ไม่ควรนั่ง นอน หรือยืนนาน ๆ สำหรับสุขภาพของทารก ในช่วงนี้จะดิ้นมากขึ้น แม่จึงต้องเรียนรู้การนับลูกดิ้น โดยจำนวนครั้งที่ลูกดิ้นแต่ละวันควรดิ้นอย่างน้อย 10 ครั้ง เพื่อป้องกันปัญหาทารกเสียชีวิตในครรภ์ ซึ่งสามารถนับลูกดิ้นได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 28 สัปดาห์ไปจนวันคลอด อย่างไรก็ตาม หากนับลูกดิ้นได้น้อยกว่า 10 ครั้งต่อวัน แม่มีอาการท้องแข็งถี่ทุก 10 นาที เลือดออกจากช่องคลอด หรือน้ำเดิน ควรรีบพบคุณหมอ